xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! ลูกพุดเดิล 3 ตัวติดเชื้อ “หมาบ้า” หลุดขายข้าง ม.มหาสารคาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! ลูกหมาพันธุ์พุดเดิล 3 ตัวติดเชื้อ “พิษสุนัขบ้า” หลุดขายข้าง ม.มหาสารคาม หลัง สธ.ได้รับแจ้งแม่หมาตายขณะทำหมัน ตรวจพบติดเชื้อ ส่วนลูกหมาอีก 2 ตัวที่ออกลูกพร้อมกัน พบตายแล้ว และมีการติดเชื้อเช่นกัน เตือนฉีดวัคซีนด่วน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มหาสารคามว่า จากการส่งตรวจหัวสุนัขพันธุ์พุดเดิล อายุ 3 ปี ซึ่งตายขณะทำหมันกับสัตวแพทย์ ที่ จ.มหาสารคาม พบว่า ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งจากการส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเพื่อสอบสวนโรคพบสุนัขตัวดังกล่าวเป็นเพศเมีย ก่อนหน้าได้ออกลูก 5 ตัว เมื่อ ม.ค.2557 โดยลูกสุนัขถูกส่งไปเลี้ยงที่กรุงเทพฯ 2 ตัว จากนั้นจึงถูกส่งไปพิษณุโลก 1 ตัว แต่ถูกรถชนตาย อีกตัวส่งไปที่บุรีรัมย์ก็ตายเช่นกัน จากการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเช่นกัน สำหรับลูกสุนัขอีก 3 ตัวเจ้าของได้นำไปขายที่ตลาดนัดข้าง ม.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.

“ขณะนี้ได้สั่งการให้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องดำเนิน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 2.ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขทั้งหมด พาสุนัขไปฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ 3.ให้เร่งติดตาม ผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับสุนัขที่ติดเชื้อทั้งแม่และลูก 5 ตัวทุกราย ทั้งในจังหวัดมหาสารคาม กรุงเทพฯ พิษณุโลก และบุรีรัมย์ ไปฉีดวัคซีนด่วน และให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีประวัติสัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่พบใน จ.มหาสารคาม เพื่อป้องกันการเสียชีวิต เนื่องจากโรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่หากหลังติดเชื้อและมีอาการป่วยแล้ว จะไม่มีหนทางรักษา เสียชีวิตทุกรายภายใน 10 วัน” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 95 มีสาเหตุมาจากสุนัขกัดหรือข่วน สามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าในคน ระยะฟักตัวนานหลายเดือนถึงเป็นปี บางรายอาจสั้นมากคือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย คันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด และลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง พูดเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

นพ.โสภณ กล่าวว่า โอกาสป่วยหลังถูกกัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ 1.ขนาดบาดแผล หากขนาดใหญ่ ลึกหรือหลายแห่ง เชื้อจะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้มาก 2.ตำแหน่งที่ถูกกัด เช่น ศีรษะ หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก อย่างมือหรือเท้า เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย 3.อายุ โดยเด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคต่ำกว่า และ 4.สายพันธุ์ของเชื้อ โดยสายพันธุ์จากสัตว์ป่าอาการจะรุนแรงกว่าสัตว์เลี้ยง หากประชาชนต้องการซื้อลูกสุนัขไปเลี้ยง ขอแนะนำดังนี้ 1.ซื้อจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือคือ มีประวัติพ่อแม่สุนัข ประวัติการฉีดวัคซีน 2.หลังจากซื้อแล้ว ให้รีบพาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์และฉีดวัคซีนตามเกณฑ์อายุ และ 3.หากสุนัขเลี้ยงตายผิดปกติ ให้ส่งหัวสุนัขตรวจ โดย กทม.ส่งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างจังหวัดส่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีข้อแนะนำดังนี้ 1.นำสุนัขไปฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนด 2.ต้องไม่ปล่อยสุนัขเลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง 3.ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย เน้น 5 อย่า คือ อย่าแหย่ให้โกรธ อย่าเหยียบหรือทำให้ตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบจานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ” อธิบดี คร.กล่าวและว่า หากถูกสุนัขกัดขอให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายครั้ง กักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน และไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีน หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีอาการดังนี้ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับโดยระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วนำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ


กำลังโหลดความคิดเห็น