• เวียดนามชนะเลิศหนังพุทธประวัติ ในเทศกาลวิสาขบูชาโลก
เวียดนาม : “คอน ดวง เกียก โง” (Con Duong Giac Ngo) หรือ “เส้นทางตรัสรู้” ภาพยนตร์โทรทัศน์ของเวียดนามได้รับรางวัลดีเด่นในงานเทศกาลภาพยนตร์พุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ภาพยนตร์จากอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้รับรางวัลอื่นๆ
ภาพยนตร์ดังกล่าวผลิตโดยวัดฮว ฟัพ กำกับการแสดงโดย คอง เฮา เป็นภาพยนตร์ชุด 4 ตอน ที่นำเสนอเรื่องราวเส้นทางการแสวงหาสัจธรรมของพระพุทธเจ้า โดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษประกอบด้วย
ทั้งนี้ มีภาพยนตร์ราว 245 เรื่อง จาก 95 ประเทศ เข้าร่วมประกวดในงานดังกล่าว อันเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดนิงบิ่งห์ ทางตอนเหนือของเวียดนาม ระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2014
(จาก VNS)
• กองสำรวจโบราณคดีอินเดียฟันธง บาตรที่พิพิธภัณฑ์คาบูล ไม่ใช่บาตรพระพุทธเจ้า
อินเดีย : เมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เปิดเผยว่า บาตรมหึมาที่ตั้งแสดงอยู่ ณ ทางเข้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบาตรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ ทีมสำรวจทางโบราณคดีแห่งอินเดีย ซึ่งได้เดินทางไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่พิพิธภัณฑ์ฯ ได้สรุปว่า บาตรมหึมาที่ทำด้วยหินแกรนิตสีเทาอมเขียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.75 เมตร สูงเกือบ 4 เมตร ขอบหนา 18 ซม. หนักราว 400 กก. และคาดว่าทำจำลองให้มีขนาดใหญ่กว่าบาตรจริงนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับพระพุทธเจ้า
เนื่องจากมีข้อความจารึกบนบาตรเป็นภาษาเปอร์เซีย ด้วยตัวอักษรอารบิค อันไม่เคยปรากฏในสมัยพุทธกาล ซึ่งใช้ภาษาบาลีและตัวอักษรพราหมีเท่านั้น อีกทั้งการเขียนด้วยตัวอักษรอารบิค เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ขณะที่สมัยพุทธกาลเกิดก่อนคริสตกาล 2-300 ปี หากมีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธองค์ ควรเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่อักษรอารบิค และคาดว่าการจารึกข้อความดังกล่าว เกิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือ 500 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2013 นายรากูวานช์ ปราสาท ซิงห์ อดีตหัวหน้าพรรคการเมือง RJD ได้เรียกร้องต่อรัฐสภาอินเดีย ให้นำบาตรดังกล่าวคืนสู่เมืองเวสาลี ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบให้ชาวเมืองก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งต่อมาพระเจ้ากนิษกะแห่งอาณาจักรกุษาณะ เข้ารุกรานอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ได้นำบาตรกลับไปยังเมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันคือเมืองเปชวาร์ในปากีสถาน) และมีการเคลื่อนย้ายไปที่เมืองกันดะฮาร์ และพิพิธภัณฑ์คาบูล จนถึงปัจจุบัน
(จาก Buddhistartnews)
• รัฐบาลศรีลังกาเตรียมฟื้นฟูวัดร้าง
ศรีลังกา : เมื่อเร็วๆนี้ กองงานพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกา แถลงเตรียมฟื้นฟูวัดร้าง เนื่องจากขาดภิกษุจำพรรษา 450 แห่งทั่วประเทศ ในการนี้ จันทรเปรม คมาค หัวหน้ากองงานฯ เปิดเผยว่า จะมีการจัดส่งภิกษุไปจำพรรษายังวัดดังกล่าว โดยกระทรวงพระพุทธศาสนาและการศาสนาจะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 400 ล้านรูปี (ราว 100 ล้านบาท)
(จาก Sundayobserver.lk)
• วัดดังสิงคโปร์เตือนชาวพุทธ อย่าเอาหมาแมวมาปล่อยวัด
สิงคโปร์ : ปัจจุบัน มีวัดหลายแห่งในสิงคโปร์ ต้องรับภาระเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของนำมาปล่อยทิ้งไว้ภายในวัด และวัดกวงมิงซาน ฝ่อกักซี ซึ่งเป็นวัดพุทธชื่อดังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่ด้วยสถานที่ของวัดไม่เหมาะดูแลสัตว์เหล่านี้ จึงต้องนำสุนัข 30 ตัวที่คนนำมาปล่อยไว้ ส่งไปยังสถานสงเคราะห์สัตว์ เพื่อรอให้ผู้ใจบุญมารับไปเลี้ยง
ดังนั้น เมื่อวันวิสาขบูชา 2014 ที่ผ่านมา วัดกวงมิงซานถือเป็นโอกาสอันดีที่จะปลูกจิตสำนึกชาวพุทธให้มีเมตตาต่อสัตว์ว่า การช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ คือหนึ่งในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งนอกเหนือจากการปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าแล้ว การปกป้องชีวิตพวกมัน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชาวพุทธสามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์หาเงินช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งจัดเป็นปีที่สอง โดยปีที่แล้ว สามารถหาเงินช่วยเหลือสัตว์ตามวัดได้ถึง 9 แห่ง
พุทธศาสนิกชนบางคนคิดว่า การนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยที่วัด เป็นการให้อิสรภาพแก่พวกมัน แต่พระวัดกวงมิงซานชี้ว่า เป็นความเข้าใจที่ผิด
พระชวน กวน กล่าวว่า “การปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธกระทำด้วยความรักและความมีเมตตา เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า ให้รอดพ้นจากความตาย ซึ่งแตกต่างจากการที่เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้ง เพราะฉะนั้นเราจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อช่วยชีวิตพวกมัน”
(จาก Channelnewsasia)
• สถาปนิกญี่ปุ่นไอเดียเก๋ ออกแบบแท่นบูชาสไตล์ใหม่
ญี่ปุ่น : บริษัทโตราฟู อาร์คิเทคส์ ซึ่งเป็นบริษัทสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ได้ออกแบบแท่นบูชา ทำด้วยไม้ ในสไตล์เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย ซึ่งสามารถนำมาจัดใหม่ให้เข้ากับความต้องการของแต่ละพิธีกรรม
โดยตามประเพณีญี่ปุ่น แท่นบูชาประกอบด้วยสิ่งของ 7 อย่าง ได้แก่ แผ่นป้ายชื่อ ถ้วยอาหาร ถ้วยน้ำชาหรือน้ำร้อน แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน และขันสำหรับเคาะตอนสวดมนต์ บริษัทฯได้ออกแบบส่วนประกอบทั้งหมดให้มีความสูงแตกต่างกัน เพื่อสามารถจัดเรียงให้ลดหลั่นกันไปอย่างสวยงาม
“แท่นบูชาสไตล์ใหม่นี้ ส่วนประกอบแต่ละชิ้นสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งวางได้ตามใจชอบ ง่ายเหมือนเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน วัสดุที่ใช้ เช่น ไม้วอลนัทและไม้บีช ให้ความรู้สึกนุ่มนวลเช่นเดียวกับแท่นบูชาสมัยโบราณ เพราะทำจากไม้เนื้อแข็ง และออกแบบให้ใช้เนื้อที่จัดวางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” บริษัทโตราฟู กล่าว
(จาก Buddhistchannel)
• ซีรีย์ละครพุทธประวัติมาแรง เรียกเรตติ้งคนดูทีวีเพิ่มขึ้น
อินเดีย : ซีรีย์ละครโทรทัศน์เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งออกอากาศตอนละ 1 ชม. กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีผู้ชมในประเทศอินเดียและแถบเอเชียใต้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
“Buddha” หรือ “พระพุทธเจ้า” คือชื่อละครชุด 52 ตอน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ นำเสนอเส้นทางชีวิตของพระพุทธองค์ ตั้งแต่ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจริญพระชันษา ออกผนวช บำเพ็ญทุกรกิริยา กระทั่งตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด ผลิตโดย บี.เค.โมดิ ประธานบริษัทสไปซ์ โกลเบิล ออกอากาศตอนแรกทางสถานีโทรทัศน์ Zee TV และ Doordarshan ในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2013
เมื่อเริ่มการถ่ายทำ มีชาวเนปาลจำนวนมากพากันต่อต้าน และโพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยในโลกออนไลน์ เนื่องจากเนื้อเรื่องระบุว่า พระพุทธเจ้าประสูติในอินเดีย ละครดังกล่าวจึงถูกห้ามฉายในเนปาล ต่อมาผู้ผลิตยินยอมแก้ไข และออกคำแถลงว่า พระพุทธเจ้าประสูติในเนปาล
หลังจากถ่ายทำไปได้ 30 ตอน ทีมผู้สร้างได้เข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต ซึ่งทรงเน้นย้ำให้สอดแทรกคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องทางสายกลาง ความมีเมตตา ลงในเนื้อหาด้วย
(จาก Buddhistdoor)
• ม.สงฆ์ศรีลังกาเปิดคอร์สสอนตำรวจเป็นครั้งแรก
ศรีลังกา : มหาวิทยาลัยสงฆ์และบาลีแห่งศรีลังกา เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการให้คำปรึกษาตามแนวพุทธศาสนาแก่ตำรวจเป็นครั้งแรก โดยจะเปิดอบรมตำรวจสายตรวจชุดแรก 154 นายจากทั่วประเทศเร็วๆนี้
หลักสูตรดังกล่าวเป็นแนวคิดของ “ศาสตราจารย์พระอิตเทมลิเย อินทรสาร นายกะ เถระ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์และบาลี และ “โคตพญา ราชปักษา” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งอบรมผู้เรียนให้มีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและทมิฬ
(จาก Sundayobserver.lk)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย เภตรา)