ชะเอมเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza glabra Linn มาจากภาษากรีกแปลว่า “รากหวาน” มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กำเช่า กำเช้า(จีน-แต้จิ๋ว), กันเฉ่า(จีนกลาง), ชะเอมจีน
ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบประกอบรูปขนนก ออกสลับกัน ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อนๆ ก้านดอกสั้นมาก ผลหรือฝักแบน
ชะเอมเทศเป็นสมุนไพรสำคัญที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบำรุงพลังลมปราณ นิยมนำมาใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบย่อยอาหาร และระบบการเผาผลาญภายในร่างกาย ช่วยการดูดซึมสารอาหารและการสร้างเม็ดเลือด รวมถึงการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
ในตำรายาไทยกล่าวถึงสรรพคุณของชะเอมเทศไว้ว่า มีรสหวานชุ่มคอ มีสรรพคุณแก้ไข ขับเสมหะ ขับเลือดเน่า แก้กำเดาให้เป็นปกติ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ส่วนในตำรายาจีนบอกว่า ชะเอมเทศมีรสอมหวาน สุขุม ค่อนข้างเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้อาการใจสั่น แก้ลมชัก
สรรพคุณทางยาส่วนใหญ่อยู่ในรากหรือเหง้าซึ่งมีสารกลีซีร์ริซิน (Glycyrrhizin) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50-100 เท่า มีสรรพคุณแก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ขับลม บำรุงปอด แก้คอแห้ง แก้พิษ ช่วยย่อยอาหาร รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กในระยะเริ่มแรก แก้เบื่ออาหาร แก้ปวดท้อง แก้ไข้ ระงับประสาท แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังและปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง บำรุงกล้ามเนื้อ ช่วยให้ฟื้นตัวจากไวรัสตับอักเสบได้เร็วขึ้น บรรเทาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ รักษาโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืด และยังถูกนำมาใช้เพื่อแต่งรสชาติอาหาร และแต่งกลิ่นรสยาให้หวานและช่วยกลบรสยา
นอกจากนี้ ยังมีสารเคมีนับร้อยชนิดในราก เช่น สารไฟโตเอสโตรเจนและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบของผิว จึงช่วยลดจุดด่างดำ ฝ้า กระ บนใบหน้าได้เป็นอย่างดี
ในประเทศจีน ชะเอมเทศได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยอดสมุนไพรขจัดพิษ” ถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆของสมุนไพรที่ช่วยขจัดสารพิษได้ การรับประทานเป็นประจำในปริมาณน้อยๆ จะช่วยกำจัดพิษที่สะสมในร่างกายให้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิษที่สะสมในเลือดและตับ
ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการศึกษาทางคลินิก พบว่า รากชะเอมเทศช่วยลดระดับเอนไซม์ตับ ทำให้เซลล์ตับดีขึ้น รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และรักษาการอักเสบได้ทุกประเภท
ส่วนสหรัฐอเมริกา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้พบสารประกอบ 2 ชนิด ในสารสกัดจากรากชะเอมเทศ มีสรรพคุณป้องกันแบคทีเรีย สเตรพโตคอกคัส มิวแทนส์ได้ ซึ่งเป็นตัวการทำให้ฟันผุ ขณะที่สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐ พบว่า สารสกัดจากชะเอมเทศช่วยป้องกันการทำลายของรังสียูวี สามารถลดผลกระทบจากแดดเผาได้ เนื่องจากทำปฏิกิริยาเสมือนสารต้านอาการอักเสบ
และที่สำนักงานวิจัยโรคมะเร็งของอังกฤษ ก็เชื่อว่า ชะเอมเทศสามารถป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
สำหรับสรรพคุณในส่วนอื่นๆของชะเอมเทศ ได้แก่
เปลือกของราก : มีรสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และทำให้คลื่นเหียน อาเจียน
ใบ : รสหวานเอียน ทำให้เสมหะแห้ง และเป็นยารักษาดีพิการ
ดอก : รสหวานเย็น ใช้รักษาอาการคัน และรักษาพิษฝีดาษ
ฝัก : รสหวาน บำรุงกำลัง แก้คอแห้ง ทำให้ชุ่มอก
ผล : รสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และอาการคอแห้ง ทำให้ชุ่มคอ
ข้อควรระวัง!!
ชะเอมเทศแม้มีพิษน้อย แต่การรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือเกิดอาการบวม ดังนั้น จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยที่โลหิตมีโพแทสเซียมต่ำมากหรือน้อยเกินไป หรือผู้ป่วยโรคไตบกพร่องเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย มีคณา)