xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : อภิมหาคัมภีร์ เปลี่ยนคนเป็นมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คัมภีร์ How to ทางโลกส่วนใหญ่ มุ่งสอนคนให้สมอยาก คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็น

ตรงข้ามกับคัมภีร์ How to ทางพุทธธรรม ซึ่งไปไกลกว่านั้น เพราะได้ปักธงตั้งเป้าเพื่อพัฒนาคนให้กลายเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ คือ สามารถลด ละ เลิก ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นลง แล้วยกระดับวิวัฒนาการตัวเอง จากความเป็นมนุษย์ปุถุชน ขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคล กระทั่งในที่สุดก็ไม่เหลืออัตตาแห่งความเป็นอริยบุคคล เมื่อบรรลุเข้าสู่ความหลุดพ้น มีอิสรเสรีอย่างแท้จริงทางจิตวิญญาณ ที่ภาษาพระเรียกว่า “วิมุตติ”

คัมภีร์ How to แบบนี้ทางพุทธศาสนา เราเคยได้ยินได้ฟังทุกครั้ง ยามที่ญาติสนิทมิตรสหายหรือผู้เคารพรักสิ้นชีพ โดยพระในวัดจะใช้สวดสาธยายในงานศพ ซึ่งเรียกกันว่า “พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์”

เมื่อเรามีคัมภีร์ดีๆแบบนี้ อาจมีคำถามว่า ทำไมพระต้องนำไปสวดในงานศพด้วย?

คำตอบก็คือ...ตามความเชื่อที่เล่าต่อกันมา การสวดพระอภิธรรมถือเป็นการตอบแทนคุณบิดามารดา ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมทั้งเหล่าเทวดาทั้งหลายที่พากันมาฟังธรรมครั้งนั้น ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลถึง 80 โกฏิเลยทีเดียว และด้วยพุทธจริยาอันงดงามเรื่องความกตัญญูของพระพุทธองค์ ชาวพุทธจึงถือเป็นแบบอย่างที่บุตรธิดา จะได้มีโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายในการบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ผู้มีพระคุณซึ่งวายชนม์

ในอดีตพระสงฆ์ก็สวดสาธยายในเชิงปลงธรรมสังเวชอยู่แล้ว แต่ได้กลายมาเป็นประเพณีการสวดพระอภิธรรมในงานศพอย่างจริงจังสมัยรัชกาลที่ ๕

ครั้งนั้นมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งในการสิ้นพระชนม์ของพระนาง พระองค์ได้ทรงปรารภกับพระสงฆ์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลว่า “อยากจะฟังธรรมบทที่ช่วยให้คลายเศร้าโศก”

พระสงฆ์ก็เลยสวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ถวาย ซึ่งพระองค์ทรงปลาบปลื้มมาก เพราะทรงรู้และเข้าใจว่า พระอภิธรรมนั้น เป็นธรรมะชั้นสูงสุดที่ชี้ให้เห็นถึงสภาวธรรมแห่งกองสังขาร ทำให้ทรงคลายความเศร้าโศกลงไป จึงรับสั่งว่า

“ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลาย ช่วยเป็นธุระนำเอาพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นี้ ไปสวดสาธยายในงานศพของชาวบ้านด้วย”

มีท่านผู้รู้ได้วินิจฉัยเรื่องที่พระสงฆ์เชื่อมโยงประโยชน์ นำเอาพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ ก็เพื่อเจริญกุศลและอานิสงส์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจความจริงของสังขาร ที่เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา โดยมีศพให้ดูเป็นตัวอย่างเบื้องหน้า
๒. เพื่อเป็นอีกอุบายวิธีหนึ่ง ในการป้องกันมิให้พระสัทธรรม หรือพระอภิธรรมอันตรธานไป
๓. เพื่อให้คนทั่วไปได้ฟังไว้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในภายหน้า แม้จะยังไม่เข้าใจ แต่ขณะฟัง หากตั้งใจฟังด้วยดี จิตก็ย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ และการที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น จัดเป็นบุญชั้นสูงอย่างหนึ่ง ที่ทางพระเรียกว่า “ภาวนามัย” คือบุญที่เกิดจากการมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ และน้อมอุทิศบุญนี้ให้เป็นส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ได้
๔. เชื่อกันว่าพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นี้ ใครสวดครบ ๗ ปีร่างกายจะไม่เน่าเปื่อย เมื่อหมดบุญก็ขึ้นสวรรค์ทันที

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งตามตำนานเล่าว่า…

ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ซึ่งเกาะอยู่ที่ผนังถ้ำ และงูเหลือมแก่ๆอีกตัวหนึ่ง ได้ฟังพระสวดสาธยายพระอภิธรรม เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ครบ ๖๒ กัป จึงลงมาเกิดเป็นลูกชาวประมง ต่อมาทั้ง ๕๐๐ คนก็บวชเป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ครั้นได้ฟังพระอภิธรรมอีกครั้งก็บรรลุอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป กับอีก ๑ รูป (งูเหลือมแก่ในอดีตชาติ)

ดังที่ “หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย กล่าวไว้ “การสวดสาธยายพระอภิธรรมนี้ เทวดาชอบฟัง มนต์บทนี้ แม้แต่สวดในใจเทวดาก็ยังฟัง”

นั่นก็หมายความว่า “พิธีกรรม” คือ สื่ออย่างดีที่จะนำคนเข้าสู่ธรรม ถ้าพิธีกรรมไม่นำคนเข้าสู่ธรรม พิธีกรรมนั้นๆ ก็ไร้ความหมาย ไม่มีแก่นสารอะไร สักแต่ว่าทำตามๆ กันไป โดยไม่รู้ว่าเพื่ออะไร เพื่อใคร

อย่างไรก็ตาม แม้พระอภิธรรมจะมีประโยชน์และได้อานิสงส์หลายอย่าง เมื่อนำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในพิธีงานศพ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา ทำให้คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันเสียประโยชน์ เพราะภาษาที่พระใช้สวดเป็นคำบาลี ซึ่งคนส่วนใหญ่ฟังไม่เข้าใจ และพระสงฆ์เองก็ไม่ได้แสดงธรรมชี้แจงบอกกล่าวความหมายของพระอภิธรรมนี้ ในที่สุดงานศพจึงเน้นอยู่ที่การสวดสาธยายพระอภิธรรม

เวลาผ่านไปนานเข้า พิธีกรรมอันเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงธรรม จึงกลายเป็นประเพณีที่ถูกหลงลืมแก่นสารไปอย่างน่าเสียดาย....เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

สาเหตุแรก คือ เพราะพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ต่างพากันละเลยแก่นสารตรงนี้มานานมากแล้ว จึงไม่มีใครมองเห็นคุณค่า เข้าใจเพียงว่า มางานศพฟังพระสวดเสร็จก็จบแล้ว ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ประการต่อมาก็คือ เพราะในวัดนั้นๆ ขาดพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในการแสดงธรรม ดังนั้น ในวัดที่ขาดพระภิกษุผู้มีทักษะในการแสดงธรรม จึงไม่เน้นการแสดงธรรม หากแต่เน้นที่การสวดสาธยายเป็นหลัก สวดเสร็จก็จบอยู่แค่นั้น

งานศพจึงมีแต่เสียงพระสวดภาษาบาลีเป็นหลัก ทั้งๆที่เมื่อแปลจากบาลีมาเป็นคำไทยแล้ว ได้ความรู้ทางธรรมอย่างลึกซึ้ง และชวนให้ศึกษาอย่างยิ่ง เช่นที่ “พระมหาพรชัย กุสลจิตฺโต” วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ ได้ถอดความเป็นภาษาไทยออกมาเผยแพร่ไว้ในอินเตอร์เน็ต ดังนี้

กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมากะตะเม ธัมมา กุสะลา ยัสมิง สะมะเยฯ
แปลว่า ธรรมที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุข มีกามาวจรกุศล เป็นต้น ส่วนธรรมที่เป็นอกุศลให้ผลเป็นทุกข์ มีโลภะ เป็นต้น และธรรมที่เป็นอัพยากฤตคือ ธรรมที่เป็นกลางๆ มีอยู่ด้วยผัสสะและเจตนา เป็นต้น ในสมัยใด ธรรมที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุขย่อมบังเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ฯ

สอดคล้องกับที่ “หลวงปู่แหวน สุจิณโณ” แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ เคยแสดงธรรมไว้ว่า “กุสะลาธัมมา อกุสะลาธัมมา กุศล หรืออกุศลนี้ เราแต่งเอาได้ แต่งให้เป็นบุญ แต่งให้เป็นบาป แต่ไม่ให้โลภ แต่งไม่ให้หลง แต่งไม่ให้โกรธ แต่งไม่ให้กิเลสราคะบังเกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้าไม่แต่ง เราก็จะตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วมันก็จะทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจ”

“พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์” จึงเป็นอภิมหาคัมภีร์เปลี่ยนคนเป็นมนุษย์ เปลี่ยนมนุษย์เป็นเทวดา และเปลี่ยนเทวดาให้กลายเป็นพระอริยบุคคลอย่างแท้จริง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย พระเจนสมุทร)

กำลังโหลดความคิดเห็น