• ผู้นำองค์กรสิ้นหวัง ท้อแท้
ปุจฉา : กราบองค์หลวงปู่ที่เคารพยิ่งเจ้าค่ะ ลูกมีเรื่องขอเรียนถามหลวงปู่ดังนี้
1. จะใช้ธรรมะข้อใดมาปราบความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ อ่อนแอ และพ่ายแพ้ในตนเองให้ได้ ผู้นำขององค์กรมีสิทธิ์จะท้อแท้บ้างไหมคะ
2. ผู้นำที่ดีขององค์กรควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร และผู้นำควรจะใช้ธรรมะข้อใดในการนำองค์กรที่กำลังแตกแยกกันให้รวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ เนื่องจากมีแต่คนเก่งแต่ไม่ยอมลงรอยกัน
3. การข่มใจด้วยขันติ กับการวางเฉย(อุเบกขา) การข่มนิวรณ์ด้วยองค์คุณแห่งฌาน(วิขัมภนปหาน) และความสงบใจ(อุปสมะ) แตกต่างกันอย่างไร ควรจะยึดหลักธรรมข้อไหนดีกว่ากันคะ
ขอกราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ
วิสัชนา :
1. ความรัก ความศรัทธา ความเพียร สติ ความอดทน ปัญญา เหล่านี้เป็นธรรมที่ช่วยกำราบความสิ้นหวัง พ่ายแพ้ ท้อถอย อ่อนแอ
ผู้นำองค์กรถ้ายังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ก็ย่อมเป็นธรรมชาติอยู่เองที่ย่อมมีความรู้สึกเหนื่อยหน่ายท้อแท้
2. เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง และทำตนเองให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ เข้มแข็ง ซื่อตรง มีน้ำใจ และต้องรู้จักให้อภัย
3. นั่นเพราะใจนี้รับรู้อะไรจนปรุงเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดและมีอารมณ์ จึงจำเป็นต้องใช้ความอดทนอดกลั้นที่เรียกว่าขันติ
อุเบกขา คือ สภาพที่ใจนี้รู้อะไร แต่ไม่ปรุงเป็นอารมณ์ จึงไม่ทำอารมณ์ให้เกิดอะไร
วิขัมภนปหาน คือ การข่มกิเลสด้วยอำนาจแห่งฌาน พอฌานเสื่อม กิเลสก็ปรากฏขึ้นอีก
อุปสมะ คือ สภาพแห่งจิตที่ปราศจากกิเลส โดยมิต้องมีการข่มบังคับ เป็นวิถีแห่งพระนิพพาน
ฉันเลือกให้คุณไม่ได้ มีแต่คุณเท่านั้นที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ชีวิตคุณ และต้องถูกตรงต่อสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบันของคุณด้วย
• อยากได้งานดีๆ
ปุจฉา : กราบเท้าหลวงปู่ที่เคารพ การที่จะได้ตำแหน่งงานดีๆ หรือตำแหน่งงานตามที่ตนเองปรารถนา ตลอดจนได้รับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้น ควรกระทำกรรมอะไรบ้าง และกรรมอะไรที่ทำให้เราได้งานที่ไม่ตรงกับความต้องการครับ
วิสัชนา :
ซื่อตรง เพียรพยายามทำงานที่มีในหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง รับผิดชอบ มีน้ำใจ และรู้จักให้อภัย เหล่านี้เป็นกรรมที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้าในการงาน และได้งานที่ตรงกับความต้องการของตน
แต่การไม่ซื่อตรงต่อการงานและหน้าที่ที่มี ไม่มีน้ำใจ และไม่รู้จักให้อภัยแก่ใครๆที่ทำผิดต่อตน ทำให้ได้งานที่ไม่ตรงกับความต้องการ
• ขอวิธีดำรงความศรัทธา
ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่ครับ
ถ้าทุกอย่างในธรรมชาติล้วนหนีไม่พ้นหลักไตรลักษณ์ ทุกอย่างเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกสลายในที่สุด ฉะนั้น ความศรัทธา กุศลจิตที่จะตั้งใจทำความดี ความเจริญให้กับพุทธศาสนา ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสลายในที่สุด
ผมจึงอยากทราบว่า จะทำอย่างไรถึงจะดำรงความศรัทธาดังกล่าวไม่ให้ดับสลายหรือลดลง แต่ให้เจริญงอกงาม จะต้องบำรุงอย่างไรครับ ขอความเมตตาด้วยครับ
วิสัชนา :
จริงอย่างที่คุณเข้าใจนั่นแหละ ไม่มีอะไรหนีกฎไตรลักษณ์พ้นแม้แต่ความศรัทธา จิตที่เป็นกุศลก็ไม่พ้นเหมือนกัน
ถ้าคุณปรารถนาจะให้สองสิ่งนี้ดำรงอยู่ มันก็ไม่ยาก เพียงแค่คุณมีความเพียรพยายาม บากบั่น อดทน จริงจัง ตั้งใจ จดจ่อ จับจ้อง กระทำให้ความศรัทธาและจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นทุกขณะแห่งลมหายใจ หรือทุกขณะที่นึกคิดได้ ก็ชื่อว่าคุณบำรุงความเจริญงอกงามให้แก่ความศรัทธาและจิตที่เป็นกุศลแล้ว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)