xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๑๕) สมุทัยรักษาพืชพันธุ์แห่งมนุษย์และสัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


สิ่งที่สมุทัยระดมพลัง เพื่อสืบรักษาไว้มากที่สุดก็คือ พืชพันธุ์แห่งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั่วไป ตลอดถึงพืชพันธุ์แห่งต้นไม้ใบหญ้าทั้งปวงในโลก

สมุทัยได้สอดแทรกความรู้สึกทางเพศไว้แก่ชาวจิตตนครทั้งปวง โดยแบ่งออกเป็นเพศคู่ ซึ่งมีความรู้สึกไวต่อกันอย่างยิ่ง เพื่อสืบรักษาพืชพันธุ์ของคนไว้ จนถึงท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า

“ยังไม่เห็นรูปอย่างอื่น เสียงอย่างอื่น กลิ่นอย่างอื่น รสอย่างอื่น สิ่งถูกต้องทางกายอย่างอื่น สักอย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษได้ เหมือนอย่างรูปของสตรี เสียงของสตรี กลิ่นของสตรี รสของสตรี สิ่งถูกต้องทางกายของสตรี สิ่งทั้ง ๕ นี้ของสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่”

ในทางตรงกันข้าม ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า

“ยังไม่เห็นรูปอย่างอื่น เสียงอย่างอื่น กลิ่นอย่างอื่น รสอย่างอื่น สิ่งถูกต้องทางกายอย่างอื่น สักอย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีได้ เหมือนอย่างรูปของบุรุษ เสียงของบุรุษ กลิ่นของบุรุษ รสของบุรุษ สิ่งถูกต้องทางกายของบุรุษ สิ่งทั้ง ๕ นี้ของบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่”

สมุทัยแทรกความรู้สึกของบุคคลทั้งสองเพศไว้ให้มีต่อกันรุนแรงถึงเพียงนี้ ก็ด้วยความกลัวว่า โลกจะสูญสิ้นพืชพันธุ์ จะไม่มีใครเหลืออยู่ให้สมุทัยครอบครองใจ เพราะสมุทัยทราบดีว่า จิตตนครมีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง ที่ชาวจิตตนครจะต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะได้เล่าในเมื่อถึงวาระ

ถ้าไม่มีพืชพันธุ์สืบต่อ ก็จะสิ้นสูญไปหมดเมืองในเวลาไม่เกินร้อยปี หรือจะเกินไปบ้างก็ไม่มากนัก และร่างกายของบุคคลทั้งสองเพศนี้เล่า ก็แสนที่จะสกปรก สมุทัยจำต้องแทรกความรู้สึกดังกล่าวไว้อย่างแรง ไม่เช่นนั้น ต่างก็จะเมินเฉยต่อกันและกัน

ทั้งภาระในการครองเรือนก็หนัก สมุทัยต้องสร้างแทรกความรักในบุตรธิดาเป็นอย่างยิ่งไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีใครอยากมีลูก อยากเลี้ยงลูก สมุทัยจึงจำต้องระดมพลังแห่งความรู้สึกดังกล่าว หรือที่เรียกกันว่า “ความรักความใคร่” เพื่อรักษาพืชพันธุ์ไว้ในจิตใจของชาวจิตตนครมากเป็นพิเศษ

แม้จะให้เกิดผลตามประสงค์ แต่ก็ให้เกิดผลเดือดร้อนเสียหายหลายอย่าง เช่น ชาวจิตตนครผู้ถูกพลังความรักใคร่ครอบงำให้กระวนกระวาย ก็ปฏิบัติระงับหรือบำบัดความรู้สึกเช่นนี้ในทางที่ผิดต่างๆ มีการกระทำผิดต่างๆ มีสถานที่บำบัดต่างๆ มีวิธียั่วยุความรู้สึกต่างๆ

บรรดาพรรคพวกของสมุทัยอีกมากมาย ก็ได้โอกาสแทรกแซงแสดงตัวผสมผสานไปกับเรื่องนี้ ก็เป็นที่พอใจของสมุทัย

อีกอย่างหนึ่ง จำนวนสำมะโนครัวคนของจิตตนครมากขึ้นผิดสังเกตโดยรวดเร็ว เช่นเดียวกับจำนวนคนของประเทศต่างๆ ในโลก ทำให้เกิดปัญหาว่าคนจะล้นโลกขึ้น

แต่สมุทัยหาได้กลัวปัญหานี้ไม่ ทั้งไม่ขวนขวายที่จะควบคุมยับยั้งแต่ประการใด เพราะสมุทัยมีพลังในการทำลายอยู่ในมือพร้อมแล้ว ไม่น้อยกว่าพลังแห่งการสร้าง อาจจะยิ่งกว่าเสียอีก เช่นในโลกปัจจุบันนี้ อาวุธปรมาณูที่พากันทำไว้ มีกำลังแห่งการทำลายมหาศาล จะทำลายสิ่งทั้งปวง พร้อมทั้งชีวิตคนทั้งโลกได้ ในเวลาพริบตาเดียว

ถึงเวลามิคสัญญีเมื่อใด สมุทัยจะระดมพลังแห่งการทำลายเมื่อนั้น สมุทัยได้แทรกแซงความรู้สึกทางทำลายเข้าในใจแห่งชาวจิตตนครไว้แล้ว จึงไม่วิตกว่าคนจะล้นโลก

สมุทัยแห่งจิตตนครมีพลังร้ายรุนแรง น่ารังเกียจ สะพรึงกลัวยิ่งนักดังกล่าวมา แต่สมุทัยก็มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบในการใช้พลังนั้น จนทำให้ชาวจิตตนครยอมตกอยู่ใต้พลังดังกล่าวอย่างเต็มอกเต็มใจ มิได้ระแวงสงสัยว่า นั่นแหละคือสิ่งที่จะนำตนไปสู่ความพินาศหายนะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญาคุณเลิศกว่าปัญญาทั้งหลาย จึงทรงรู้เท่าทันสมุทัยทุกประการ และด้วยทรงพระกรุณาคุณเลิศกว่ากรุณาทั้งหลาย จึงทรงแสดงไว้ให้เห็นโทษของสมุทัย เพื่อว่าชาวจิตตนครทั้งปวงผู้มีศรัทธาในพระองค์ท่าน จะได้พยายามเห็นตาม และต่อต้านสมุทัย ไม่ยอมตนให้สมุทัยนำไปทำลายอย่างย่อยยับในที่สุด

อันความเฉลียวฉลาดของสมุทัย ในการใช้พลังทำลายชาวจิตตนครในด้านต่างๆนั้น แม้มีมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจสู้ปัญญาของชาวจิตตนคร ที่เกิดจากการศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ดังนั้น แม้ไม่ปรารถนาจะยอมให้สมุทัยชักจูงไปตามชอบใจ จนสุดท้ายนำไปสู่ความพินาศหายนะ ก็ควรที่จะต้องศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รู้ถูกต้องพอสมควร

เพื่อเป็นการอบรมปัญญาและสติ ไว้ต่อต้านสมุทัย ไม่ว่าจะแอบแฝงสอดแทรกเข้ามาในรูปใด ความมีสติและปัญญารู้เท่าทันสมุทัย ว่ากำลังล่อให้โลภแล้ว ให้โกรธแล้ว ให้หลงแล้ว แล้วใช้สติปัญญาต่อต้านไม่ยอมโลภ ไม่ยอมโกรธ ไม่ยอมหลง ไปตามสมุทัย

นั่นแหละจะสามารถชนะสมุทัยได้ ไม่ถูกสมุทัยครอบครองชักนำไปสู่ความพินาศในวาระสุดท้าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น