xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันไม่มีคนไทยป่วยไข้หวัดนก เตือน ปชช.และ 4 กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ยันประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อ-ป่วยไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ ทั้งไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากจีน ลั่นมั่นใจศักยภาพห้องปฏิบัติการของกรมวิทย์ฯ ตรวจยืนยันเชื้อได้ ย้ำยังคงเข้มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน พร้อมเตือนประชาชนไม่ควรนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วมาทาน หรือหากสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ และพบอาการป่วยให้เร่งแจ้ง สธ.จังหวัด อสม. กำชับผู้ที่ต้องเดินทางไปในประเทศที่มีการติดเชื้อ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงให้เพิ่มความระมัดระวังหลีกเลี่ยงไปตลาดขายสัตว์ปีก โดยหากพบอาการผิดปกติหลังเดินทางกลับ 15 วัน ให้เร่งไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการรับมือโรคไข้หวัดนกภายหลังมีข้อมูลของคณะวิจัยจีน พบโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่คือเชื้อเอช 10 เอ็น 8 (H10N8) ที่ทำให้หญิงชราวัย 73 ปี 1 ราย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2556 และพบผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ติดเชื้อเมื่อเดือนมกราคม 2557 โดยประเด็นที่น่าห่วงคือ การที่ไวรัสสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการติดเชื้อในเนื้อเยื่อระดับลึกอย่างเช่นในปอด รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้นั้น ว่า ข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์มากในการเตรียมมาตรการให้พร้อมรับมือไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 ได้ย่างทันท่วงทีในทุกๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีรายงานพบในต่างประเทศ เช่น เอช 7เอ็น 9 (H7N9) เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ทั้งในสัตว์ปีก สัตว์ป่า และในคน และไทยไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ของไทย มีศักยภาพสามารถตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกได้

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้มอบให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ทั้งในคน และสัตว์ปีกอย่างเข้มข้น เน้นหนักพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วย หรือสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2549 และไม่มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ปีกตั้งแต่ พ.ศ.2551เป็นต้นมา แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากภูมิภาคใกล้เคียงยังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเดินทางข้ามพรมแดนตลอดเวลา และให้กรมควบคุมโรคประสานงานจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด
ภาพ www.bangkok-today.com
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ แต่ยังคงเน้นมาตรการการเฝ้าระวังโรคทั้งในคน และในสัตว์ พร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาล สำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงกำลังตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้สูงอายุ ที่จะเดินทางไปพื้นที่ซึ่งมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ไม่สัมผัสสัตว์ปีกไม่ไปตลาดขายสัตว์ปีก หมั่นล้างมือ และภายหลังกลับจากต่างประเทศภายใน 15 วัน หากมีอาการป่วยมีไข้สูง ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขอให้คาดหน้ากาก หรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น ขอให้รีบพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง และแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์ เพื่อรับการรักษาถูกต้องทันเวลา ขณะนี้ยาต้านไวรัสยังใช้ได้ผลดี

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือกันประชาชนทุกคนให้ช่วยกันสังเกตอาการของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ และป่วยจากไข้หวัดนก ได้แก่ ซูบผอม ซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ไข่น้อยลง หงอน และเหนียงบวม มีสีคล้ำ ท้องเสีย หากพบสัตว์มีอาการดังกล่าว ขอให้สงสัยอาจติดเชื้อไข้หวัดนก และเร่งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม.หรือผู้นำชุมชน เพื่อทำการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วที่สุด ที่สำคัญห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้ว หรือกำลังป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่าย หรือรับประทาน เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก ให้สวมถุงมือ หรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก

ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงาน ณ วันที่ 23 มกราคม 2557 ว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2546-17 มกราคม 2557 พบผู้ป่วยไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 จำนวน 649 ราย เสียชีวิต 385 ราย จาก 16 ประเทศ ส่วนไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อ จำนวน 219 ราย เสียชีวิต 52 ราย ในประเทศจีน ประชาชนที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค 0-2590-3159 ในเวลาราชการ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น