xs
xsm
sm
md
lg

นิทานเซน : พระเซนกับขอทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีขอทานพิการเหลือแขนเพียงข้างเดียวผู้หนึ่ง เดินทางเข้าไปยังวัดเซนที่พระเซนนามฟังจั้งพำนักอยู่ เพื่อขอรับทาน ทว่าเมื่อเอ่ยปาก พระฟังจั้งกลับชี้มือไปยังกองอิฐและบอกกับขอทานแขนเดียวว่า

"ท่านช่วยย้ายอิฐกองนั้นไปยังหลังวัดก่อนเถอะ"

ขอทานแขนเดียวได้ยินครั้งแรกก็ไม่พอใจ กล่าวว่า "ข้าเหลือแขนเพียงข้างเดียวจะย้ายอิฐได้อย่างไร ข้ามาขอทาน หากท่านไม่อยากให้ทานก็ไม่เป็นไร ไฉนต้องล้อเลียนผู้อื่นถึงเพียงนี้"

พระเซนไม่เอ่ยโต้ตอบ เพียงแต่เดินไปยกก้อนอิฐโดยใช้แขนเพียงข้างเดียว จากนั้นค่อยกล่าวเรียบๆ ว่า "งานประเภทนี้ แม้มีแขนข้างเดียวก็สามารถทำได้"

เมื่อเห็นดังนั้น ขอทานจึงได้แต่ทำตาม โดยค่อยๆย้ายก้อนอิฐไปยังหลังวัด ทีละก้อน.. ทีละก้อน ใช้เวลาพักใหญ่จึงย้ายก้อนอิฐได้หมดกอง

จากนั้น พระเซนจึงมอบเงินค่าตอบแทนให้กับขอทานจำนวนหนึ่ง ขอทานเห็นดังนั้นก็ดีใจมากพลางกล่าวคำ "ขอบคุณท่าน ขอบคุณท่าน" ไม่หยุด

พระฟังจั้งจึงตอบว่า "ไม่ต้องขอบคุณเรา เพราะเงินนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงของท่านเอง"

ขอทานจึงเอ่ยด้วยความสำนึกว่า "ข้าจะจดจำวันนี้เอาไว้" จากนั้นจึงก้มตัวค้อมคำนับด้วยความตื้นตันก่อนเดินทางจากไป

ผ่านไปหลายวัน มีขอทานอีกผู้หนึ่งเดินทางมาขอทานที่วัดนี้ พระฟังจั้งพาขอทานผู้นี้เดินมาที่หลังวัด จากนั้นชี้ไปยังกองอิฐและกล่าวว่า "ท่านช่วยย้ายอิฐกองนั้นไปยังหน้าวัดก่อนเถอะ" ทว่าขอทานผู้มีแขนขาครบผู้นี้กลับไม่สนใจคำกล่าวของพระเซน ได้แต่หันกายจากไปโดยพลัน

บรรดาสานุศิษย์ในวัดเห็นดังนั้นจึงเอ่ยถามพระฟังจั้งว่า "คราวก่อนท่านอาจารย์ให้ขอทานย้ายอิฐมายังหลังวัด ไฉนวันนี้กลับประสงค์ให้ขอทานอีกผู้หนึ่งย้ายอิฐกลับไปหน้าวัด ที่แท้แล้วท่านอาจารย์อยากให้นำก้อนอิฐไปไว้ที่ใดกันแน่?"

พระเซนฟังจั้งตอบศิษย์เพียงสั้นๆ ว่า "อิฐวางไว้หน้าวัดหรือหลังวัดล้วนไม่ต่างกัน ทว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายต่างหากที่สำคัญสำหรับขอทานเหล่านั้น"

วันเวลาผ่านไปหลายปี วันหนึ่งปรากฏคนผู้หนึ่งท่าทางภูมิฐานเดินทางมาที่วัด คนผู้นี้มีแขนเพียงข้างเดียว ที่แท้แล้วคือขอทานแขนเดียวเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่เขาพบพระฟังจั้งในครั้งนั้น เขาจึงค่อยได้รู้ถึงคุณค่าในตัวเอง จากนั้นจึงหาทางประกอบสัมมาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย จนในที่สุดได้พบกับความสุข สำเร็จในชีวิต...ส่วนขอทานอีกผู้หนึ่งนั้น ยังคงเป็นขอทานอยู่เรื่อยมา

ปัญญาเซน : เชื่อมั่นในตนเอง รู้คุณค่าในตนเอง และพึ่งพาตนเอง คือคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการเป็นมนุษย์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย มุมจีน : manager online)
กำลังโหลดความคิดเห็น