xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อาหารยามยากของรัชกาลที่ ๕

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากพระราชนิพนธ์ลายพระราชหัตถเลขา เรื่องไกลบ้าน ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีมาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล เมื่อครั้งเสด็จพระพาสยุโรปครั้งหลัง ซึ่งได้ทรงตกลงกันไว้ว่า จะทรงเล่าเฉพาะเรื่องทุกข์สุขส่วนพระองค์ ไม่พูดถึงราชการงานเมืองเป็นอันขาด

“ยามยาก” ของพระองค์ท่านคือ การต้องเสด็จยังต่างบ้านต่างเมือง ไม่ได้เสวยอาหารไทย ทั้งยังห่างไกลบุคคลอันเป็นที่รัก เมื่อเดินทางไปได้ถึงคืนที่ ๘ พระกระยาหาร “เสบียง” ที่เตรียมไปก็หมดลง

ทรงเล่าว่า “วันนี้เป็นวันหลังสุดที่จะได้กินกับข้าวไทย ได้ขยักข้าวแช่ไว้กินที่นี่ แลจะกินหมากเป็นคำหลังที่สุดด้วย เลิกอย่างไทยๆกันหมด”

นั่นเป็นเพียงในคืนแรกๆที่เสด็จออกจากประเทศไทย ครั้นถึงคืนที่ ๒๐๗ ความคิดถึงบ้านและพระญาติวงศ์มิได้เสื่อมซาลงไป ซึ่งรวมไปถึงความคิดถึงอาหารไทยด้วย ประกอบกับเพิ่งทรงหายจากพระอาการประชวร ที่ทำให้การเสวยพระกระยาหาร “ฝรั่ง” ไม่ “คล่องคอ” ทรงเล่าไว้ดังนี้

“พ่อนอนหลับ ๗ ทุ่ม ไปตื่นขึ้นด้วยความหิวได้ความว่า ๑๐ ทุ่มครึ่ง นึกว่าจะแก้ได้ตามเคย คือ ดื่มน้ำลงไปเสียสัก ๓ อึก จึงได้ดื่ม แล้วนอนสมาธิต่อไปใหม่ ให้เสียวๆในคอ แลเห็นปลากุเราทอดใส่จานมาอยู่ที่ไนยตา ขับไล่กันพอจะจางไป ไข่เค็มเปนมันย่องมาโผล่ขึ้นแทน แล้วคราวนี้เจ้าพวกแห้งๆ ปลากระบอก หอยหลอด น้ำพริกมาเปนแถว เรียกน้ำชามากินเสียครึ่งถ้วย เปิดไฟฟ้าขึ้นอ่านหนังสือ จะให้ลืมพวกผีปลาผีหอยมาหลอก

หนังสืออิลิซาเบทก็หมดเมื่อแรกนอน เหลือแต่หนังสือตอบของยายแม่มีไปถึงลูกที่ลงมือไว้เมื่อกลางวัน เพราะไม่มีอะไรทำ เผอิญถูกที่ยายนั่นไปเมืองลูเซิน แกพูดถึงไปกินเข้าที่โฮเตลนะชะนาล เมื่อหัวค่ำต้องการหวายกระทุ้ง ทำไมมาอ่านหนังสือนี้กลับเห็นไปว่าดูพอใช้ได้ ให้กินเวลาหิวนี้ก็เอา แต่พอนึกขึ้นอ้ายกับเข้าฝรั่งโผล่หน้าสลอนขึ้นมาแล้ว ดูๆไปมันก็เลี่ยนทั้งนั้น แต่ถ้าเวลานี้ดูก็เห็นจะใช้ได้บ้าง กลับรู้สึกตัวฉุนขึ้นมา อียายนี่ตะกลามนักคบไม่ได้ มาพรรณาแต่ถึงกับเข้า ชวนให้อยากมาก โยนหนังสือผลุง เอาน้ำชามารินเอาน้ำตาลเติมลงไปซด แรกกินก็ดูดี รู้สึกว่าอ้ายรศชาตหิวเช่นนี้เคยมาเสียหนัก แต่ครั้งเปนเณรแล้วเปนพระเล่า มันก็หายกันด้วยน้ำตาลเท่านี้เอง

ลงมือชักม่านดับไฟพยายามจะหลับ ทำไมมันจึงนึกต่อไป ไม่รู้ว่าเขาว่ากันว่าหิวแล้วกินหวานๆ ยิ่งหิวมาก เขากินขนมเสียก่อนจึงกินเข้าก็มี ในกำลังนึกอยู่นั้นเอง เข้ากับแกงเผ็ดโผล่ขึ้นมาในไนยตาที่หลับๆ ประเดี๋ยวไข่เจียวจิ้มน้ำพริก ประเดี๋ยวทอดมันกุ้ง ปลาแห้งผัดอะไรพากันมาล้อหลอกเสียใหญ่ หลับตาไม่ได้ ต้องลืม ลืมก็แลเห็นแกงเทโพหลอกได้ทั้งกำลังตื่นๆเช่นนั้น จนชั้นยำแตงกวาก็พลอยกำเริบ ดีแต่ปลาร้าขนมจีนน้ำยาฤๅน้ำพริก สงสารไม่ยักมาหลอก มีแต่เจ้ากะปิคั่วมาเมียงอยู่ไกลๆ เห็นจะไม่ได้การ สู้มันไม่ไหว เรียกอ้ายฟ้อนไปคลำๆดู มันมีลูกไม้อะไรอยู่ที่ไหนไม่ว่า ให้เอามาให้กูลูกหนึ่ง”


อ้ายฟ้อนไปสักครู่หนึ่งกลับมาบอกว่า “มีแต่แอ๊บเป้อด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ตอบว่า “แอบเปอลไม่ใช่ลูกไม้ฤๅ เอามาเถอะ” พอได้มาต้องลุกขึ้นนั่งหั่นเคี้ยวเข้าไปสักครึ่งลูก นึกว่าถ้ากินมากเข้าไปเวลาดึก เห็นจะไม่ดี จึงหยุดกินแต่เท่านั้น”

ครั้นเวลารุ่งเช้า ผู้ตามเสด็จได้หุงข้าว ส่วนกับข้าวนั้น ทรงเล่าว่า

“เหลือกะปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่น โรยลงไปหน่อย คลุกเข้ากินกับหมูแฮมแลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดีคอ เหมือนเปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง ไม่ได้มาดันอยู่น่าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย”

หมายเหตุ* ได้คงรูปแบบการสะกดคำในส่วนพระราชหัตถเลขาไว้เช่นเดิมตามในหนังสือ

(ส่วนหนึ่งจากเรื่องอาหารยามยากในวรรณกรรม หนังสือ หมื่น ร้อย พัน ผสาน ของกรมศิลปากร)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น