xs
xsm
sm
md
lg

หวัดนกจ่อไทยเขมรป่วย3ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี กระทรวงสาธารณสุข กัมพูชายืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เป็นรายที่ 3 ของปี 2557 ว่า สธ.ได้ประชุมติดตามประเมินสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในไทย ซึ่งไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อติดต่อกันนาน 7 ปีแล้ว แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศใกล้เคียงต่อเนื่อง จึงมอบให้กรมควบคุมโรค (คร.) ประชุมความร่วมมือการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นใน 3 กลุ่ม คน สัตว์ปีกเลี้ยง และสัตว์ปีกป่า ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นอกจากนี้ ได้สั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาด และจะประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ประชาชนอาจป่วยเป็นไข้หวัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ขอให้พบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง อย่าซื้อยากินเอง โดยกำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยและเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลรักษาตามแนวทางการรักษา โดยให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้จัดเตรียมยาไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบพร้อมผลิตยาดังกล่าวไว้อย่างเพียงพอ
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ในแต่ละปีไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 50,000 ราย ในปีนี้ สธ.ได้วางแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยและจะมีอาการรุนแรง เสี่ยงอันตรายชีวิตสูง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งฉีดให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 250,000 คน และเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกด้วยรวมทั้งหมด 3.4 ล้านโดส จะฉีดให้เร็วขึ้น ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ คือฤดูฝน เพื่อประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงโรค โดยจัดซื้อร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณ เม.ย. 57 และจะเริ่มฉีดตั้งแต่พ.ค.57 เป็นต้นไป จากการประเมินผลหลังที่ประเทศไทยมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการเสียชีวิตกลุ่มเสี่ยง ที่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา พบว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบที่ฉีดวัคซีน มีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่าเด็กที่ไม้ได้ฉีดถึงร้อยละ 60
นพ.โอภาส กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้ประชาชนหมั่นออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้พักผ่อนให้มากๆ อาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง และคาดหน้ากากอนามัย รวมถึงพักทำงาน พักโรงเรียนเพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปติดคนอื่น หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันขอให้พบแพทย์ เนื่องจากอาจมีอาการแทรกซ้อนได้

**ตาแดงระบาดหนักเดีอนเดียว1.5หมื่น
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยา คร.ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคตาแดง จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 16 ก.พ. พบผู้ป่วย 15,963 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 25.09 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35 - 44 ปี (ร้อยละ 11.96) รองลงมา คือ 45-54 ปี (ร้อยละ 11.53 ) และ 25-34 ปี (ร้อยละ 11.30) อาชีพส่วนใหญ่ ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง (ร้อยละ 30.0) เกษตรกร (ร้อยละ 23.8) และนักเรียน (ร้อยละ 19.8) จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ปราจีนบุรี และสงขลา
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคตาแดง เป็นโรคตาที่พบได้บ่อย เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่คลุมหนังตาบนและล่าง รวมเยื่อบุตาที่คลุมตาขาว โรคตาแดงอาจจะเป็นแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง มีการรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปี และมีการระบาดมากในภาคเหนือโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล การระบาดมักจะเริ่มระบาดตั้งแต่ ก.ค. - ส.ค. และพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนก.ย. - ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน มักมีการระบาดทุก 2 - 3 ปี โดยไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ติดต่อโดยการสัมผัสตาหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน ผ้าเช็ดหน้า ของใช้มาสัมผัสที่ตาโดยตรง อาการแสดง คันตา มีขี้ตา เยื่อบุตาขาวบวมแดง ปวดตา เป็นต้น โรคแทรกซ้อน ได้แก่ อาการปวดตาหรือมองแสงจ้าไม่ได้ ม่านตาอักเสบ แม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อัตราป่วยในแต่ละปีสูงมากกว่า 100 ต่อแสนประชากรทุกปี การระบาดมักพบในชุมชนขนาดใหญ่ สถานที่แออัด โรงเรียน สถานที่ดูแลเด็กเล็ก หรือสถานที่มีกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นการป้องกันโรคควรมุ่งเป้าหมายไปในสถานที่ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล การแยกผู้ป่วยและการให้สุขศึกษาในชุมชน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น