xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : อย่ามีอคติในชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"...อคตินี้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนเราทำความผิดหรือผิดพลาดได้ง่าย เพราะว่าอคตินี้ เป็นการไปไม่ถูก ตามศัพท์ก็เป็นที่ไปที่ไม่ถูก หมายความว่าเวลาเราเจออะไร ฟังอะไร ไปตามเหตุการณ์นั้นทันที โดยไม่พิจารณา ถ้าหากว่าพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่ามันเป็นทางที่ควรไป หรือไม่ควรไป

คำว่า "ไป" นี้ ก็ไม่ใช่ว่าเดินไป แต่หมายถึงเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ไม่ถูก อคตินั้น ก็มาจากหลายอย่าง มาจากกิเลสต่างๆ ที่มีคือความโลภ ความโกรธ หรือความไม่รู้ หรือบางทีก็เพราะว่ากลัว..."


พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙

เมื่อพิเคราะห์พระราชดำรัสที่อัญเชิญมานี้ จักพบว่า สิ่งที่ทำให้คนเราทำความผิดหรือมีความผิดพลาดได้ง่ายคืออคติ กล่าวคือ การเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ไม่ถูก อันเกิดมาจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความไม่รู้ และ ความกลัว นี่แสดงให้เห็นว่า อคติเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จที่ปรารถนา

อคติ แปลว่า ไม่ตรง ไม่ตรงทิศ ไม่ตรงทาง และไม่ตรงธรรม เทียบเคียงกับภาษาอังกฤษคือ Bias ภาษาไทย แปลว่า “ลำเอียง” อคติ คือ สัญชาตญาณที่ถูกโน้มน้าวไปโดยไร้ความเที่ยงธรรม และความเอนเอียงแห่งอารมณ์ที่ผุดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และช่องว่างในสังคม

ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดอคติ มี ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักใคร่ชอบพอ (ฉันทาคติ) ๒. ความโกรธ เกลียดชัง (โทสาคติ) ๓. ความหลง เขลา เบาปัญญา (โมหาคติ) ๔. ความเกรงกลัว ขลาด (ภยาคติ) อคติจึงเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดในกระบวนการคิด และตัดสินใจของมนุษย์ทุกคน

เมื่อมาพิจารณาในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม อคติจะนำให้เราติดอยู่ในเหตุการณ์ประทับใจที่ติดแน่นอยู่ในความทรงจำ คิดอยู่เสมอว่าฉันเคยทำสำเร็จมาแล้ว ฉันก็ต้องทำได้สำเร็จอีก (ฉันทาคติ) นี่ก็จะส่งผลให้เกิดการละเลยข้อมูลที่ควรแก่การทำงานในขณะนั้น เพราะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก (โมหาคติ) เมื่อมีการทำงานร่วมกันก็จะยึดมั่นในความคิดของตน ซึ่งถ้าใครขัดแย้งด้วย ก็จะวิวาทกับเขาทันที (โทสาคติ) ด้วยความที่ข้อมูลของตนเองไม่เด่นชัด ความกังวลใจจึงเกิดขึ้นมาก (ภยาคติ) การทำงานในความรับผิดชอบจึงลดประสิทธิภาพลง ความขัดแย้งในการทำงานก็มีเพิ่มมากขึ้น มิตรสหายก็ห่างเหินไปในที่สุด

คนที่ถูกอคติครอบงำ ย่อมเป็นคนที่ความคิดเห็นไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นมิจฉาทิฐิ ทำให้เป็นคนที่มีความพยาบาทในจิตใจ ก่อความวุ่นวายเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยจะแสดงอคติในจิตใจออกมาทางวาจา ด้วยประพฤติวจีทุจริต ๔ คือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นนิสัย และทางกาย ด้วยการประพฤติกายทุจริต ๓ มี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม

อคติย่อมทำให้อาชีพที่ทำอยู่เป็นอาชีพทุจริต อคติย่อมทำให้ขวนขวายในสิ่งที่ทุจริตเสมอ จิตใจย่อมหมกมุ่นนึกคิดแต่เรื่องการประพฤติทุจริต แล้วจดจ่อแต่จะทำทุจริตด้วยอำนาจของอคตินั้น คนที่ถูกอคติครอบงำอยู่ ย่อมไม่รู้สึกตัวว่าทำทุจริตดังกล่าวมา ด้วยสำคัญผิดว่าตนได้ทำถูกแล้ว

ลองสมมติว่า เราเป็นคนขับรถในขณะที่ฝนตกหนัก ความสามารถในการกะระยะทางของเราเนื่องจากการมองเห็น ย่อมมีความไม่ชัดเจน และถ้าเราขับรถด้วยความเร็วมากขึ้น ด้วยถือว่ามีประสบการณ์ จดจำทางที่จะไปได้ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมมีมาก แต่หากเราขับรถช้าลงหรือจอดรอให้ฝนหยุด การเดินทางไปถึงจุดหมายที่กำหนดไว้ก็ย่อมมี

นี่ฉันใด อคติก็เหมือนฝนที่ตกหนัก ที่มาขัดขวางการดำเนินชีวิต ถ้าเราดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจของอคติ ก็ย่อมพบกับความผิดพลาดที่จะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ที่ยากจะแก้ไขได้

ดังนั้น การหยุดยั้งคิด โดยการใช้สติปัญญาไตร่ตรองพิจารณาด้วยเหตุผลที่รอบคอบ โดยไม่ให้อคติมีผลต่อขบวนการความคิด จึงเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในชีวิตที่ปรารถนา

เพราะฉะนั้น การแก้ไขตนเองไม่ให้มีอคติเกิดขึ้นในจิตใจ จึงจำเป็นต้องทำตนเองให้เป็นผู้มีสติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวปฏิบัติเรื่องสติ ไว้ในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๖ – ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ความว่า

“...ความรู้สึกระลึกได้ว่า อะไรเป็นอะไร หรือเรียกสั้นๆว่า “สติ” นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้บุคคลหยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด และแม้แต่จะคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว มีคุณมีประโยชน์หรือเสียหาย ควรกระทำหรือควรงดเว้นอย่างไร เมื่อยั้งคิดได้ ก็จะช่วยให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างละเอียดประณีต และสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ ออกได้หมด คงเหลือเนื้อแท้ที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเป็นของควรคิดควรพูดควรทำแท้ๆ...”

เมื่อสามารถทำตนให้เป็นผู้มีสติแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังเริ่มต้นการเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ถูก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในอริยสัจ ข้อที่ ๔ คือ มรรค มีองค์ ๘ ที่เริ่มต้นแต่การทำให้ตนเองเป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นสัมมาทิฐิ ที่จะส่งผลให้เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทในจิตใจ ไม่มีความคิดก่อความวุ่นวายเบียดเบียนผู้อื่นเลย เป็นผู้ที่มีปกติกล่าววจีสุจริต ๔ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เป็นนิสัย และทางกาย ด้วยการประพฤติกายสุจริต ๓ มี ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมทำให้อาชีพที่ทำอยู่เป็นอาชีพสุจริต ขวนขวายในสิ่งที่สุจริตเป็นกุศลธรรมเสมอ จิตใจย่อมนึกคิดแต่เรื่องการประพฤติสุจริตอันเป็นบุญเป็นกุศลแก่ตนเองและสังคม แล้วจิตก็จะจดจ่อแต่การทำสุจริตอยู่เสมอ ที่สุดก็จะตระหนักรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมนั่นเป็นเช่นไร

เพื่อให้เห็นการปฏิบัติตนให้พ้นจากอำนาจอคติอย่างเด่นชัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตนให้เป็นผู้มั่นคงในศีลข้อที่ ๔ คือ เว้นจากการพูดมุสา และทำจิตใจให้มั่นคงในเบญจธรรมข้อที่ ๔ คือ สัจจะ ความซื่อสัตย์ การรักษาและปฏิบัติตนให้สม่ำเสมอในศีลข้อที่ ๔ ก็คือการทำตนให้เป็นผู้มีสัมมาวาจา อันจะส่งผลให้สามารถมีการเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ถูกอยู่เป็นนิตย์

การรักษาจิตใจให้มั่นคงในเบญจธรรมข้อที่ ๔ คือ สัจจะ ถือความจริงเป็นใหญ่ จะทำให้ไม่พูดเท็จเพราะอคติ นำให้ปฏิบัติตนเป็นคนพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะหู พูดแต่คำที่มีประโยชน์ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกกัน และนำตนให้มีคุณลักษณะที่บุคคลอื่นจักพึงทราบได้จากการคบหา ๔ ประการ คือ ๑. เป็นผู้ที่มีความเที่ยงธรรม ยึดมั่นในเหตุและผลที่เป็นสุจริต ๒. เป็นผู้มีความซื่อตรง ๓. เป็นผู้มีความสวามิภักดิ์ ๔. เป็นผู้มีความกตัญญู เมื่อสามารถปฏิบัติตนได้มั่นคงในศีลธรรมดังนี้ อคติก็ไม่มีผลต่อจิตใจได้เลย

ดังนั้น เมื่อมีความปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จงอย่ามีอคติในชีวิตเลย...

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น