xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! ยังจับ “ลูกพุดเดิล” ติดเชื้อหมาบ้าไม่ได้ คาด นศ.ม.มหาสารคามซื้อไปแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! กรมปศุสัตว์ยังค้นหาตัวผู้ซื้อลูกหมาพันธุ์พุดเดิลติดเชื้อ “พิษสุนัขบ้า” ที่หลุดขายข้าง ม.มหาสารคาม ไม่ได้ ชี้สุดอันตราย เร่งปูพรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกัน พร้อมให้ความรู้ประชาชนในรัศมีรอบ 5 กิโลเมตร สั่งผู้นำ-อาสาหมู่บ้านเฝ้าระวังโรค
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีรายงานข่าวลูกสุนัขพันธุ์พุดเดิลติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหลุดขายที่ตลาดข้างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุผู้ซื้อได้ ทราบเพียงแต่เป็นนักศึกษา ม.มหาสารคาม ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โกสุมพิสัย และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการระบาด และดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า วิธีการปฏิบัติหลังสัมผัสสุนัข และแมวสงสัยในพื้นที่รอบจุดเกิดโรครัศมี 5 กิโลเมตร และขอความร่วมมือผู้นำและอาสาสมัครหมู่บ้านในการเฝ้าระวังโรค

น.สพ.ทฤษดี กล่าวว่า ขณะนี้จนถึงสิ้น เม.ย. นี้ กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้องทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพสัตว์สุนัขอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป ต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม นอกจากช่วงเวลาดังกล่าวควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนกระตุ้นตามที่สัตวแพทย์กำหนด และฉีดซ้ำทุกปีไม่ต้องรอหน้าร้อน เพราะโรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งการฉีดวัคซีนควรดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโดยบุคคลแอบอ้าง นอกจากนี้ หากสุนัขตายหรือมีอาการสงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าให้ทำการแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์เพื่อส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 95 มีสาเหตุมาจากสุนัขกัดหรือข่วน รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคน ระยะฟักตัวอาจสั้นมากคือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการในคนเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

นพ.โสภณกล่าวว่า โอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ 1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึกหรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก 2. ตำแหน่งที่ถูกกัดหรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย 3. อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และ 4. สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง

นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า คือ 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ขณะที่เห่าบริเวณ ช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ 2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ) 3. เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน

“โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อ และมีอาการแล้ว เสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด คาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์ กัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ” ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดี คร. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น