xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าเมืองคนดังสมัย ร.๕ ใช้ประสบการณ์นักเลงไต่เต้าจนเป็นเจ้าพระยา!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

เจ้าพระยาศรีวิไชย์ชนินทร์ (ชม สุนทราชุน)
เจ้าพระยาสุนทรบุรีศรีวิไชย์สงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ผู้ใช้ชั้นเชิงที่เหนือกว่าทำให้ “ศาสตราจารย์โจร” อย่างโจรจันทร์ต้องรับสารภาพแต่โดยดีในคืนที่ ๓ นั้น ถ้าหากโจรจันทร์รู้จักประวัติท่านดี ก็คงรับสารภาพไปตั้งแต่คืนแรกแล้ว เพราะเมื่อหนุ่มๆ ท่านก็ไม่เบาเหมือนกัน เกือบจะเสียคนเพราะใช้ชีวิตนักเลง แต่เมื่อกลับตัวตั้งเข็มชีวิตใหม่ ท่านก็อาศัยประสบการณ์เก่าๆมาทำประโยชน์ ไต่เต้าขึ้นไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดของขุนนาง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มักคุ้นกับท่านเป็นอย่างดี ได้ทรงนิพนธ์ประวัติของพระยาสุนทรบุรีฯไว้ตอนหนึ่งว่า

“...เมื่อครั้งข้าพเจ้าแรกเป็นทหารมหาดเล็ก กำลังคะนองในเวลารุ่นหนุ่ม ได้เริ่มรู้จักกับเจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯ เมื่อยังเป็น จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ด้วยความเป็นคนกว้างขวางในทางนักเลง มีเพื่อนฝูงมาก แต่ความประพฤติของเจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯในสมัยนั้นต่อมาให้โทษแก่ตัวเอง ด้วยหมดทรัพย์ไปทางเล่น ครั้นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ขุนนางวังหน้ากลับมาสมทบกับวังหลวงอีก เจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯไม่มีกำลังจะรับราชการ จึงไปสมัครรับราชการอยู่กับพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ซึ่งเป็นลุงทางฝ่ายมารดา ต้องออกไปรับราชการอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์และเมืองพระตะบองหลายปี...”

ตระกูลของเจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯ เป็นข้าราชการสังกัดวังหลวง แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวราชาภิเษกเสมือนเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์ จึงโปรดฯให้แบ่งข้าราชการวังหลวงไปสังกัดวังหน้าตระกูลละ ๑ หรือ ๒ คน พระยาสุรินทรามาตย์ (คล้าย) บิดาของของเจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯ อยู่ในกลุ่มที่ต้องไปสังกัดวังหน้า มีตำแหน่งในกรมตำรวจหลวง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ข้าราชการวังหน้าก็กลับมาสังกัดวังหลวงอีก ช่วงนี้พระยาสุรินทรามาตย์ได้นำนายชม บุตรชาย ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ข้าราชการวังหลวงที่เคยสังกัดวังหน้าก็ต้องกลับไปวังหน้าตามเดิม แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ขอตัวพระยาสุรินทรามาตย์ไว้ในกรมกลาโหมของวังหลวงต่อไป จึงให้นายชมผู้เป็นบุตรย้ายไปสังกัดวังหน้าแทน และได้เป็น จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ปลัดกรมตำรวจ

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ข้าราชการวังหน้าก็ย้ายกลับมาสังกัดวังหลวงอีก แต่จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ “ไม่มีกำลังจะรับราชการ” อย่างที่กรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ จึงต้องไปรับราชการอยู่ที่นครจำปาศักดิ์และพระตะบอง ได้เป็น หลวงเสนีย์พิทักษ์ สังกัดกรมมหาดไทย

ระหว่างที่ไปรับราชการอยู่หัวเมืองไกลนี้เอง โอกาสก็เปิดให้หลวงเสนีย์ฯอย่างไม่คาดฝัน เมื่อถูกใช้ให้เข้ามาราชการที่กรุงเทพฯ ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงได้พบกันด้วยความยินดีหลังจากที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี

หลังจากที่หลวงเสนีย์ฯ เข้ามาฟื้นความหลังสมัยเป็นหนุ่มคะนองกับท่านเสนาบดี พอออกจากห้องไปได้ไม่นาน พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ก็เข้ามาขอทูลปรึกษากับท่านเสนาบดีเรื่องจะหาตัวคนไปเป็นผู้ว่าราชการหัวเมืองต่างๆในมณฑล เมื่อไล่มาถึงเมืองพิจิตรที่กำลังมีปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม ก็เกิดติดขัด หาคนที่เหมาะสมไม่ได้ กรมพระยาดำรงฯนึกถึงหลวงเสนีย์ฯที่เพิ่งออกจากห้องไป จึงรับสั่งกับพระยาศรีสุริยราชฯว่า มีข้าราชการคนหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน แต่ตามประวัติแล้วมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ คือเป็นคนฉลาด อัธยาศัยดี คบคนกว้างขวาง แต่ทว่าเป็นนักเลงจัด ถ้าให้เป็นผู้ว่าเมืองพิจิตรก็ต้องเสี่ยงหน่อยว่าจะได้หรือเสีย แต่สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกเห็นว่าควรเสี่ยง ถ้าไม่ดีค่อยเปลี่ยน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงรับสั่งให้ตามตัวหลวงเสนีย์พิทักษ์ซึ่งยังไม่กลับไปง่ายๆ โอภาปราศรัยทักทายคนอยู่ในกระทรวง เมื่อเข้ามาคุยกันสองต่อสอง กรมพระยาดำรงฯ ก็เสนอตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำจริงจัง จะทำอย่างเจ้าเมืองคนก่อนๆไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ถือว่ามีความผิด จึงขอความสมัครใจว่าจะรับหรือไม่ หลวงเสนีย์ฯ ทูลขอรับด้วยความยินดี ทั้งขอให้วางพระทัยได้ จะล้างบาปที่เคยมีแต่ก่อนมิให้ต้องทรงร้อนพระทัย

เมื่อหลวงเสนีย์ฯไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองชาลวัน นิสัยเก่าๆที่เคยเป็นผลร้ายแก่ตัวเองก็กลับเป็นคุณ ความที่ชอบคบคนอย่างกว้างขวาง วางตัวง่ายๆเดินเข้าหาชาวบ้าน ไม่นานชาวเมืองพิจิตรก็ชื่นชมนิยมนับถือว่าไม่เคยมีเจ้าเมืองแบบนี้มาก่อนเลย เป็นผลให้โจรผู้ร้ายราบคาบไปด้วย

หลวงเสนีย์พิทักษ์ไปดังอยู่ที่พิจิตรได้ไม่นาน เมืองนครไชยศรีที่อยู่ใกล้กรุงแค่นี้เองก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ยากแก่การปราบปราม และกำลังขาดเจ้าเมือง กรมพระยาดำรงฯ จึงดึงตัวเจ้าเมืองมือปราบจากพิจิตรลงมาว่าราชการเมืองนครไชยศรี แล้วก็เป็นไปตามคาด โจรผู้ร้ายถูกนักเลงเก่าปราบเสียราบ ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น พระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม และเมื่อตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรีว่างลง ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาสุนทรบุรีฯเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ซึ่งท่านได้รับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ถึง ๑๘ ปีจนเข้าวัยชรา เป็นสมุหเทศาภิบาลที่อาวุโสที่สุดในยุคนั้น จนถึง พ.ศ.๒๔๕๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีวิไชย์ชนินทร์

ความสามารถเด่นของเจ้าพระยาศรีวิไชย์ฯ ก็คือ การปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ท่านมีเทคนิคแตกต่างกับเจ้าเมืองคนอื่นๆ ท่านจะมีสมุดพกเล่มหนึ่งติดตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อออกตรวจท้องที่ก็จะไต่ถามชื่อผู้ร้ายหรือนักเลงในท้องถิ่น ไม่ก็ถามจากนักโทษในคุก แล้วจดชื่อเอาไว้ เมื่อมีโอกาสก็จะทำความรู้จักกับนักเลงเหล่านั้น สร้างความมักคุ้นรู้นิสัยไว้ และเมื่อมีเหตุปล้นกันที่ใด ท่านจะสั่งเจ้าหน้าที่ให้ไปหาข่าวจากคนนั้นคนนี้ หรือไม่ก็ชี้ตัวผู้ร้ายลงไปได้เลย ซึ่งก็ไม่พลาด ทำให้ข้าราชการในมณฑลนครไชยศรีพากันแปลกใจไปตามกันว่า ท่านรู้ได้อย่างไรโดยที่ยังไม่ได้ออกไปท้องที่เกิดเหตุ

เมื่อได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาแล้ว เจ้าพระยาศรีวิไชย์ชนินทร์ก็เจ็บป่วยเรื่อยมา ด้วยเข้าวัยชราไม่แข็งแรงดังเช่นแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มารับราชการในกรุงเทพฯ เป็นมหาเสวกโท สังกัดกระทรวงวัง แต่อาการเจ็บป่วยของท่านก็ทรุดลงตลอด ไม่นานก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปลดออกจากข้าราชการประจำ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญไปตลอดชีวิต

เจ้าพระยาศรีวิไชย์ชนินทร์ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ขณะอายุได้ ๗๓ ปี ท่านเป็นต้นตระกูล “สุนทราชุน”

นี่ก็คือชีวิตที่น่าสนใจของขุนนางคนดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกคนหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น