xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๑๐) เครื่องปกปิดสัจจะในข่าวสาร ตัณหาร้อยแปด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


สมุทัยมีวิธีการหลายอย่างที่จะผูกใจชาวเมืองจิตตนคร เพื่อที่จะเป็นผู้ครองใจชาวจิตตนครทั้งหมดตลอดไป

นอกจากพรรคพวกที่เป็นหัวโจกทั้ง ๓ ลูกมือคือทุจริตทั้ง ๓ และพรรคพวกหัวไม้หัวมีดในลักษณะต่างๆ อีก ๑๖ ดังกล่าวแล้ว สมุทัยยังวางพรรคพวก นอกจากนั้น ยึดครองจุดสำคัญต่างๆ ของจิตตนคร เพื่อที่จะรักษาอำนาจของตนไว้ให้มั่นคง คือจุดระบบสื่อสารทั้งชั้นนอก ๕ ชั้น และชั้นใน ๑ ชั้น รวมเป็น ๖ จุด เพราะระบบสื่อสารเหล่านี้นำข่าวสารต่างๆ เข้าสู่เจ้าเมืองจิตตนคร

โดยปกติเจ้าเมืองจะติดต่อทราบเรื่องต่างๆได้ก็แต่โดยทางสื่อสารนี้เท่านั้น ฉะนั้น สมุทัยจึงใช้เครื่องมือทางมายาศาสตร์อย่างหนึ่งเรียกว่า "อารมณ์" เป็นเครื่องแปลกปลอมปกปิด "สัจจะ" ในข่าวสารทั้งหลาย แต่แสดงเป็นอีกรูปหนึ่ง โดยแต่งตั้งพรรคพวกให้อยู่เฝ้าประจำระบบสื่อสารทั้ง ๖ นั้นแหละ แห่งละ ๓ คน ชื่อว่า "กามตัณหา" (ความทะยานอยากในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายถูกต้อง) ที่น่าปรารถนาพอใจ) คนหนึ่ง "ภวตัณหา" (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) คนหนึ่ง "วิภวตัณหา" (ความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่) คนหนึ่ง มีชื่อตรงกันทั้ง ๖ แห่ง

๓ คนที่ประจำอยู่ที่ระบบตาเมืองก็ผสมอารมณ์เข้าไปกับรูปต่างๆ
๓ คนที่ระบบหูเมืองก็ผสมอามณ์เข้าไปกับเสียงต่างๆ
๓ คนที่ระบบจมูกเมืองก็ผสมอามณ์เข้าไปกับกลิ่นต่างๆ
๓ คนที่ระบบลิ้นเมืองก็ผสมอารมณ์เข้าไปกับรสต่างๆ
๓ คนที่ระบบกายเมืองก็ผสมอารมณ์เข้าไปกับสิ่งต่างๆ ที่กายถูกต้อง

ทั้งอีก ๓ คนที่ระบบใจเมืองชั้นใน ก็คอยผสมอารมณ์เข้าไปกับเรื่องต่างๆอีกชั้นหนึ่ง รวมเข้าตอนนี้ก็มี ๑๘ คนแล้ว

แต่มิใช่เท่านี้ สมุทัยมีความรอบคอบมากกว่านั้น คือ ได้จัดให้ประจำกาลทั้ง ๓ เหมือนอย่างจัดยามประจำทุกยาม คือ ประจำอดีตกาล ๑๘ คน อนาคตกาล ๑๘ คน ปัจจุบันกาล ๑๘ คน รวมเป็น ๕๔ คน

ดูก็น่าจะพอ แต่ยังไม่พอสำหรับสมุทัยผู้รอบคอบถี่ถ้วนเป็นอย่างยิ่ง ยังจัดไว้สำหรับประจำกำกับตนเอง ๕๔ คน ประจำกำกับผู้อื่นอีก ๕๔ คน จึงรวมเป็น ๑๐๘ คน เรียกตามภาษาของชาวจิตตนครว่า "ตัณหา ๑๐๘"

ฉะนั้น เจ้าเมืองและชาวจิตตนครทั้งปวง จึงได้รับข่าวที่ถูกอารมณ์เคลือบแคลงแล้ว เรียกได้ว่ามิใช่เป็นข่าวสารที่จริงแท้อยู่เสมอ เพราะสมุทัยได้วาง "ตัณหา ๑๐๘" ดังกล่าวยึดระบบสื่อสารทั้งสิ้นไว้ทั้งชั้นนอกชั้นใน เจ้าเมืองจึงถูกลวงให้หลง คือให้เข้าใจผิด เห็นผิด อยู่เสมอ

บางคราวก็แสดงความยินดีปรีดาอยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ บางคราวก็หงุดหงิดขุ่นเคืองขัดแค้น อยากให้พินาศเสียหาย สุดแต่อารมณ์ที่สมุทัยและพรรคพวกส่งเข้ามา

ชาวเมืองจิตตนครจึงมีจิตใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่เสมอ ไม่สงบ เป็นโอกาสให้หัวโจกทั้ง ๓ เข้าสิงผสมได้โดยง่าย เพราะสมุทัยจัดให้คอยจ้องโอกาสอยู่ทุกขณะแล้ว ด้วยสังเกตเครื่องมือสำคัญคือ "อารมณ์" และลอบเข้ามากับอารมณ์ทันที การปฏิบัติงานของสมุทัยและพรรคพวกทั้งปวงรวดเร็วยิ่งนัก เท่ากับความเร็วของจิต หรือความเร็วของแสงก็น่าจะเทียบได้หรือยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวแล้วในครั้งก่อนว่า อาวุธหรือผู้ที่จะปราบพวกหัวมีดหัวไม้ของฝ่ายสมุทัยมีอยู่ คือ ปัญญา และปัญญานี้เมื่ออบรมเสมอ ก็เหมือนอาวุธที่คมที่ลับอยู่เสมอ ย่อมใช้การได้ผลอย่างดียิ่ง คือฟันลงไปที่ใดก็ขาดลงไปที่นั้น ตัณหา ๑๐๘ ก็สามารถจะทำลายให้สิ้นได้ด้วยปัญญาที่ได้รับการอบรมบริบูรณ์เต็มที่แล้วเช่นกัน

แต่สำหรับชาวจิตตนครที่เป็นสามัญชน การอบรมปัญญาเพียงให้สามารถรักษาใจ ไม่ถึงกับให้ตกเป็นทาสของอารมณ์จนเกินไป พอให้มีความร่มเย็นเป็นสุขมากกว่าร้อนรนทุกข์ ก็นับว่าดีแล้ว

และการบริหารจิตนี้แหละคือการอบรมสติอบรมปัญญา ให้เกิดทันและให้สามารถรักษาจิตใจหรือจิตตนคร ให้ไม่ถูกอารมณ์อันเป็นสมุนฝ่ายร้ายของสมุทัยเข้ามีอำนาจเหนือ จนถึงกับจะใช้อำนาจก่อให้เกิดความวุ่นวายเร่าร้อนได้เกินไป

บ้านเมืองใดมีกำลังอาวุธบริบูรณ์ ย่อมจะป้องกันข้าศึกศัตรูมิให้รุกรานก่อความเดือดร้อนได้ฉันใด ผู้ใดมีกำลังอาวุธคือปัญญาเพียงพอ ย่อมจะป้องกันอารมณ์มิให้รุกรานก่อความเดือดร้อนได้ฉันนั้น

การอบรมปัญญาตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงบริบูรณ์แล้วด้วยพระปัญญาคุณ จะเป็นสิ่งที่ผู้ปรารถนาความร่มเย็นเป็นสุขพึงกระทำทั่วกัน

กิเลสพันห้า

หัวโจกทั้ง ๓ นั้น เที่ยวหาพรรคพวกได้อีก ๗ คน รวมเป็น ๑๐ คนด้วยกันก่อน คือ ๑. โลโภ (ความโลภอยากได้ของของเขา) ๒. โทโส (ความโกรธประทุษร้ายเขา) ๓. โมโห (ความหลง) ทั้ง ๓ นี้เป็นพรรคพวกชั้นหัวโจกของสมุทัยอยู่แล้ว ๔. มาโน (ความถือตัวดูหมิ่นผู้อื่น) ๕. ทิฎฐิ (ความเห็นผิด) ๖. วิจิกิจฉา (ความลังเลไม่แน่นอนใจ) ๗. ถีนัง (ความง่วงเหงาเกียจคร้าน) ๘. อุทธัจจัง (ความฟุ้งซ่าน) ๙. อหิริกัง (ความไม่ละอายใจ ไม่รังเกียจต่อความชั่ว) ๑๐. อโนตตัปปัง (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)

คน ๑๐ คนนี้ต่างไปหาพรรคพวกอีกคนละ ๑๕๐ คน โดยมาจัดแบ่งเป็น ๑๕๐ หมู่ หมู่ละ ๑๐ คน ประจำนามธรรมและรูปธรรมของชาวจิตตนครทุกคนโดยครบถ้วน คือสมุทัยได้ศึกษาสรีรวิทยาและจิตวิทยารู้โดยถี่ถ้วน ว่าชาวจิตตนครทุกคนมีจิต ๘๙ ดวง นับเป็น ๑ มีเจตสิก (ธรรมที่เกิดในจิต) ๕๒ นี้เป็นส่วนจิต กับมีรูปที่เรียกว่า นิปผันนรูป (รูปที่สำเร็จมาแล้ว) ๑๘ พร้อมกับทุกข์ ๔ (คือชาติ ชรา พยาธิ มรณะ) นี้เป็นส่วนสรีระหรือรูป (ตามคัมภีร์อภิธรรม) จึงรวมเป็น ๗๕ แจกเป็นนามธรรม ๗๕ แจกเป็นรูปธรรม ๗๕

เพราะชาวจิตตนครทุกคนประกอบด้วยนามธรรม รูปธรรมรวมกันอยู่เป็นคนหนึ่งๆ จะแยกถือเอาเฉพาะอย่างเดียวไม่ได้

ฉะนั้น เพื่อมิให้ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย จึงได้นับจำนวนเป็นส่วนละ ๗๕ หน่วยเสียเลยทีเดียว เพื่อที่จะได้ส่งพรรคพวกไปคุมเป็นรายหน่วย หน่วยละหมู่ คือตามที่ได้กล่าวแล้ว ว่าจัดแบ่งเป็น ๑๕๐ หมู่ หมู่ละ ๑๐ คน เพื่อควบคุมนามรูปที่แบ่งออกส่วนละ ๗๕ เป็น ๑๕๐ หน่วยนั้น กระจายกำลังออกคุมหน่วยละหมู่ทีเดียว

ดังนั้น ๑๕๐ คูณด้วย ๑๐ จึงรวมเป็น ๑,๕๐๐ เรียกว่า "กิเลส ๑,๕๐๐" เป็นพรรคพวกสมุทัยจัดไว้ให้มีหน้าที่ประจำกำกับภายในบ้านของชาวจิตตนครทุกคน ทุกกระเบียดนิ้วก็ว่าได้ ไม่ยอมให้ใครพ้นออกไปจากการควบคุมเลย จะคิดอะไร จะทำอะไร จะเดิน ยืน นั่ง นอนที่ไหน ก็อยู่ในสายตาของหมู่ใดหมู่หนึ่งแห่งกิเลสทั้ง ๑๕๐ หมู่นี้ทั้งสิ้น

สมุทัยจึงนับว่าเป็น "นักการโลก" ที่สามารถมาก เพราะต้องการที่จะครองโลกทั้งสิ้นไว้ในอำนาจ ไม่ประสงค์จะให้ใครผู้ใดพ้นไปจากอำนาจของตนเลย ลองนึกเขียนรูปภาพภายในบ้านของชาวจิตตนครแต่ละคน ก็คงจะเป็นภาพที่เต็มยั้วเยี้ยไปด้วยกิเลสตัณหา เดินไปเดินมาสับสนอลหม่านอย่างบอกไม่ถูก

บ้างก็ครึกครื้นรื่นเริงเต้นรำทำเพลง บ้างก็กริ้วโกรธด่าตีออกท่ายักษ์มารต่างๆ บ้างก็นั่งโงกซึมเซาดูคล้ายกับโง่ดักดาน บ้างก็ซุบซิบวางแผนชั่วร้ายต่างๆ ดังนี้เป็นต้น ต่างแสดงออกตามสันดานของตนๆ ๑๐๘ จำพวก หรือ ๑,๕๐๐ จำพวก ดูภาพแล้วน่าปวดเศียรเวียนเกล้าแทนยิ่งนัก

ได้กล่าวไว้แล้วว่า อาวุธที่จะปราบพรรคพวกของสมุทัยในจิตตนครได้ผลแน่นอน มีอยู่อย่างเดียวคือปัญญา ปัญญานี้มีหลายขั้น ทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ก็เหมือนอาวุธมีคมที่ย่อมมีทั้งคมน้อย คมมาก คมที่สุด อาวุธที่คมน้อยก็ทำให้คมมากได้ ทำให้คมที่สุดได้ ด้วยการหมั่นลับอยู่เสมอ ปัญญาก็เช่นกัน

ปัญญาที่อยู่ในขั้นต่ำก็อาจทำให้เป็นปัญญาขั้นกลางได้ ทำให้เป็นปัญญาขั้นสูงได้ ด้วยการหมั่นอบรมอยู่เสมอ อบรมมากและสม่ำเสมอเพียงไร ปัญญาก็ย่อมจะยิ่งสูงขึ้นได้เพียงนั้น

ดังนั้น แม้เห็นโทษของพรรคพวกเหล่าร้ายของสมุทัย ต้องการจะทำลายให้สิ้นไป หรือปราบให้บรรเทาเบาบางลง ก็จำเป็นจะต้องใช้อาวุธคือปัญญาที่หมั่นลับให้คม คืออบรมให้เป็นปัญญาในขั้นสูงยิ่งขึ้นทุกทีอยู่เสมอ

และการอบรมที่ถูกต้องจริงๆ ก็มีอยู่วิธีเดียวคือ ศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมควร แล้วปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอนไว้นั้น ปัญญาก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สามารถทำลายเหล่าร้ายพรรคพวกสมุทัย ผู้เป็นเหตุแห่งความทุกข์ร้อยแปดพันประการของจิตตนคร ให้ลดน้อยถึงที่สุดลงได้จริงๆ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น