xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๘) หัวโจกของเพื่อนคู่หู และลูกมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


พรรคพวกของสมุทัยมีอยู่มากคนด้วยกัน คนที่เป็นหัวโจกสักหน่อยก็ได้แก่ โลโภคนหนึ่ง โทโสคนหนึ่ง โมโหคนหนึ่ง

โลโภนั้นเป็นคนโลภ อยากได้อะไรต่ออะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งอะไรที่เห็นว่าเป็นของดีมีค่า ดังที่เรียกกันว่า “ทรัพย์” หรือ “เงิน” เป็นต้น ต้องอยากได้ทั้งนั้น

โทโสนั้นเป็นคนเจ้าโทสะ เมื่อมีใครมาขัดคอขัดใจแม้นิดหนึ่ง ก็ต้องบันดาลโทสะเสมอ

โมโหนั้นดูยาก เพราะมักแสดงตนเป็นคนเฉยๆหงิมๆ ชอบนั่งโงกง่วง หรือไม่เช่นนั้นก็ชอบนั่งคิดฟุ้งซ่าน บางทีก็เป็นคนลังเล ไม่แน่นอนว่าจะตกลงอย่างไร บางทีก็วางท่าเป็นคนฉลาด แต่ความจริงไม่รู้อะไรจริง แบบที่เรียกว่าโง่อวดฉลาด และโมโหยังชอบติดพันหรือพัวพันอยู่กับสิ่งต่างๆ ชักชวนโลโภโทโสให้ไปเที่ยวด้วยกันอยู่เสมอ

สมุทัยชอบใช้หัวโจกทั้งสามคนนี้ ให้เที่ยวไปในที่ต่างๆ เป็นสมุนที่ใช้ได้ดังใจ โลโภจะรู้ใจสมุทัย โดยจะพยายามรวบรวมสิ่งที่สมุทัยชอบหรือใคร่จะได้ไว้ให้เสมอ โลโภจะต้องอยากได้ในสิ่งที่สมุทัยใคร่จะได้ เพื่อสนองความต้องการของสมุทัย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง โลโภอยากได้เพื่อสนองความต้องการของสมุทัยเท่านั้น

สมุทัยจึงไว้วางใจในโลโภให้ออกไปกว้านหาสิ่งต่างๆ เป็นคนที่หนึ่ง ครั้นพบบุคคลหรือสิ่งขัดขวาง ก็ใช้โทโสออกไปแสดงอำนาจข่มขู่จนถึงทำร้ายต่างๆ เมื่อยังไม่พบอะไรที่ต้องการหรือขัดขวาง ก็เป็นหน้าที่ของโมโหออกไปทำหน้าตาเฉยๆ

ดังที่กล่าวแล้วว่า โมโหนั้นเป็นคนที่ดูยาก คนทั้งปวงจึงพากันเข้าใจโมโหในลักษณะต่างๆ เช่น บางคนเข้าใจว่า โมโหนั้นเป็นคนขี้โกรธ เมื่อใครโกรธขึ้นก็มักจะพูดกันว่า คนนั้นคนนี้เกิดโมโหขึ้นมา บางคนเข้าใจว่า โมโหเป็นคนมีอุเบกขา คือความวางเฉย เฉพาะคนที่รู้ถึงธาตุแท้ของโมโหเท่านั้น จึงจะเข้าใจว่า โมโหเป็นคนที่เรียกว่า “หลง” เพราะไม่รู้อะไรจริง

หัวโจกทั้ง ๓ คนนี้ มีลูกมือที่เป็นตัวผู้ลงมือทำตามคำสั่งอีก ๓ คน ชื่อ กายทุจริตคนหนึ่ง วจีทุจริตคนหนึ่ง มโนทุจริตคนหนึ่ง สามคนนี้เป็นนักเลงหัวมีดหัวไม้ร้ายกาจนัก ใช้ให้ไปลักของใคร ให้ไปทำร้ายใคร ให้ไปพูดหลอกลวงใคร หรือให้คิดวางแผนทุจริตต่างๆ เป็นได้การเสมอ

ชาวจิตตนครจึงอยู่กันไม่ผาสุกนัก มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเนืองๆ เช่น มีการทำร้ายร่างกายกัน มีการลักขโมยปล้นสะดมกันเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ เชื่อถือคำพูดของกันไม่ค่อยจะได้ จะไว้วางใจกันก็ยากนัก ขืนไว้วางใจกันง่ายๆ ก็จะต้องถูกต้มถูกตุ๋นเปื่อยไป จนเป็นที่หวาดระแวงกันทั่วไป โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนดีคนร้าย

ไม่ใช่แต่ในวงบ้านเท่านั้น ในวงเมืองก็มีทุจริตเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ เพิ่มความทุกข์ร้อนให้เกิดขึ้นแก่เจ้าเมืองจิตตนคร

ความทุกข์อันใดบังเกิดขึ้นในจิตตนคร เจ้าเมืองจะต้องรับทุกข์อันนั้นแทน หรือร่วมด้วยชาวจิตตนครทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตตนคร เจ้าเมืองก็ได้รับร่วมกันไปกับชาวจิตตนครทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน

ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า เจ้าเมืองแห่งจิตตนครหรือจิตนั่นเอง เป็นที่รับทั้งความสุข ทั้งความทุกข์ ทั้งความดี ทั้งความชั่ว

ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วในจิตตนคร หรือในมนุษย์เรา ที่จะไม่เข้าถึงจิต ต้องเข้าถึงจิตทั้งนั้น ไม่ว่าสิ่งสะอาด ไม่ว่าสิ่งสกปรก และเมื่อเข้าไปแล้วก็จะกลับออกเองไม่ได้ด้วย เหมือนมีแต่ทางเข้าที่ใช้สำหรับเป็นทางเข้าแท้ๆ แต่ไม่มีทางออกสำหรับให้ออกเองได้เลย

นอกเสียจากว่า เจ้าเมืองจะมีปัญญา มีความเพียรพยายามสร้างทางออกขึ้น และนำเอาสิ่งที่ไม่ต้องการออกเท่านั้น จึงจะเอาออกได้

นั่นก็คือ เมื่ออารมณ์ใดเข้าถึงจิตแล้ว ก็จะจมฝังลงในจิตทั้งสิ้น จะไม่มีการกลับออกจากจิตโดยลำพังตัวเองเลย

ดังนั้น การสั่งสมอารมณ์ของจิตจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ จิตเป็นที่สั่งสมอารมณ์ทั้งปวงทั้งดีทั้งชั่ว สั่งสมอารมณ์ที่ดีมากก็เป็นจิตที่ดี สั่งสมอารมณ์ชั่วมากก็เป็นจิตที่ชั่ว

คนดีหรือคนชั่วก็เกิดจากการสั่งสมอารมณ์นี้เอง ไม่ได้เกิดจากสิ่งอื่น จึงควรจะได้ระวังการสั่งสมอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง แม้ไม่ปรารถนาจะเป็นคนไม่ดี

ขณะเดียวกัน ควรมีความเพียรใช้สติใช้ปัญญาสร้างทางออกสำหรับสิ่งไม่ดีขึ้นให้จิต เพื่อนำเอาสิ่งไม่ดีที่เข้าไปครองจิตอยู่ ออกเสียให้ได้ แม้จะทีละเล็กทีละน้อย ก็ย่อมดีกว่าไม่มีการหาทางนำออกเสียเลย

เพราะความไม่ดีนั้น ถ้าปล่อยให้เพิ่มพูนขึ้นโดยไม่พยายามทำให้ลดน้อยลง สักวันหนึ่งก็จะท่วมท้นจนไม่มีที่สำหรับความดีเหลืออยู่เลย

แม้เป็นเช่นนั้นเมื่อไร เมื่อนั้นเมืองจิตตนครก็จะกลายเป็นคนชั่วที่ไม่เป็นที่ปรารถนาในที่ใดเลย เพราะมีแต่จะนำความร้อน นำทุกข์โทษภัยไปสู่ทุกหนทุกแห่งที่ย่างเหยียบเข้าไป

คนชั่วเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความร้อนของคนทั้งปวง และก็เป็นเหตุแห่งความทุกข์ความร้อนของตนเองด้วย

ดังนั้น ทุกคนจึงควรกลัวอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นคนชั่ว จึงควรพยายามอย่างยิ่งที่จะทำทางนำความไม่ดีออกจากจิตให้สม่ำเสมอ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น