xs
xsm
sm
md
lg

“พระพุทธรูปลอยน้ำ” เรื่องจริงที่เล่าไม่หมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
ในตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เล่ากันมา มีพระพุทธรูปอยู่ ๓ องค์ที่ลอยน้ำมา ก่อนจะถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดในขณะนี้ บางตำนานก็ว่ามีถึง ๕ องค์ หลายคนเชื่อกันว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อีกหลายคนวินิจฉัยใคร่ครวญแล้ว ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่เล่าไม่หมด

องค์แรกที่ขึ้นบกก่อนองค์อื่น ก็คือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” เล่ากันว่าท่านลอยมาตามลำน้ำแม่กลองแล้วออกไปจมอยู่ปากอ่าว ชาวบ้านไปตีอวนติดพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริงขึ้นมา จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ริมฝั่งแม่กลองในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เลยเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม ได้เขียนไว้ในประวัติหลวงพ่อบ้านแหลมตอนหนึ่งว่า

“ตามสันนิษฐานของข้าพเจ้าเห็นว่า ประวัติหลวงพ่อนั้นในขั้นต้นลอยน้ำมาตามข่าวลือ แต่มิใช่ท่านลอยน้ำมาตามลำพัง คงมีผู้อัญเชิญมาบนเรือจากที่แห่งหนึ่งเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในที่แห่งหนึ่ง และ ต้องผ่านมาทางทะเล เพราะสมัยนั้นการคมนาคมทางบกไม่สะดวก และเป็นของหนักจึงต้องนำท่านบรรทุกเรือมาทางน้ำ ในขณะเรือผ่านมานั้นน่าจะมีบางวัดนิมนต์ท่านไว้สักการบูชาที่วัด แต่ไม่สำเร็จเพราะผู้นำมาไม่ยอมถวาย จึงเล่าลือว่าท่านไม่ยอมขึ้นอยู่ในวัดใดทั้งสิ้น เว้นแต่วัดบ้านแหลม ขณะที่นำผ่านทางทะเลไปนั้น เรือคงอับปางลงและเหลือวิสัยที่จะงมท่านขึ้นมาได้...”

องค์ที่ขึ้นบกต่อจากหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ก็คือ หลวงพ่อพุทธโสธร ซึ่งเล่ากันว่าท่านลอยๆจมๆมาตามกระแสน้ำในแม่น้ำบางปะกง แล้วมาโผล่ที่หน้าวัดโสธร ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่า “วัดหงส์” อาจารย์ไสยศาสตร์ท่านหนึ่งได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวง แล้วใช้สายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นบนฝั่ง นำไปประดิษฐานไว้ในวิหาร

หลวงพ่อพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก ทั้งพระหัตถ์ พระเนตร ตลอดจนพระกรรณ เป็นลักษณะเฉพาะที่สร้างกันในหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ซึ่งเรียกกันว่า “พระลาว” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลาว

เมื่อคราวรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราใน พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ทอดพระเนตรหลวงพ่อพุทธโสธร ซึ่งตอนนั้นยังเอวเล็กเอวบาง ทรงพระราชนิพนธ์ลักษณะไว้ว่า

“...ดูรูปตักและเอวบาง เป็นทำนองเดียวกับพระพุทธรูปเทวปฏิมากร...”
พระพุทธรูปเทวปฏิมากร ก็คือพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ที่มีพุทธลักษณะงดงามมากองค์หนึ่ง

เมื่อข่าวคราวความงดงามของหลวงพ่อโสธรแพร่ออกไป พระสงฆ์ที่วัดหงส์เกรงว่าจะมีโจรใจบาปมาขโมย จึงนำปูนมาพอกจนกลายเป็นหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๕ นิ้ว ที่พระศอก็พอกจนหนากันถูกตัดพระเศียร แล้วปิดทองทับ หลวงพ่อโสธรที่เห็นเทอะทะในวันนี้ องค์เดิมที่อยู่ภายในเอวบางงดงาม

องค์ที่ขึ้นบกหลังสุด กลับเป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ตามตำนานกล่าวว่า หลวงพ่อโตลอยน้ำมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏให้คนเห็นที่ตำบลหนึ่งในกรุงเทพฯ มีคนถึงสามแสนมาช่วยกันฉุดให้ท่านขึ้นบก แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้น ผลุบจมน้ำหายไป ตำบลนั้นเลยเรียกกันว่า “บางสามแสน” ต่อมาก็เพี้ยนเป็น “สามเสน” ในปัจจุบัน

หลวงพ่อมาโผล่อีกทีที่ปากคลองสำโรง ชาวบ้านกลัวว่าท่านจะจมหายไปอีกเลยผูกแพเสริม แล้วจูงท่านเข้ามาในคลอง อธิษฐานกันว่าถ้าท่านต้องการจะขึ้นบกตรงไหนก็ขอให้ท่านหยุดตรงนั้น ท่านลอยมาถึงหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามก็หยุด ชาวบ้านที่พายเรือตามมาเป็นร้อยจึงอัญเชิญท่านขึ้นฝั่ง

ตอนที่จะอัญเชิญท่านเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น ปรากฏว่าองค์ท่านใหญ่กว่าประตู เลยต้องใช้วิธีรื้อหลังคาแล้วยกข้ามฝาผนังเข้าไป ต่อมาเห็นว่าวิหารเก่าเล็กมาก จึงสร้างวิหารใหม่ติดกับวิหารเก่าให้ท่าน และประดิษฐานมาจนถึงทุกวันนี้

วัดพลับพลาชัยชนะสงครามสร้างมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีประวัติว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปตีเมืองเขมรตามคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองขุดมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ทรงพักไพร่พลที่ตำบลหนึ่งไม่ปรากฏนาม และทรงอธิษฐานไว้ เมื่อชนะศึกกลับมาจึงทรงสร้างพลับพลาขึ้น ณ ที่นั้น พระราชทานนามว่า พลับพลาชัยชนะสงคราม ต่อมาชาวบ้านได้สร้างวัดขึ้นที่พลับพลานี้ เรียกกันว่าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม ส่วนตำบลที่ทำพิธีพลีกรรมก็เรียกว่า “บางพลี” ต่อมาวัดพลับพลาชัยชนะสงครามที่เรียกยาก ก็ถูกเรียกว่า “วัดบางพลี” ไปด้วย ภายหลังบางพลีมีวัดมาก วัดนี้เลยได้ชื่อให้ชัดขึ้นว่า “วัดบางพลีใหญ่ใน”

ส่วนตำนานที่กล่าวว่ามี ๕ องค์นั้น ได้รวมเอาหลวงพ่อวัดเขาตะเครา และหลวงพ่อวัดไร่ขิงเข้าด้วย

กล่าวกันว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเคราลอยน้ำมา แล้วไปจมที่ปากแม่น้ำแม่กลองเช่นเดียวกับหลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อชาวบ้านตีอวนได้ขึ้นมาอีกองค์ จึงเอาไปให้ญาติพี่น้องที่บ้านแหลมเมืองเพชร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมก่อนอพยพหนีพม่ามาสร้างบ้านแหลมใหม่ที่สมุทรสงคราม นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ส่วนองค์ที่ ๕ คือ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ว่าลอยน้ำมาตามแม่น้ำนครไชยศรี และถูกอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดไร่ขิงซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๔ ศอก ๒๖ นิ้ว พุทธศิลปน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ตามประวัติวัดไร่ขิงสร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๓๙๔ โดยสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) วัดศาลาปูน อยุธยา ซึ่งถือกำเนิดที่อำเภอนครชัยศรี เห็นว่าแถบถิ่นเกิดของท่านยังไม่มีวัดที่มีหน้ามีตาเป็นศรีสง่า จึงได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า “วัดไร่ขิง” ตามชื่อตำบล นักโบราณคดีบางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะมีการชะลอหลวงพ่อวัดไร่ขิงลงแพมาจากอยุธยา ล่องมาตามแม่น้ำนครชัยศรี นำมาเป็นพระประธาน

พระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนเป็นโลหะหนัก คนรุ่นใหม่คงยอมรับไม่ได้ว่าท่านลอยน้ำได้ แต่ถ้าพิจารณาใคร่ครวญแล้ว ก็น่าเชื่อว่าท่านลอยน้ำมาจริงๆ เพราะสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.๒๓๑๐ คนไทยที่ต้องหนีเอาชีวิตรอด ยังห่วงพระพุทธรูปที่เคารพนับถือกลัวว่าจะถูกพม่าเผาทำลาย ครั้นจะแบกท่านหนีหรือฝังดินไว้แบบฝังสมบัติก็คงไม่ไหว จึงต่อแพเอาท่านซ่อนไว้ข้างใต้ แล้วปล่อยลอยน้ำไหลลงไปทางใต้ ให้พ้นเงื้อมมือของคนใจบาปหยาบช้า ท่านคงลอยน้ำมาด้วยวิธีนี้

คนไทยเรานับถือสิ่งใดก็อยากให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะว่าหลอกกันก็ไม่ใช่ เพียงแต่เล่าไม่หมดเท่านั้นเอง
หลวงพ่อโสธรที่ถูกโบกปูนห่อหุ้มองค์จริง
พระพุทธรูปเทวปฏิมากร
หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน
หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
หลวงพ่อวัดไร่ขิง
กำลังโหลดความคิดเห็น