xs
xsm
sm
md
lg

เผาวอดอีกราย! พระทิเบตเปลวเพลิงท่วมตัว ประท้วงรัฐบาลกลางวงประชุมครั้งสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Tsering Gyal พระทิเบตวัย 22 ปี ที่ก่อเหตุเผาตัวเอง เพื่อประท้วงรัฐบาลจีน กลางเมืองกั่วลั่ว มณฑลชิงไห่ (ภาพ - ICT)
เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อชาวทิเบตในจีนเผยกรณีพระทิเบตวัยหนุ่มก่อเหตุจุดไฟเผาร่างของตนเองกลางถนนในมณฑลชิงไห่ เมื่อวันแรกของสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลุกกระแสประท้วงรัฐบาลจีน ท่ามกลางช่วงเวลาที่บรรดาผู้นำประเทศมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 9-12 พ.ย. 2556

รายงานข่าว (12 พ.ย.) อ้างการรายงานของโครงการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อชนชาติทิเบต (International Campaign for Tibet: ICT) อันมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ระบุถึงการจุดไฟเผาตัวเองของ Tsering Gyal พระทิเบตวัย 22 ปี กลางถนนสายหนึ่งในเมืองกั่วลั่ว มณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุดไปยังที่เกิดเหตุและเข้าช่วยเหลือเพื่อรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยกลุ่มฟรีทิเบต (Free Tibet) เผยว่า เขายังคงมีชีวิตรอด แม้จะถูกไฟคลอกไปทั่วร่างก็ตาม

กรณีการจุดไฟเผาร่างกายตนเองของชาวทิเบต ถือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในทิเบตและพื้นที่ใกล้เคียง โดยตั้งแต่ปี 2552 มีชาวทิเบตกว่า 120 คน ใช้เปลวเพลิงเป็นเครื่องมือประท้วงทางการจีน จนลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายใหญ่อยู่หลายครั้งหลายครา

โดยล่าสุด เมื่อต้นเดือน ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนจำต้องสาดกระสุนปืนใส่กลุ่มผู้ประท้วงในทิเบตที่มารวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายทิเบตรายหนึ่ง ซึ่งถูกจับกุมจากความผิดฐานไม่ยินยอมโบกธงชาติเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ (1 ต.ค.) ปีที่ 64 ของจีน จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บราว 60 ราย
ภาพขณะ Tsering Gyal กำลังถูกเปลวไฟแผดเผาร่างกลางถนนสายหนึ่งในเมืองกั่วลั่ว มณฑลชิงไห่ เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา โดยมีฝูงชนยืนมุงดูล้อมรอบ (ภาพ - ICT)
อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้กล่าวประณามวิธีการดังกล่าว พร้อมกับตำหนิองค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ว่าเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด โดยมีเป้าหมายให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระขึ้นมา

ขณะที่บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อชาวทิเบตชี้แจงว่า ไฟประท้วงที่ถูกจุดกระพือขึ้นนั้น เพราะชาวทิเบตต้องการต่อต้านการควบคุมอันเข้มงวดกวดขันเกินไปของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะการกดขี่ทางความคิด ความเชื่อทางศาสนาที่พวกเขาให้ความเคารพนับถือ

ทางด้านองค์ทะไล ลามะ ที่ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิดไปยังเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดียในปี 2502 หลังจากล้มเหลวในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของชาวทิเบตในจีน อธิบายว่า ชาวทิเบตต่างสิ้นหวังต่อรัฐบาลจีน จึงปรากฏการประท้วงเช่นนี้ขึ้นมา ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่มีพลังอำนาจหยุดยั้งความรู้สึกเหล่านั้นได้

“หากเราเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นมาจริง เราย่อมมีสิทธิ์สั่งห้ามได้ทันที” ทะไล ลามะ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2532 กล่าวตอบกับไฟแนนเชียล ไทมส์ต่อข้อคำถามการจุดไฟเผาตัวเองของชาวทิเบตในจีน

“มันเป็นเรื่องที่ชาวทิเบตได้ตัดสินใจกระทำ ... ต้นตอของเรื่องทั้งหมดมาจากทางการที่ไม่มีความประนีประนอมกับชาวทิเบต ดังนั้นพวกเขา (เจ้าหน้าที่จีน) เองจึงมีส่วนรับผิดชอบที่จะต้องหาหนทางหยุดความเลวร้ายนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น