เอเอฟพี - ในเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ชนชาติทิเบตหวนนึกถึงอดีต ครุ่นคิดถึงอนาคตของพวกเขา ในวันที่ 10 มี.ค. ถือเป็นวันรำลึกการลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองจีนของชาวทิเบตบนแดนหลังคาโลก ที่ปัจจุบันเป็นเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบตของจีน การลุกฮือในครั้งนั้นเมื่อปี 2502 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวทิเบต และองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณต้องลี้ภัยไปยังอินเดีย ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตที่เมืองธรรมศาลา นอกจากนี้ เมื่อเดือนมี.ค. ปี 2551 ยังเกิดจลาจลใหญ่ในลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต ซึ่งการจลาจลดังกล่าวได้แผ่ขยายไปยังเขตชุมชนทิเบตอื่น ได้แก่ ในมณฑลเสฉวน และมณฑลชิงไห่
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนได้จัดการสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณทิเบต” นั่นก็คือ การพัฒนาพื้นที่บริเวณที่เป็นบ้านเกิดของทะไลลามะอย่างขนานใหญ่ เบื้องหลังของภูเขาอันไกลโพ้น เป็นหมู่บ้านที่ครอบครัวของทะไลลามะองค์ที่ 14 ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวทิเบตถือกำเนิดและได้อาศัยอยู่เมื่อครั้งปฐมวัย ถูกสั่งบูรณะรอบนอกตัวเรือนที่ล้อมด้วยกำแพงสูง เมตรล้อมรอบสามเมตร และติดกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยจำนวนมาก
อาคารบ้านช่องในหมู่บ้านหงไอ้ บนยอดเขาสูงละลิ่ว เป็นเพียงสถานที่ที่เหลือแห่งเดียวในแผ่นดินใหญ่ ที่มีไว้เพื่ออุทิศเป็นสรณสถานของทะไลลามะ ผู้ที่ทางการปักกิ่งกล่าวหาว่าเป็นนักลัทธิแบ่งแยกดินแดน และหมาป่าในคราบนักบวช
บ้านเกิดของทะไลลามะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ ที่รัฐบาลจีนมองเป็นหนามยอกอก ด้วยหวาดระแวงว่าชาวทิเบตจะยังคงความศรัทธาและอาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกดินแดน จึงระดมเงิน 2.5 ล้านหยวนลงไปเพื่อทำการบูรณะบ้านดังกล่าวตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความวิตกของบรรดานักสิทธิมนุษยชนตะวันตกที่มองเห็นปัญหาการย้ายถิ่นและการสร้างที่อยู่อาศัยแบบสมัยใหม่นั้น เป็นการรุกรานวัฒนธรรมทิเบตอย่างบ้าคลั่ง
ครอบงำ?
เซอริ่ง วูเซอร์ กวีทิเบตให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อพัฒนาเมืองสมัยใหม่ แต่เป็นการครอบงำจากจีนชัดๆ”
หมู่บ้านหงไอ้ หรือในภาษาทิเบตว่าตัคเซอร์ เป็นเขตวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวทิเบตนานหลายร้อยปีมาแล้ว ตั้งอยู่ทางแถบตะวันตกของมณฑลชิงไห่ ห่างออกไปจากเขตปกครองตนเองทิเบตหลายร้อยกิโลเมตร
สำหรับชาวทิเบตแล้ว การเปลี่ยนแปลงสิ่งก่อสร้างอันเป็นศาสนสถาน ถือเป็นการทำลายประเพณีดั้งเดิม ทั้งนี้บ้านเกิดขององค์ทะไลลามะเป็นบ้านชาวนา ตามความเชื่อทิเบต หลังจากที่องค์ทะไล ลามะสิ้นพระชนม์แล้ว คณะลามะชั้นสูงจะออกเดินทางแสวงหาเด็กชายที่เกิดใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นองค์ทะไล ลามะกลับชาติมาเกิด ในช่วงทศวรรษ 1930 ก็มีการแสวงหาทะไล ลามะองค์ใหม่ คณะลามะฯได้มาพบเด็กชายนามว่า “ลาโม ทอนดุป” และทำการทดสอบจนแน่ใจคือทะไล ลามะ กลับชาติมาเกิด
เด็กน้อยจากหมู่บ้านหงไอ้ ถูกนำตัวไปยังกรุงลาซา เมื่อวัยสี่ขวบ ต่อมาในปี 2493 ในวัย 15 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์ทะไลลามะ เทนซิน เกียตโซ องค์ที่ 14 เป็นประมุขทางการปกครองและทางศาสนาแห่งทิเบต ทว่า...เก้าปีต่อมาคือในปี พ.ศ. 2502 ชาวทิเบตพ่ายแพ้ในการการลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองจีน ทะไล ลามะก็ลี้ภัยออกจากทิเบต ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ภายใต้ข้อเสนอให้ลี้ภัยของรัฐบาลอินเดีย ธรรมศาลากลายเป็นเมืองอนุรักษ์วัฒนธรรมทิเบตของโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนฐานที่มั่นการต่อสู้ของชาวทิเบตในหมู่บ้านหงไอ้ มีรายงานระบุว่าถูกทำลายราบคาบโดยพวกกลุ่มสมาชิกกองกำลังพิทักษ์แดง (Red Guard) ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 2503-2513 และได้ฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ในอีกราวสิบปีต่อมา
หัวหอกในการดูแลรักษาบ้านก็คือ กนโฑ ทาสึ หลายชายของทะไลลามะ และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งก็ได้อาศัยอยู่บ้านหลังถัดจากบ้านเกิดองค์ทะไลฯ
สร้างสรรค์ ?
เจ้าหน้าที่ผู้นำเงินทุนไปปรับแปลงสภาพบ้านเกิดทะไลลามะ บอกว่าคงต้องปรับใหม่หมด อย่างไรก็ดี เขามองว่าเป็นความปรารถนาดีที่จะทำให้นักแสวงบุญรู้สึกปีติเมื่อเดินทางมาถึง เงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณการผลักดันด้านที่อยู่อาศัยท้องถิ่นของทิเบตที่ตั้งไว้สูง 1,500 ล้านหยวน
สื่อรัฐบาลจีนเผยว่า นอกเมืองออกไปในดินแดนอันกว้างใหญ่ทางตะวันตกของจีน เริ่มกลายเป็นดินแดนที่ผุดโรงงานคับคั่ง เศรษฐกิจพัฒนาเปรี้ยงปร้าง โรงงานห้างร้านต่างชาติเรียงรายสลอน
ซุน ซิวจ้ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อทางการจีนแห่งซินหวาว่า “ดินแดนอันเย็นยะเยือก ไร้การพัฒนา ตอนนี้ได้แปลงเป็นเมืองที่เจริญ เศรษฐกิจรุ่งโรจน์”
ใบไม้ร่วงเต็มพื้นถนนในหมู่บ้านอันเงียบสงบ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีเดินเลาะมาตามลำพัง พลันมีเสียงทักมาทางด้านข้าง “คุณห้ามเข้า”
“เขาห้ามฝรั่งเข้า ตำรวจเขาไม่ให้เข้า” ชายชาวบ้านบอกนักข่าว ระคนกับเสียงสุนัขที่ชาวทิเบตเลี้ยงไว้เตือนภัยเห่าไม่หยุดปาก
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ให้ผู้มาเยือนบ้านเกิดทะไลลามะเข้าสู่นิวาสสถาน แม้ทำเรื่องขออย่างเป็นทางการมาแล้วก้ตาม “เราไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระโตกกระตากไปถึงหูทะไล ลามะ” เจ้าหน้าที่ฯ บอกกับนักข่าว
คงมีเพียงสำนักข่าวซินหวา ผู้ได้เข้าไปทำข่าวรายเดียวเท่านั้น ซินหวาเคยลงข่าวว่า “แผนการปรับปรุงอาคารดังกล่าวจะยังให้มีการคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ ทว่าจะมีการปูพื้นสนามใหม่ เสริมตัวคานของบ้านให้แข็งแรงขึ้น ส่วนภาพสุสานต้องมีการระบายสีใหม่”
ประชาชนในท้องที่เผยว่า ผู้บริจาคมักจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปนมัสการภายในได้ หากมองจากด้านนอกจะเห็นธงผืนใหญ่ของผู้สวดมนต์และตัวสิ่งก่อสร้างสีทองอยู่ด้านใน ขณะนี้ติดตั้งกล้องวงจรปิดและถังขยะไฮเทคบริเวณรอบนอกสุดเรียบร้อยแล้ว
ทำลาย ?
รูดี้ คง นักเขียนชาวแคนาดา ที่อาศัยอยู่ในจีนมานานหลายปี และเคยเดินทางไปเยือนอารามบ้านเกิดของทะไลลามะในปี 2543 เขาเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนน้อยนิดที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปด้านใน เขาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการบูรณะใหม่ในครั้งนี้ว่า ตัวอาคารดูต่างไปจากเดิม มีการเติมแต่ง ตัวหลังคาก็ไม่สูงชะลูดเหมือนอย่างเก่า มันเหมือนกับการสร้างใหม่ทั้งหลัง ผมไม่เคยจำได้เลยว่า มันมีกำแพงสีอึมครึมล้อมรอบอาคารดังกล่าวมาก่อน
ชาวทิเบตกลัวการพัฒนาเมืองจะทำลายศาสนาสถานซึ่งเป็นเสาหลักวัฒนาธรรมของพวกเขา ทว่า...ผู้นำจีนบอกว่าการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่เป็นการยกมาตรฐานการใช้ชีวิตของชาวทิเบต
โซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการติดตามและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจีนในสหรัฐฯเผยเมื่อเดือนปีที่แล้วว่า จำนวนประชาชนที่ต้องถูกสั่งย้ายบ้านในชนบทนั้นมากกว่าในยุคเหมา เจ๋อตงอย่างคาดไม่ถึง
หงไอ้ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล มีประมาณ 70 ครัวเรือน ท่ามกลางแมกไม้สีเขียว เมื่อสิ้นสุดเขตที่ถนนเข้าไปถึง และปลายลำธารสายเล็ก ก็คือบริเวณเขตก่อสร้างที่ฝุ่นตลบ รถเครนกำลังตอกเสาเข็มสนั่น ตึกสูงเริ่มก่อร่างขึ้นมาแล้ว
ชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีนก็จะได้ย้ายเข้าไปในพื้นที่พัฒนา วูเซอร์เผยว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นทิเบตถูกทำลายมานานหลายปีแล้ว
วูเซอร์เผยว่า “เมื่อเดินทางไปยังตัคเซอร์ในปี 2550 มีคนบอกว่าบ้านชาวทิเบตจริง ๆ มีเพียง 40 หลังคาเรือนเท่านั้น ชาวทิเบตขณะนี้ก็ไปเลียนแบบชาวฮั่น พูดภาษาทิเบตกระท่อนกระแท่น”
บางทีปักกิ่งอาจต้องการฟื้นฟูบ้านเกิดทะไลลามะขึ้น เพื่อทำให้คณะลามะอาวุโสทิเบตเชื่อมั่นและยอมเลือกทะไลลามะองค์ต่อไปบนพื้นแผ่นดินจีน แต่ในมุมมองของผม การบูรณะเอาใจเหล่านี้ หวานปานน้ำผึ้ง “ทว่ามันอาบยาพิษ”