xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพจิตใจ ปัญหาใหญ่ผู้สูงอายุ/Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจาก http://blog.cutcaster.com)
แม้ว่าเรื่องของร่างกายมักจะเป็นปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุ เพราะเมื่อวัยเพิ่มมากขึ้นหรือแก่เฒ่าแล้วก็มักจะหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเรื่องของสุขภาพทางจิตใจนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า เพราะถ้าจิตใจดี แม้จะมีโรคภัยรุมเร้า คนเฒ่าคนแก่หรือผู้สูงวัยก็มีกำลังใจที่จะต่อสู้และดำรงอยู่อย่างรู้สึกมีคุณค่า
นพ.วิญญู ชะนะกุล แห่งสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุไว้ว่าจะต้องมีการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ สำหรับผู้สูงวัยที่สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะแวดล้อมในขณะนั้นๆ ได้ ในวัยของท่าน กับลูกหลาน กับสังคมที่เปลี่ยนไป มีความสุขพึงพอใจใจในชีวิตตามสมควร นั่นก็คือผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี
“แต่คำว่าสูงอายุ ไม่ใช่แค่วัยเดียว สมมุติว่าเรานับจากอายุ 60 ปี ถึง 90 ปี ซึ่งรวมทั้งหมด 30 ปี และในช่วง 30 ปีนี้ก็มีปัญหาแตกต่างหลากหลาย ไม่เหมือนกัน อย่างถ้าเริ่ม 60 ปีก็จะมีเรื่องของการเกษียณจากการทำงาน บางแห่งอาจจะ 65 แต่โดยรวม มันก็จะเกิดภาวะที่จากการเป็นคนทำงานสู่การเป็นคนว่างงาน ไม่ได้ทำงาน ถ้าปรับตัวไม่ดี ก็จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เพราะจริงๆ คนทั่วไปอาจจะรู้สึกการเกษียณหมายถึงความสบายที่ไม่ต้องทำงาน”
นพ.วิญญู กล่าวต่อไปว่า การทำงานมันมีความหมายมากกว่านั้น นั่นก็คือการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ทำงานหรือไม่มีงาน ก็อาจจะหมายความได้เช่นกันว่าตนเองไม่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางท่านมีการงานใหญ่โตและมีความรู้สึกยึดติดในการงานหน้าที่นั้นๆ ด้วย การปรับตัวก็อาจจะยาก เช่น พอเกษียณแล้ว อย่างน้อยเงินเดือนก็หายไปแล้ว อาจจะได้เงินบำเหน็จบำนาญอะไรบ้าง ก็เป็นส่วนน้อย อันนี้เป็นรูปธรรมที่เราเห็น ซึ่งผู้ใหญ่หลายท่านก็มีปฏิกิริยากับสิ่งเหล่านี้ หลายท่านที่ไม่ได้ยึดติดนักก็อาจจะมีปัญหาน้อยหน่อย
“แต่สิ่งที่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรม สำคัญกว่านั้น คือความรู้สึกนึกคิดที่อยู่เบื้องหลัง เช่น การเกษียณจากตำแหน่ง อาจทำให้รู้สึกถึงการสูญเสีย และไม่ใช่สูญเสียตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกสูญเสียความเคารพนับถือ ความมีคุณค่าในตนเอง”
สำหรับท่านที่เตรียมตัวได้ดี พอถึงวัยเกษียณ ไม่ยึดติด แต่นึกถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำไว้ ความสำเร็จต่างๆ และยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร
“วิธีที่จะลูกหลานจะช่วยได้หรือเป็นการทดแทนความรู้สึกสูญเสียของท่าน ก็คือแสดงให้ท่านเห็นถึงความเคารพนับถือในตัวท่าน ซึ่งเราแสดงออกได้ เราปรึกษาท่านในเรื่องบางอย่าง เรื่องที่สำคัญในบ้าน ท่านก็จะรู้สึกว่าท่านมีคุณค่าตรงนี้อยู่
ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็มีผลกระทบ ผู้สูงวัยมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่จะต้องตามมาด้วยการมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่มีเงินเดือนเหมือนเมื่อก่อน รายได้ลดลง ถ้าต้องมีค่าใช้จ่ายกับการรักษาดูแลตัวเองเรื่องโรค ก็ทำให้เกิดความเครียดได้
“เพราะฉะนั้น การวางแผนล่วงหน้า เก็บเงินไว้ หรือทำประกัน ไว้ก็จะดี ขณะที่โรคบางโรคมันก็จะไปกระทบกับจุดอ่อนบางอย่าง ซึ่งก็เหมือนที่กล่าวไว้ คือความภาคภูมิใจในตัวเอง คุณค่าของตัวเอง เช่น ท่านเคยขับรถเอง ก็ขับไม่ได้ ต้องรอให้ลูกว่าง ขอร้องลูก บางทีลูกก็งอแง พูดไม่ดี ท่านก็จะเสียใจ เป็นผลกระทบทางจิตใจ”
เรื่องของผู้สูงวัย จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้สูงวัย หากแต่ลูกหลานคนรอบข้าง คือปัจจัยชี้วัดอย่างหนึ่งว่า ผู้สูงอายุจะมีความสุขหรือไม่ โดยเฉพาะสุขภาพทางจิตใจ นพ.วิญญู กล่าวทิ้งท้ายว่า บุตรหลานควรจะให้ความสำคัญกับท่าน ดูแลท่านในแง่จิตใจหรือความรู้สึกเป็นอันดับแรก ถ้าทำได้ ก็จะช่วยให้สุขภาพทางใจของผู้สูงวัยดีได้ไม่ยาก

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น