xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พศ.ชงของบกลาง 130 ล้านบาท บูรณะ 115 วัด เสียหายจากแผ่นดินไหว
พศ.ชงของบกลาง 130 ล้านบาท บูรณะ 115 วัด เสียหายจากแผ่นดินไหว

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้า การของบประมาณเพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือว่า ได้จัดทำรายงานสรุปความเสียหายจำนวน 115 วัด ใช้งบประมาณ 130 ล้านบาท โดยได้จัดทำแผนของบประมาณและแนวทางการบูรณะซ่อมแซม และได้ส่งไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาแล้ว

ส่วนนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรได้จัดทำรายงานสรุปความเสียหาย เพื่อเสนอของบประมาณเพื่อใช้ในการบูรณะโบราณสถาน ที่ได้รับความเสียหาย 17 แห่ง จำนวน 26 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน จำนวน 6 วัด อาทิ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน, วัดพระธาตุลานเตี้ย จังหวัดพะเยา และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ จำนวน 10 วัด และอาคาร 1 แห่ง อาทิ วัดพระธาตุจอมกิตติ จังหวัดเชียงราย, วัดดงมะดะ จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้ ยังมีงานสำรวจเก็บสภาพโบราณสถานที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ที่ต้องจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติจำนวน 10 แห่ง รวม 3 ล้านบาท ได้แก่ เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ, เจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, เจดีย์ติโลกราช วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่, เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี, เจดีย์วัดกู่ละมัก, เจดีย์วัดพระยืน, เจดีย์วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน, เจดีย์พระธาตุจอมกิตติ จังหวัดเชียงราย และเจดีย์พระธาตุกองมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 29 ล้านบาท

กรมควบคุมโรคเตือนอันตราย ‘ไข้หวัดใหญ่ 2009’ รุนแรงกว่าเดิม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดเมื่อปี 2552 ในปีนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง หลังยอดผู้ป่วยพุ่งสูง 28,607 ราย เสียชีวิต 31 ราย

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2557 นี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตมีมากเมื่อเทียบกับในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยที่พบได้มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 7-9 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี และ 10-14 ปี

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่าย เชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการสัมผัส หรือไอ จาม และการปนเปื้อนของเชื้อในภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวรถโดยสาร โดยอาจติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางมือที่เปื้อนเชื้อ เมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก

อาการที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูง เกิน 2 วันหรือ ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ถ้ามีไข้สูงเกิน 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคจะค่อยๆดีขึ้นเอง เมื่อครบวงจรการติดเชื้อของไวรัส

การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป

ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว ควรคาดหน้ากากป้องกันตลอดเวลา หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม งดการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้ว 1 วัน

ศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก ช่วยไทยบูรณะโบราณสถาน

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมิ่อปี 2554 ทำให้แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบและเสียหายอย่างหนัก

ศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก ได้แสดงความเป็นกังวลในการดำเนินการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานในประเทศไทย โดยเฉพาะมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ทั้งวัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดดุสิตาราม จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถาน หรืออิโคโมส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของศูนย์มรดกโลกสำหรับแหล่งมรดกวัฒนธรรม มาให้ข้อแนะนำในการรักษาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของมรดกโลกเอาไว้อย่างถูกวิธีและดีที่สุด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการดูแลรักษามรดกโลก ซึ่งอาจจะเกิดภาวะวิกฤตในปีต่อๆไป

ม.พะเยา ถวายปริญญาเอก “สาธารณสุขศาสตร์” แก่ “หลวงพ่อจรัญ” วัดอัมพวัน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เภสัชกร ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ แก่พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยพะเยา ได้มีมติเอกฉันท์อนุมัติ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยนายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วยประชาชนกว่า 700 คน ร่วมแสดงมุทิตาสักการะ ณ ศาลาสุธรรมภาวนา วัดอัมพวัน

ทั้งนี้ ได้มีการประกาศเกียรติคุณพระธรรมสิงหบุราจารย์ ว่าเป็นพระที่มีชื่อเสียงในการสอนวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในช่วงวันหยุดมีประชาชนมาปฏิบัติธรรมกว่า 2,000 คน

นอกจากกิจกรรมสำคัญที่มุ่งถึงสารธรรมดังกล่าวแล้ว พระธรรมสิงหบุราจารย์ยังมีคุณูปการแก่สังคมเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสาธารณะสงเคราะห์ ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้เป็นสังคมที่ "อยู่ดี กินดี" โดยการจัดตั้งกองทุนอาหารกลางวัน จัดตั้งธนาคารข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ จัดตั้งกองทุนธนาคารน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมในทุกพื้นที่

กับทั้งให้ความอนุเคราะห์แก่ทางราชการและชุมชนด้วยการสมทบทุนการก่อสร้างสาธารณสถานต่างๆ อาทิ อาคารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารเรียน 100 ปี โรงเรียนสิงห์บุรี อาคารเรียนปริยัติธรรม วัดพิกุลทอง จังหวัดสิงห์บุรี ศาลา 72 ปี ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น ฯลฯ

ตลอดจนบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้ที่ประสบปัญหาทางสุขภาพ ด้วยการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ จัดซื้อรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์ มอบให้ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นอาทิ

พระธรรมสิงหบุราจารย์ได้เพียรพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ อันจะทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

เริ่มแล้วฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฟรี

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ปี2557 นี้ สธ.ได้จัดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฟรี ให้แก่ประชาชน 2 กลุ่มเสี่ยง รวม 3.4 ล้านโดส คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงสัมผัสโรคขณะดูแลผู้เจ็บป่วยจำนวน 4 แสนคน และกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง 4 กลุ่ม เมื่อป่วยแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และกลุ่มผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด รวม 3 ล้านคน

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดป่วยตายในกลุ่มเสี่ยงได้ โดยกลุ่มที่ไม่ควรฉีดคือเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่รุนแรง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง หรือมีไข้เจ็บป่วยเฉียบพลัน โรคประจำตัวกำเริบ ส่วนอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนมักจะปวดบวมที่บริเวณฉีด อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง และหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ (บัตรทอง) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.

ประกันสังคมขยายความคุ้มครองผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบขยายความคุ้มครองการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ประกันตน 5 รายการ ประกอบด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต

นอกจากนี้ ในส่วนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์นั้น สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่ารักษาทั้งผู้บริจาคอวัยวะ และผู้รับบริจาคโดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคสมองตาย ผู้บริจาคที่มีชีวิต และผู้รับบริจาค ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยจ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขแต่ละอวัยวะและตามแนวทางการรักษาที่กำหนด และค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งได้แก่ การตรวจรักษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน

โดยปี 2557 นี้ สำนักงานประกันสังคมคาดการณ์งบประมาณที่จะต้องใช้ในการขยายความคุ้มครองข้างต้นประมาณ 23 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละรายการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดและค่ายากดภูมิคุ้มกันปีแรก โดยค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่ให้สิทธิ์ ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ปอด 1,055,000 บาท ต่อราย การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 1,166,400 บาท ต่อราย การปลูกถ่ายตับอ่อน 1,166,400 บาทต่อราย ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะ ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ และปลูกถ่ายไต 1,055,000 บาท ต่อราย และกรณีอื่นๆ 1,166,400 บาท ต่อราย รวมทั้งค่าใช้จ่ายยากดภูมิคุ้มกันปีที่ 3 เป็นต้นไป จนถึงตลอดชีวิต 222,000-240,000 บาท ต่อราย

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ ข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถเข้ารับการผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แต่จะต้องขออนุมัติสิทธิ์ก่อน และเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในความตกลง ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะขอความร่วมมือสถานพยาบาลที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 1506 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)
ศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก ช่วยไทยบูรณะโบราณสถาน
ม.พะเยา ถวายปริญญาเอก “สาธารณสุขศาสตร์” แก่ “หลวงพ่อจรัญ” วัดอัมพวัน
เริ่มแล้วฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฟรี
กำลังโหลดความคิดเห็น