ปลัด สธ. ถอดชุดกากีโชว์รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รณรงค์ให้ประชาชน 4 กลุ่มเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์เข้ารับบริการฉีดวัคซีนฟรี รวม 3.4 ล้านโดส ด้านกรมควบคุมโรคย้ำคนท้องควรฉีด ยันวัคซีนไม่ได้ทำให้เด็กแท้งตายในท้องตามข่าว
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ปีนี้ สธ.ได้จัดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฟรีให้แก่ประชาชน 2 กลุ่มเสี่ยง รวม 3.4 ล้านโดส คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงสัมผัสโรคขณะดูแลผู้เจ็บป่วยจำนวน 4 แสนคน และกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง 4 กลุ่ม เมื่อป่วยแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และกลุ่มผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด รวม 3 ล้านคน โดยปีนี้ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นจากปกติ มิ.ย. เป็นเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป เพื่อให้ป้องกันก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดใหญ่ เพื่อลดการระบาดและเสียชีวิตจากโรคนี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า วัคซีนจำนวน 3.4 ล้านโดส นั้นใช้งบจาก สปสช. 300 ล้านบาท และ คร. ในการจัดหาอีก 120 ล้านบาท สำหรับประชาชนนอกกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวงบประมาณในการจัดหาวัคซีนนี้อาจจะไม่ครอบคลุ หากต้องการรับบริการฉีดวัคซีนสามารถไปรับบริการได้ที่ รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ที่มีให้บริการ ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่โรงพยาบาลกำหนด
“ข้อสังเกตของไข้หวัดใหญ่ปีนี้คือ การกลับมาระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งขณะนี้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ที่ระบาดหนักเนื่องจากระบาดในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน เช่น อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม หวัด 2009 การระบาดเริ่มลดลง แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เริ่มมีการระบาดมากขึ้น การฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวัคซีนรวมทำจากเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 สายพันธุ์เอ H3N2 และสายพันธุ์ B จะช่วยลดป่วยตายในกลุ่มเสี่ยงได้” รองอธิบดี คร. กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ก่อนฉีดวัคซีนเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ ตรวจคัดกรองก่อนทุกราย และให้ความรู้ก่อนการฉีด โดยกลุ่มที่ไม่ควรฉีดคือเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่รุนแรง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง หรือมีไข้เจ็บป่วยเฉียบพลัน โรคประจำตัวกำเริบ ควรเลื่อนการฉีดออกไปก่อน ส่วนอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนมักจะ ปวดบวมที่บริเวณฉีด อ่อนเพลีย มักเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง และหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ผลการฉีดในปีที่ผ่านมา ได้ฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 97 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 120 ไม่พบรายใดเกิดผลข้างเคียงรุนแรง โดยใช้วัคซีนที่เตรียมไว้ได้ถึงร้อยละ 99
“ผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ปีนี้เป็นตคนท้อง 4-5 ราย ปัญหาคือคนท้องไม่กล้าฉีดวัคซีน เพราะหลายปีก่อนมีข่าวว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้เด็กแท้งในครรภ์ แต่จากการดำเนินการฉีดมาแล้ว 3-4 ปี พบว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะปกติอัตราการแท้งของคนท้องนั้นจะอยู่ที่ 10% อยู่แล้ว และบังเอิญมาประจวบเหมาะกับช่วงมีการฉีดวัคซีนพอดี นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำว่ากลุ่มคนท้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะภูมิคุ้มกันจะส่งไปถึงลูกในท้องด้วย” รองอธิบดี คร. กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัย และสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ แม้ความคุ้มกันจะไม่ถึง 100% ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ประมาณ 60-80% ในคนปกติ ส่วนคนที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันไม่ได้มาก ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทเอกชนกำลังเริ่มผลิตวัคซีนจาก 3 เชื้อ ให้เป็น 4 เชื้อ โดยเป็นสายพันธุ์เอ 2 เชื้อและสายพันธุ์บี 2 เชื้อ ก็จะช่วยให้ความคุ้มกันมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังแถลงข่าว นพ.ณรงค์ ได้เป็นพรีเซนเตอร์รณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยได้ถอดชุดข้าราชการสีกากีออก และให้พยาบาลจากสถาบันบำราศนราดูร ทำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย