หลังจาก “สตีฟ จ๊อบส์” อำลาโลกนี้ไปแล้ว ชีวประวัติที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งศตวรรษนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย จนได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก กระทั่งล่าสุด เรื่องราวชีวิตของเขาก็ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ เรื่อง “Jobs”
หนังเริ่มต้นเล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มของจ๊อบส์ ที่หันหลังให้กับระบบการศึกษาหลักในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังสนใจเลือกเรียนวิชาการออกแบบประดิษฐ์ตัวอักษร (ซึ่งมีผลกับความคิดในการทำงานต่อมา นั่นคือ รูปแบบฟอนต์อันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของระบบปฏิบัติการที่มีในคอมพิวเตอร์แอปเปิลนั่นเอง)
หลังจากตัดสินใจออกจากรั้วมหาวิทยาลัย จ๊อบส์ทำงานให้กับบริษัทออกแบบเกมส์คอมพิวเตอร์ โดยมีเพื่อนซี้อย่าง “สตีฟ วอซเนียก” เป็นคู่หูผู้อยู่เบื้องหลัง คอยช่วยเหลือเรื่องไอเดียใหม่ๆ
และมุมหนึ่งของช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ยังมีจุดพลิกผันเรื่องความเชื่อความศรัทธา เมื่อจ๊อบส์มีโอกาสเดินทางออกไปเรียนรู้โลกกว้างที่อินเดีย ซึ่งทำให้เขาค่อยๆซึมซับความเชื่อ ความศรัทธาของพุทธศาสนา ทำให้เขาหันมานับถือพุทธศาสนานิกายเซน
และแม้ว่าหนังไม่จับประเด็นเรื่องศาสนาให้เห็นชัดเจน แต่ผู้สร้างก็ไม่ละทิ้งความสำคัญตรงนี้ โดยยกกองไปถ่ายทำถึงกรุงนิวเดลี เพื่อถ่ายทอดให้เห็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของจ๊อบส์
อีกครั้งสำหรับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในวันที่จ๊อบส์ได้สัมผัสคอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด เขาได้จุดประกายการสร้างนวัตกรรมครั้งประวัติศาสตร์ โดยร่วมกับวอซเนียก ผลิตชิ้นส่วนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
แม้การนำโครงการสุดเจ๋งไปเสนอบนเวทีผู้ผลิตหน้าใหม่ จะดูล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็นับว่าโชคยังเข้าข้าง เพราะผู้ค้าคอมพิวเตอร์รายหนึ่งให้ความสนใจ และขอสั่งซื้อนวัตกรรมที่ทั้งคู่นำเสนอในวันนั้น โรงงาน “แอปเปิล” แห่งแรก จึงเกิดขึ้นภายในโรงรถเก่าๆ ที่บ้านของจ๊อบส์นั่นเอง
นักคิดไฟแรงไม่ปล่อยให้โอกาสครั้งสำคัญหลุดลอยไป หลังจากเขาได้รับข้อเสนอในครั้งแรก ก็มองการณ์ไกล ก้าวข้ามไปสู่การทำธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยการรับปากจะส่งสินค้านับร้อยชิ้นให้ เขาเริ่มหาเพื่อนๆมาเสริมทีม ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ จนกระทั่งส่งสินค้าผลิตภัณฑ์ชุดแรก นั่นคือ แผงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตามเป้าหมาย
ความทะเยอทะยาน มุ่งมั่นในความสำเร็จของจ๊อบส์ ไม่หยุดแค่นั้น เขาเริ่มติดต่อไปยังนักธุรกิจ และบริษัทต่างๆ เพื่อหาผู้ลงทุนกับธุรกิจ แอปเปิล คอมพิวเตอร์ อย่างเป็นกิจลักษณะมากขึ้น
ความพยายามของเขาเป็นผล เมื่อ “ไมค์ มาร์คคูลา” นักธุรกิจสายไอที ตัดสินใจร่วมหุ้นลงทุนให้กลุ่มเด็กหนุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลได้ตามความฝัน
แต่เหตุการณ์คู่ขนานที่ผู้ชมจะได้เห็นด้านมืดของจ๊อบส์ไปพร้อมๆกันก็คือ การไม่ยอมรับว่า มีลูกกับแฟนสาว เพราะเขาเกรงว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นตัวฉุดรั้งความสำเร็จ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน
และแล้วความสำเร็จในนาม “แอปเปิล คอมพานี” ก็เกิดขึ้น โดยในงานแฟร์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประจำปี บริษัทหน้าใหม่ของเด็กหนุ่มผู้ซึ่งเรียนไม่จบ ไม่เคยได้ปริญญา ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้ทุกคน และกลายเป็นบริษัทด้านธุรกิจไอทีสุดฮอตที่น่าจับตามอง
จากนั้นบริษัทแอปเปิลก็ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ของวงการ ขณะเดียวกัน นิสัยด้านลบของนักบุกเบิกไอทีรายนี้ ก็ค่อยๆปรากฏมาให้เห็น เริ่มตั้งแต่การประชุมวางแผนผลิตภัณฑ์ใหม่ เมื่อวิศวกรนักออกแบบมือดี มีความเห็นแย้งกับจ๊อบส์ หลังจากการโต้เถียงเพียงไม่กี่คำ เขาก็ไล่วิศวกรรายนั้นออกจากบริษัททันที
นอกจากนี้ เขายังเริ่มทำตัวห่างเหิน ลดระดับความสำคัญกับ “แดเนียล” เพื่อนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่สมัยเรียน เพียงเพราะเห็นว่า เพื่อนเก่ารายนี้ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับบริษัทแอปเปิลได้มากเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ในแง่การเติบโตขององค์กร ก็นับว่าจากบริษัทเล็กๆในโรงรถ ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำเงินได้มหาศาล เพียงแต่ทว่าในมุมของการบริหารจัดการ อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ก็ยังอยู่ภายใต้บอร์ดบริหาร ซึ่งเป็นผู้ลงทุน นั่นจึงทำให้การกระทำอันเกรี้ยวกราด หรือความมุทะลุดุดันของจ๊อบส์ในเรื่องงาน ไม่เป็นที่พอใจของบอร์ด หรือเพื่อนร่วมงานบางคนมากนัก จึงเป็นผลทำให้เขาถูกกีดกัน ขัดขวางในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ
ในที่สุด ผลร้ายจากความมั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่ยอมฟังใคร อารมณ์ร้าย และมนุษยสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแย่ ทำให้จ๊อบส์มีเรื่องขัดแย้งกับกรรมการบริหาร และกรรมการทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เขาออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งมา
หนังตัดผ่านช่วงเวลาที่น่าเศร้าของจ๊อบส์ไป โดยเริ่มต้นให้เห็นว่า หลังจากเขาโดนไล่ออกแล้ว ก็ไปทำธุรกิจเอง มีชีวิตที่สงบกับครอบครัว รวมถึงลูกสาวที่เขาปฏิเสธความเป็นพ่อขณะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น
แต่ในที่สุดบอร์ดบริหารชุดใหม่ก็ต้องเรียกจ๊อบส์ให้กลับเข้าแอปเปิล เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีเงาเขาอยู่เบื้องหลังนั้น กลายเป็นยุคที่แสนจะซบเซา จ๊อบส์ไม่ปฏิเสธโอกาสนั้น แต่การกลับมาคราวนี้ เขาดูนิ่ง มีวุฒิภาวะมากกว่าเดิม เขาจัดการปลดอุปสรรคของบอร์ดชุดเดิมที่น่าจะมีปัญหาในการทำงาน และวิสัยทัศน์ซึ่งไม่สอดคล้องออก ขณะเดียวกันก็พูดกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานรุ่นใหม่ๆ
ท้ายที่สุดแล้ว แอปเปิล คอมพานี กับ สตีฟ จ๊อบส์ ก็กลายเป็นตำนานนวัตกรรมและบุคคลแห่งศตวรรษ ดังที่เรารู้จักกันดี
ภาพยนตร์ชีวประวัติของสตีฟ จ๊อบส์ เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆของตัวเอง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จได้
และด้วยวิธีคิดในทางพุทธศาสนา ที่จ๊อบส์นำมาปรับใช้ในการทำงาน ก็ทำให้เขาสามารถก้าวสู่การเป็นซีอีโอระดับโลก
ภาพที่เห็นได้ชัดเจน คือ การหลงใหลในสิ่งที่ตนรัก ตามหลัก “อิทธิบาท 4” ซึ่งมีผลสำคัญในการทำงาน ได้แก่ ฉันทะ พอใจในสิ่งนั้น, วิริยะ เพียรพยายามในสิ่งนั้น, จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งนั้น และวิมังสา สอดส่องในเหตุผลอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งนั้น
โดย “สิ่งนั้น” ของ จ๊อบส์ ก็คือนวัตกรรมต่างๆ ที่เขาสร้างสรรค์มันขึ้นมา ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ตลอดจนไม่ย่อท้อต่อความพยายาม พร้อมค้นหาเหตุผลที่จะเห็นสิ่งที่ลึกซึ้ง และมองการณ์ไกลกว่าสายตาคนอื่นรวมถึงความสำเร็จของบริษัทแอปเปิลที่เขาก่อตั้งขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการมี “เพื่อนที่ดี” ดังเช่น “สตีฟ วอซเนียก”
ในทางพุทธศาสนา การมีเพื่อนที่ดีนับเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เพื่อนที่ดี เรียกว่า “กัลยาณมิตร” หมายถึงผู้ที่หวังดีให้ความช่วยเหลือว่ากล่าวตักเตือนแนะนำ ไม่ปล่อยให้คิดผิดพูดผิดทำผิดทั้งๆที่รู้ ไม่ปล่อยให้มีภัย มีความเสื่อมเสียเกิดขึ้น
ถึงที่สุดแล้ว แม้จ๊อบส์จะเป็นคนเก่ง แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าชีวประวัติของเขา ก็ควรค่าแก่การศึกษา เพื่อนำสิ่งดีๆมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของตนเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)