ไม่อยากเข้าใกล้แม่ขี้บ่น
ปุจฉา :
กราบเท้าหลวงปู่ที่เคารพ ผมอยากจะขอเรียนถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อบิดามารดา สาเหตุเกิดจากผมไม่สามารถปรับตัวเข้ากับบิดาและมารดาได้ เพราะมารดาผมเป็นคนที่ขี้บ่นเป็นอย่างยิ่ง เมื่ออยู่กับแม่ แม่ก็จะบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทั้งที่เกี่ยวกับเราและไม่เกี่ยวกับเรา หรือบางทีก็ย้อนเรื่องราวอดีตถึงความผิดของผมในสมัยก่อน ทำให้ผมรู้สึกไม่อยากอยู่ใกล้
ทุกวันนี้เลยไม่ค่อยได้คุยกับแม่เลย..แย่จัง แต่คุยกันทีไรก็โดนบ่นทุกทีเลย แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดแม่ ยังคงรักแม่อยู่ แต่รู้สึกว่าไม่ควรเข้าใกล้ เพราะไม่อยากได้ยินคำบ่น หรือคำที่ทำให้รู้สึกไม่ดีมากกว่า
อยากจะขอเรียนถามหลวงปู่ว่า ผมควรจะทำตัวอย่างไรดี เพื่อไม่ให้ผิดในหน้าที่ของบุตรที่ดี แต่ผมทนแม่บ่นไม่ไหวจริงๆ
สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณหลวงปู่เป็นอย่างสูงที่กรุณาตอบคำถามของผม
วิสัชนา :
พ่อแม่บ่นว่าลูก ก็หาใช่จงเกลียดจงชังลูก แต่เหตุผลที่ต้องให้บ่น เพราะต้องการเตือนให้ลูกมีสติในขณะที่ทำ พูด คิด ต่อไปจะได้ไม่ผิดพลาดอีก
การกล่าวอ้างถึงความผิดที่มีมาแต่เก่าก่อน ก็เพื่อจะยกให้ลูกได้รู้ว่า ไม่ควรจะมีชีวิตที่ผิดพลาด เหยียบย่ำซ้ำอยู่กับที่ ลูกควรหาวิธีแก้ไขบริหารจัดการ พัฒนา นำความผิดที่แล้วมาเป็นครู เตือนตนให้พ้นผิดในโอกาสที่ต้องทำ พูด คิด ต่อไป
เสียงตำหนิติบ่นของพ่อแม่ คุณควรจะถือว่าเป็นพรอันยิ่งใหญ่ ที่ออกมาจากส่วนลึกของจิตใจท่าน ทางที่ดีคุณควรจะตั้งใจฟังบ้าง แล้วรู้จักเอามาคิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง ทำอย่างนี้บ่อยๆ ท่านเห็นคุณทำ พูด คิด ดี ชีวิตมีคุณภาพ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากบ่นลูกที่ทำ พูด คิด ดี หรอกคุณ
อย่าคิดเข้าข้างตนเองจนไม่เห็นผู้อื่นอยู่บนโลกนี้นอกจากคุณ
• สงสัยเรื่องอโหสิกรรม
ปุจฉา :
กราบหลวงปู่ที่เคารพ ผมมีเรื่องอยากเรียนถามหลวงปู่ว่า อโหสิกรรมก็คือกรรมที่ไม่ให้ผลใช่ไหมครับ แล้วถ้าสมมติว่านาย ก. โดน นาย ข. ทำร้าย แต่นาย ก. อโหสิกรรมให้นาย ข. แบบนี้นาย ข. ก็จะไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้หรือครับ แล้วกรรมที่ทำไว้จะหายไปเลยหรืออย่างไรครับ
ผมสงสัยมานานแล้ว ขอหลวงปู่กรุณาอธิบายให้เกิดความกระจ่างที่เถิดครับ
วิสัชนา :
สมมติว่าคุณมีผ้าขาวบริสุทธิ์ผืนหนึ่ง แล้วนาย ข. มายืมไป จากนั้นก็เอาสีดำมาแต้ม เวลาต่อมา นาย ข. เอาผ้าขาวมาคืน แล้วคุณก็ไม่ถือโทษต่อนาย ข. เช่นนี้ ผ้าขาวผืนนั้นจะกลับมาขาวขึ้นเหมือนเดิมหรือไม่
การอโหสิกรรม คือ การที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกโทษ ไม่เอาผิดต่อการกระทำของฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ใช่ว่า ผลของการกระทำของฝ่ายตรงข้ามหรือคู่กรณีจะหายไปด้วย เขาก็ยังมีโทษอยู่ ซึ่งก็อาจจะเป็นโทษที่ต้องชดใช้แค่ลำพังตน โดยไม่มีผู้อื่นมากล่าวโจทย์หรือร่วมเอาผิดด้วย
ยังไงๆความคิดนั้นๆ ก็ยังต้องให้ผลกับเขาอยู่ ต่างกันตรงที่ว่า อาจจะเบาบางลงบ้าง เพราะได้รับการอโหสิกรรม
• อยากเอาชนะกิเลส
ปุจฉา :
กราบเท้าหลวงปู่ที่เคารพ ผมเป็นแค่คนที่เต็มไปด้วยธุลีของกิเลส บางครั้งก็ต้องยอมแพ้กับมัน บางครั้งก็ชนะมันบ้างครับ ผมยากเรียนสอบถามว่า การเอาชนะกิเลสที่ชนะแบบชั่วนิรันดร์ เราจะเริ่มต้นยังไงครับ
วิสัชนา :
เริ่มต้นจากเชื่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
- มีสติ พร้อมความเพียร หมั่นที่จะฝึกหัดดัดกาย วาจา ใจ ของตน อย่างไม่ย่นย่อ ไม่ท้อถอย
- มีขันติ ความอดทนอดกลั้น ต่อสภาพความบีบคั้น และหลอกล่อทั้งปวง
- มีสมาธิ คือ ความตั้งมั่น องอาจ ผ่าเผย
- มีปัญญารอบรู้ แจ้งชัด ทุกเรื่องที่คุณทำ พูด คิด รวมถึงรู้ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ สรรพชีวิต และสรรพวัตถุ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)