นครสวรรค์ - “ปลอด” ร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านที่นครสวรรค์ มีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 5,000 คน ขณะที่ผู้ว่าฯ นครสวรรค์ไล่กลุ่ม นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ถือป้ายต่อต้านพ้นพื้นที่ อ้างกลัวเกิดการปะทะ ด้านเครือข่ายอนุรักษ์ฯ นำหนังสือค้านทุกโมดูล
วันนี้ (4 พ.ย.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี, ประธาน กบอ.ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ท่ามกลางประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ที่ได้รับผลกระทบหากมีการก่อสร้างตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ต่างมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างตามแผนกันมากกว่า 5,000 คน
โดยส่วนหนึ่งประมาณ 2,000 คนเป็นกลุ่มที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะได้รับค่าเดินทางคนละ 400 บาท ส่วนที่เหลือเป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจเดินทางมาร่วมรับฟังข้อมูล เนื่องจากนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านถึง 4 โมดูล คือ โมดูล A1 เขื่อนแม่วงก์, A2 พื้นที่ปิดล้อมเขตเศรษฐกิจ, A3 แก้มลิง และ A5 ฟลัดเวย์ ขุดคลองสายใหม่
ขณะเดียวกัน ในการจัดเวทีครั้งนี้ได้มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ประมาณ 10 กว่าคนเดินขบวนถือป้ายคัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลมุ่งหน้าไปที่เวทีฯ เพื่อขอเข้าร่วมรับฟัง-แสดงความคิดเห็นด้วย แต่ปรากฏว่า นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ออกมาห้ามและแจ้งให้ออกไปจากพื้นที่จัดเวที เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการปะทะกับกลุ่มที่สนับสนุนขึ้น
ซึ่งเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนวันนี้ เริ่มด้วยการเปิดวิดีทัศน์ให้ผู้ที่มาร่วมดูก่อน จากนั้นเวทีภาคเช้าเริ่มด้วยการชี้แจงด้วยวาจา ที่มีผู้ลงชื่อไว้ 61 คน โดยให้แสดงความคิดเห็นเพียงคนละไม่เกิน 5 นาทีในระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง ก่อนจะไปแบ่งเป็นเวทีย่อยในช่วงบ่าย
นายวชิระ แรงกสิกร นายก อบต.สระแก้ว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่เป็นหนึ่งในแกนนำสนับสนุนเขื่อนแม่วงก์ได้แสดงความคิดเห็นเป็นคนแรกว่า หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ใน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำให้ชาวนาแม่วงก์ ลาดยาว มีน้ำใช้ในการทำนา และเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วย วิงวอนคนนอกพื้นที่อย่าขัดขวางการสร้างเขื่อน ให้สงสารชาวนาในพื้นที่ซึ่งต้องลำบากกับน้ำท่วมน้ำแล้งมานาน
ขณะที่นายอดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ขั้นตอนการลงทะเบียนที่คณะผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจัดขึ้นถือได้ว่าเป็นระเบียบดีในระดับหนึ่ง แต่การจัดการรับฟังความคิดเห็นเพียงวันเดียวไม่สามารถสรุปผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะจังหวัดนครสวรรค์มีผลกระทบมากถึง 4 โมดูลน้ำ
และในวันนี้กลุ่มอนุรักษ์ได้เตรียมเอกสารใช้ชื่อเครือข่ายพลเมืองและประชาสังคมนครสวรรค์ มายื่นหนังสือแย้งทุกโมดูลน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ให้นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ด้วย
กรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์ โมดูล เอ1 เครือข่ายพลเมืองและประชาสังคมนครสวรรค์
ความเห็นแย้งดังนี้ 1. การสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง ไม่มีมาตรการลดผลกระทบได้ และถ้าหากสร้างได้ก็จะกลายเป็นต้นแบบให้มีการบุกรุกสร้างโครงการอื่นๆ ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นมาตาม (โครงการตามโมดูล เอ1 มีเขื่อนรวม 21 เขื่อน)
2. บิดเบือนข้อมูล เช่น ไม่บอกประชาชนในพื้นที่ชลประทานว่าจะต้องถูกเวนคืนที่ดินเพื่อรองรับระบบชลประทานกว่า 15,000 ไร่ การประเมินตัวเลขผลประโยชน์สูงเกินจริง และประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง
3. เป็นเขื่อนที่ไม่คุ้มค่า ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเบ็ดเสร็จได้
4. โครงการผันน้ำตามโมดูล เอ5 พาดผ่านพื้นที่ชลประทานในอำเภอลาดยาว ขวางทางน้ำทั้งหมด แต่ไม่มีการบูรณาการทั้งสองโครงการ และไม่ปรากฏในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
5. มีตัวอย่างการจัดการน้ำโดยครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับตำบล ในพื้นที่ชลประทาน แต่ไม่นำมาเป็นทางเลือกเพราะราคาถูก กบอ.ใช้วิธีเหมาเข่งและเลือกโครงการแพงๆ ทำไม?
6.ืเป็นความจริงว่าชุมชนต้องการน้ำเพื่อการเกษตร แต่การจัดการน้ำมีได้หลากหลายวิธี เช่น การสร้างฝาย การสร้างอ่างเก็บน้ำและแก้มลิง การทำประปาภูเขา การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตการเกษตร ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว
7. เขื่อนไม่ใช่หลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วมหรือมีน้ำเพื่อการเกษตรตลอดไป ณ วันนี้หลายเขื่อนในภาคอีสานและภาคตะวันออกมีน้ำมากจนต้องระบายมาซ้ำเติมหลายจังหวัด แต่เขื่อนทางภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ในปีนี้มีน้ำประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น ในปีหน้าคาดได้ว่าจะเกิดภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลางอย่างรุนแรง ทางออกอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่เขื่อน
8. โครงการนี้สร้างความขัดแย้งในสังคมมาช้านาน และในระยะนี้มีการใช้วิธีการรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งยิ่งขยายตัว อาจก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ในอนาคตได้
ส่วนโครงการปิดล้อมพื้นที่เศรษฐกิจ โมดูล เอ2 ในพื้นที่เทศบาลนครสวรรค์, เทศบาลเมืองชุมแสง, เทศบาลตำบลบรรพตพิสัย, เทศบาลตำบลโกรกพระ (เทศบาลพยุหะคีรี กำลังดำเนินโครงการ โดยใช้งบฯ 1.2 แลนล้าน) เห็นว่า 1. ไม่มีความชัดเจนว่าใช้เกณฑ์อะไรในการกำหนดพื้นที่ปิดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนทำอย่างไร เคยสอบถามความเห็นหรือไม่
2. การทำคันปิดล้อมโดยถมลงไปในแม่น้ำ ทำลานระบบนิเวศริมน้ำ ที่อยู่อาศัยและที่วางไข่ของสัตว์น้ำถูกทำลาย 3. แม่น้ำเดิมจะแคบลง หากน้ำหลากมาจะยกระดับสูงขึ้น พื้นที่นอกคันกั้นน้ำจะเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นในอนาคต
4. ไม่เป็นหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วมในพื้นที่ปิดล้อม พนังกั้นน้ำอาจทรุดตัว แรงดันน้ำอาจดันมากจนลอดมาทะลุภายในพนังกั้นน้ำ (กรณีจังหวัดสุโขทัย 55) ความเสียหายจะรุนแรงมาก
5. ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำ เพราะเขื่อนสูงมองแม่น้ำไม่เห็น
6. เกิดผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง และยากลำบากในการสัญจรทางน้ำ
โครงการพื้นที่แก้มลิง โมดูล เอ3 พื้นที่อำเภอเมือง, อำเภอแสง, อำเภอเก้าเลี้ยว รวม 17 ตำบล ภาคประชาชนเห็นว่า 1. ขาดความชัดเจนในระดับพื้นที่ว่าตรงไหนจะเป็นแก้มลิง ใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน สอบถามชุมชนหรือไม่
2. ไม่มีรายละเอียดว่าหากเป็นแก้มลิงแล้วน้ำจะท่วมขังนานเท่าใด ระดับน้ำสูงเพียงไหน จะมีการชดเชย เยียวยา หรือให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง
3. น้ำท่วมแบบปกติจะไหลเวียน ไม่เกิดน้ำเสีย สัตว์ก็อาศัยได้ คนก็ได้พึ่งพา แต่ถ้าน้ำขังนานก็จะเน่าเสีย เกิดปัญหาแก่ผู้อยู่ในพื้นที่ ทั้งด้านอาชีพ และสุขภาวะ
4. เกษตรกรในพื้นที่แก้มลิงใช้สารเคมีจำนวนมาก จะเกิดการแพร่กระจายเคมีไปในพื้นที่แก้มลิง ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำได้ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ขณะที่โครงการคลองผันน้ำ โมดูล เอ5 พื้นที่คลองพาดผ่าน 7 ตำบลในอำเภอลาดยาวนั้น เห็นว่า 1. คลองผันน้ำ Flood Diversion Channel เป็นโครงการที่มีงบลงทุนถึง 150,000 ล้านบาทเป็นโครงการที่แพงที่สุด เกินความจำเป็น ไม่มีความคุ้มค่า เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน
2. คลองผันน้ำมีวัตถุประสงค์เพื่อระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุการณ์อุทกภัยแบบปี 54 นั้นนานปีจึงจะเกิดขึ้น ดังนั้น ในปีปกติที่ไม่มีน้ำหลากจะเอาน้ำที่ไหนมาผัน การลงทุนมหาศาลก็สูญเปล่า คลองก็จะกลายเป็นอนุสาวรีย์ที่มีแต่ลมกับหญ้าเต็มคลอง
3. การผันน้ำกาจกลุ่มน้ำปิงไปทางตะวันตกจะเกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ กระทบถึงการบริหารชลประทานของลุ่มน้ำ ส่งผลต่อทั้งภาคเกษตรกรรม การประมง การสัญจรขนส่งทางน้ำ และการท่องเที่ยว น้ำเค็มจากท้ายน้ำก็จะรุกเข้ามามากขึ้น
4. คลองผันน้ำยาวถึง 281 กม. กว้างถึง 245 เมตร ต้องเวนคืนที่ดินกว่าสี่หมื่นสามพันไร่ในหลายจังหวัดที่คลองพาดผ่าน หากมีจังหวัดใด หรือแม้แต่พื้นที่ใดไม่ยินยอมเวนคืน การสร้างคลองก็ทำไม่ได้
5. การให้บริษัทเอกชนต่างชาติดำเนินการในทุกขั้นตอนรวมถึงการเวนคืนที่ดินด้วยนั้น จะเกิดความขัดแย้งกับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะบริษัทเอกชนมุ่งแสวงผลกำไร และจะเวนคืนในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งประชาชนด้วยกันเอง กับบริษัทเอกชน และกับรัฐบาล
6. คลองผันน้ำ รวมถนนสองข้างกว้างมาก จะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนทั้งในระหว่างการก่อสร้างและในอนาคต จำนวนสะพานมีน้อยเกินไป องค์การท้องถิ่นและราชการในแต่ละจังหวัดไม่มีศักยภาพที่จะหางบประมาณมาสร้างสะพานข้ามคลองจำนวนหลายร้อยล้านบาทได้
7. ดินที่ขุดมาถมเป็นถนนทั้งสองข้างสูงมาก หากได้สร้างจะเหมือนมีเขื่อนที่ยาวมาก ตามแนวเหนือใต้ตัดขวางการไหลของน้ำในพื้นที่ซึ่งไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในด้านตะวันตก ขาดแคลนน้ำในทิศตะวันตก และขาดแคลอนน้ำในทิศตะวันออก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คลองผันน้ำตามโมดูล เอ5 ตัดผ่านคลองชลประทานของเขื่อนแม่วงก์ โมดูล เอ1 หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่สามารถบริหารระบบชลประทานได้ ประเด็นน้ำเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ปรากฏในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพ
8. คลองกว้างและยาวมาก ลึกถึง 10 เมตร ปริมาณดินที่ต้องขุดมีประมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ไม่มีรายละเอียดว่าจะนำดินไปกองที่ไหน ใช้ประโยชน์อะไร การเช่าที่ของประชาชนเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อกองดิน แล้วหลังจากหนึ่งปีแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหนอีก พื้นที่ที่ถูกกองดินก็จะเสียหาย การอ้างว่าเป็นดินที่มีคุณภาพนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นดินที่ขุดลึกถึง 10 เมตร
9. คลองผันน้ำด้านตะวันตก เป็นการย้ายปัญหาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังลุ่มน้ำอื่น ทั้งสะแกกรัง ท่าจีน และแม่กลองซึ่งรับน้ำได้ในปริมาณจำกัด หากมีการผันน้ำจริงจะเกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคกลางด้านตะวันตก ระบบนิเวศชายฝั่งในอ่าว ก ไก่ ของอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบ ส่งผลต่ออาชีพประมงชายฝั่ง และมีผลกระทบอื่นเป็นลูกโซ่มากมาย
10. การใช้วิธี Design and Build มีความเสี่ยงสูงมาก นักวิชาการ วิศวกรหลายต่อหลายท่านออกมาทักท้วงแต่ไม่ฟัง และระยะเวลา 5 ปีก็จำกัดเกินไป มีโอกาสสูงที่จะทำไม่สำเร็จ หากดำเนินการบางส่วนก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และจะถูกทิ้งร้างเหมือนโครงการโฮปเวลล์
11. ไม่มีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ ผลกระทบครัวเรือน และพื้นที่หลายพันครัวเรือน ไม่มีมาตรการลดผลกระทบใดๆ ทั้งในระหว่างการก่อสร้าง และในอนาคต
12. การมีถนนสองเลน และสี่เลนพาดผ่านพื้นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากภาคเกษตรไปสู่ชุมชนเมืองและอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนดั้งเดิม ครอบครัวที่ปรับตัวไม่ทันจะตกเป็นเบี้ยล่างของทุนนิยมที่จะรุกเข้ามาในพื้นที่ เกษตรกรจะสูญเสียที่ดิน มีผลต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับพื้นที่ และระดับชาติ สุดท้ายจะกระทบการเปลี่ยนแปลงทางผังเมือง
13. แม้มีแผนใช้น้ำเพื่อการชลประทานในบางพื้นที่ แต่ก็เพียงเล็กน้อย อ้างเพื่อให้เกิดความชอบธรรมของโครงการเท่านั้น แต่เมื่อนำมาเทียบกับผลกระทบและสิ่งที่ต้องสูญเสียไปก็ไม่มีความคุ้มค่าคุ้มทุน