xs
xsm
sm
md
lg

9 วิธีแก้ปัญหาลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม /ดร.สุพาพร เทพยสุวรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมลูกถึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลูกกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงพูดโกหก ทำไมแกล้งทำหูทวนลม ทำไมถึงทำท่าเป็นนางเอกร้องไห้ฟูมฟายมากเกินความเป็นจริง หรือทำไมถึงแกล้งเลียนแบบเสียงเป็นเด็กๆหรือเรียกร้องความสนใจเป็นเด็กๆ ทั้งๆ ที่อายุผ่านวัยเด็กเล็กมานานแล้ว เราลองมาศึกษาสาเหตุและวิธีแก้ไขสิ่งเหล่านี้กัน

1.พูดปด ลูกอาจพูดไม่จริงในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น หนูเก็บที่นอนแล้ว จนกระทั่งถึงพูดปดมากขึ้น เช่นหนูไม่ได้ตีน้องทั้งๆที่ทำ สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะลูกอาจกลัวการถูกลงโทษ หรือลูกเคยโกหกแล้วไม่ถูกจับได้ เลยคิดว่าคราวนี้หากทำอีกจะรอดตัวได้อีก หรือบางครั้งลูกอาจจะไม่อยากทำให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวังก็เป็นได้

2.ล้อเลียนหรือแกล้งคนอื่น การล้อเล่นกันในครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติ และบางครั้งสร้างอารมณ์ขันให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อนและพี่น้อง แต่ไม่ใช่การแกล้งหรือทำให้คนอื่นเจ็บตัวเจ็บใจ เราต้องดูว่าสาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะ สนุกหรือการแกล้งคนอื่นดูเหมือนเป็นคนเก่ง มีอำนาจเหนือหรือใหญ่กว่าคนอื่น อยากให้คนอื่นกลัว วิธีแก้ไขคือ สอนและชี้แจงให้ลูกเห็นว่า การล้อเลียนนี้อาจทำอย่างไม่เหมาะสมและมากเกินไป ให้ลูกรู้จักไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เมื่อลูกเริ่มล้อเลียนคนอื่น และคนที่ถูกล้อเริ่มอึดอัด ให้เรียกลูกไปใกล้ๆและถามลูกว่าสิ่งที่ลูกพูดนั้น ทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร กระตุ้นทักษะของการไวต่อความรู้สึกของลูก โดยการให้ลูกสังเกตพฤติกรรมตอบสนองของคนที่โดยล้อ ใบหน้าและท่าทางของพวกเขา และหากการล้อเลียนนั้นเริ่มมากขึ้นและเริ่มจะเป็นปัญหาใหญ่ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้แน่ใจว่าลูกปลอดภัย ไปใกล้ๆ ลูกพูดให้ลูกเข้าใจว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น และวิธีช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้อีก

3.การเล่นอะไรแผลงๆ สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะ อยากเรียกเสียงหัวเราะ อยากรู้สึกมีอำนาจเหนือ หรืออยากจะดูปฏิกิริยาตอบสนอง วิธีแก้ไข บอกและสอนลูกว่าสิ่งนี้เล่นได้ หรือไม่ไหร่มากเกินไป เล่นไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตการเล่นแผลงๆนั้นว่า เป็นอันตรายหรือไม่เป็นอันตราย ทำให้คนอื่นถูกหัวเราะเยาะหรือเศร้าใจหรือไม่ สังเกตว่าลูกสามารถแยกแยะและเห็นความแตกต่างหรือไม่ บางครั้งเด็กๆชอบเล่นและมีอารมณ์ขันมากกว่าเห็นความทุกข์ใจของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องช่วยให้ลูกมองเห็นและไวต่อความรู้สึกของคนอื่น

4.แกล้งเล่นละคร สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะ ต้องการเป็นจุดสนใจเพราะลูกยังอยู่ในวัยเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ เด็กบางคนใช้วิธีแสดงออก บางคนเก็บความรู้สึก เจ็บลึกๆและระเบิดออกมาเมื่อถึงเวลา วิธีแก้ไขคือ เพิกเฉยต่อพฤติกรรมนี้ของลูก อย่าให้ลูกรู้สึกเป็นจุดสนใจของพ่อแม่ ในทางกลับกันพยายามคุยถึงวิธีการแสดงออกถึงอารมณ์ เมื่อโกรธ อิจฉา หรือหงุดหงิด ในเวลาเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องเห็นใจลูกด้วย บอกลูกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ พยายามทำให้ปัญหานี้เล็กลง บอกลูกว่า พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกของลูกว่าตอนนี้ลูกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างไร และแม่เข้าใจว่าลูกกำลังหงุดหงิดอยู่

5.ทำตัวเหมือนเด็ก สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะ ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ หรือบางครั้งลูกอาจจะกำลังเผชิญปัญหาบางอย่างที่มากมายอยู่ในวัยขณะนั้น หรืองานมากมายที่ต้องทำให้เสร็จ ทำให้ลูกอยากกลับไปทำตัวเหมือนเด็กๆ อีก หรือบางครั้งลูกอาจจะผ่านเข้าสู่ช่วงแห่งความทุกข์อย่างมากมายก็เป็นได้ วิธีแก้ไข หาสาเหตุของปัญหานั้น บอกให้ลูกใช้เสียงปกติ แต่อย่ากังวลมากเกินไปปัญหานี้จะผ่านพ้นไปไม่นาน

6.แกล้งทำหูทวนลม สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้น อาจเป็นเพราะลูกกำลังใส่ใจทำงานบางสิ่งบางอย่างอยู่ และอาจไม่ได้ยินสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด หรือบางครั้งลูกอาจแกล้งทำหูทวนลมจริงๆ ไม่ใช่เพราะลูกไม่ชอบสิ่งที่เราพูด แต่อาจเป็นเพราะลูกคิดว่าเราพูดมากเกินไป เมื่อเราพูดบ่อยๆหลายต่อหลายครั้งลูกจะเริ่มไม่ค่อยได้ยินและไม่สนใจสิ่งที่เราพูด วิธีแก้ไข ทำให้ลูกสนใจเราก่อนที่เราจะพูด ไปใกล้ๆลูกเอามือแตะที่บ่าลูก เพื่อที่จะสนใจฟังสิ่งที่เราจะพูด และเมื่อพูดกับลูกเรียบร้อยแล้ว ถามลูกกลับมาว่าเมื่อกี้นี้แม่พูดอะไร ให้คุณพ่อคุณแม่พูดน้อยแต่ให้ได้ใจความ จะช่วยให้การสื่อสารของเรากับลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7.ชอบพูดแซงหรือพูดแทรก สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้น เพราะบางครั้งลูกยังไม่รู้จักเรื่องการรอคอยและมรรยาทในการพูดสนทนา หรือเมื่อลูกพูดแทรกหรือแซงทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ลูกทำจนเคยชิน วิธีแก้ไขบอกลูกว่าเมื่อคนอื่นพูดเราต้องให้เกียรติและหยุดรอจนถึงเขาพูดจบก่อนแล้วจึงค่อยพูด หากลูกไม่แน่ใจว่าคนอื่นพูดจบหรือยัง ให้ถามและรอคอยเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะลูกเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำให้ดูมากกว่าการพูดให้ฟัง

8.เมื่อถามลูกว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้าง ลูกตอบว่าไม่มีอะไร สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้นเพราะบางครั้งลูกอาจจะยังไม่สามารถเลือกว่าจะพูดหรือคิดถึงอะไรที่น่าสนใจได้ในขณะนั้น หรือเวลาที่ถามลูกอาจจะไม่อยากพูด ลูกอาจจะอยากใช้เวลาเพื่อความรู้สึกตื่นเต้นจะกลับมาพูดอีกครั้ง วิธีแก้ไข หาจังหวะในการพูดกับลูก ช่วงเวลาที่ลูกกำลังคุยอย่างสนุกสนาน หลังเลิกเรียน หรือหลังจากนั้น และถามลูกอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น วันนี้ลูกวาดรูปอะไร หรือบอกแม่หน่อยว่าวันนี้หนูภูมิใจอะไรมากที่สุด หลีกเลี่ยงคำถามปลายปิดที่ต้องตอบสั้นๆ ว่าใช่หรือไม่ใช่

9.ผลัดวันประกันพรุ่ง สาเหตุที่ลูกทำอย่างนั้น อาจเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ชอบ หรืออาจจะติดใจอะไรที่สนุกกว่าอยู่ หรือลูกอาจแบ่งเวลาไม่ถูกว่าต้องใช่เวลามากเท่าไหร่ในการทำงานนั้นๆ ให้เสร็จ วิธีแก้ไขคือจัดระเบียบกิจวัตรประจำวันอย่างดีและรัดกุม เช่นแต่งตัวก่อนทานข้าว ทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงไปเล่นได้ หรือเก็บของเล่นให้เข้าที่ก่อนจึงเข้านอน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และคุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ลูกดูจากการกระทำมากกว่าคำพูดค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอ

ข้อมูลอ้างอิง
parenting/feathers/why-your-child-acts-that-way

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น