xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอแย้ง อสส.แยกสำนวนคดี “มาร์ค-เทือก” สั่งฆ่าม็อบแดง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
ดีเอสไอยังเห็นแย้งอัยการสูงสุด ให้แยกสำนวนดำเนินคดี “มาร์ค-เทพเทือก” ชี้ช่องญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมปี 53 ยื่นฟ้องเป็ยนรายคดี ย้ำผู้ต้องหาทั้งสองทำเกินอำนาจหน้าที่ ไม่อยู่ในกรอบของมาตรา 157 อำนาจการสอบสวนขึ้นอยู่กับดีเอสไอ เล่นลิ้น “มาร์ค-เทือก” อาจได้รับการยกเว้นโทษ หากนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยผ่านสภา



วันนี้ (29 ต.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานในการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเตรียมดำเนินการภายหลังอัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่ากันตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมง

นายธาริตกล่าวภายหลังการประชุมถึงกรณีที่อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพในคดีสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พร้อมมีความเห็นให้รวมเป็นสำนวนเดียวว่า ดีเอสไอเคารพในความเห็นของพนักงานอัยการ แต่ทางคณะพนักงานสอบสวนยังยืนยันในความเห็นเดิมที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่คือการแยกสำนวนคดี ทั้งข้อหาฆ่าคนตาย และข้อหาพยายามฆ่าคนตาย เป็นรายคดีไป เว้นแต่กรณีใดเหตุการณ์ในเวลาและสถานที่เดียวกันจึงจะรวมสำนวนเป็นหนึ่งคดี โดยเฉพาะคดีพยายามฆ่านั้นมีผู้เสียหายมากถึง 1,000 ราย ทั้งนี้จะต้องเคารพสิทธิของผู้เสียหายที่สูญเสียญาติพี่น้อง หรือตัวเองได้รับบาดเจ็บ ที่ได้มาร้องทุกข์รายคดี และหากการไต่สวนของศาลในเหตุ และพฤติการณ์ที่ทำให้ตายของผู้ตายแต่ละรายยังไม่เสร็จสิ้น การสั่งคดีเช่นนี้อาจกระทบอำนาจศาลในคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนได้

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า ปัจจุบันดีเอสไอได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพในคดีที่มีหลักฐานเชื่อว่าความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่กลับไปให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อพิจารณาส่งให้พนักงานอัยการทำคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทำการไต่สวนแล้วจำนวน 52 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวศาลมีคำสั่งแล้ว 15 ราย และสำนวนการไต่สวนได้ส่งกลับมายังดีเอสไอแล้วจำนวน 13 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมคดีข้อหาพยายามฆ่าคนตายที่มีผู้เสียหายอีกประมาณ 1,000ราย

อย่างไรก็ตาม แม้พนักงานอัยการจะฟ้องคดีกับผู้สั่งการหรือผู้ก่อเป็นกรรมเดียวกัน แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่ประสงค์จะแยกฟ้องเป็นรายคดีแต่ประการใด ซึ่งในที่สุดแล้วการกระทำผิดในคดีนี้จะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมหลายวาระ ก็อาจจะต้องชี้ขาดในศาลยุติธรรมในที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นแย้งอัยการที่มีคำสั่งให้ฟ้องคดีตามสำนวนของดีเอสไอในคดีดังกล่าว โดยระบุว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ถือเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. นายธาริตกล่าวว่า ตนมีความเห็นพ้องกับอัยการ และทางดีเอสไอก็ยืนยันความเห็นนี้มาตลอดว่ามาตรา 157 เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเจตนาทุจริต และเรื่องนี้ไม่มีเจตนาทุจริต เนื่องจากการทุจริตคือการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นหมายความว่าต้องมีหน้าที่นั้นแล้วทำโดยมิชอบ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวทางดีเอสไอมีการถกเถียงกันตั้งแต่ชั้นการสอบสวนร่วมกับอัยการและตำรวจนครบาลมาโดยตลอดว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งถูกอัยการสั่งฟ้องเมื่อวานนี้กระทำนอกหน้าที่ เนื่องจากหน้าที่เป็นเพียงการรักษาความสงบ และกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจในการที่จะไปดำเนินการสั่งการก่อให้เกิดมีการฆ่ากันตาย หรือพยายามฆ่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำคือการทำเกินอำนาจหน้าที่ และเมื่อเกินอำนาจหน้าที่ก็จะไม่อยู่ในกรอบของมาตรา 157 แต่เป็นเรื่องของคดีวิสามัญฆาตกรรมปกติ ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบในการสอบสวนก็คือตำรวจ หรือดีเอสไอ แต่เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิเศษก็เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ และผู้มีอำนาจสั่งในคดีนี้ก็คืออัยการสูงสุด ไม่ใช่เรื่องของ ป.ป.ช.

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะต้องยุติการไต่สวนในคดีดังกล่าวใช่หรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า ตนไม่ขอออกความเห็นในส่วนนี้เนื่องจากเป็นเรื่องของ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม ทางดีเอสไอและตำรวจนครบาลได้มีมติที่จะไม่ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหารแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งที่เขาเชื่อโดยสุจริตว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และได้รับการคุ้มครองตามมาตรา70 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแม้ว่าจะมีหลักฐานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำ

เมื่อถามว่า ถ้าหากว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมารวมผ่าน คดีนี้จะต้องหลุดไปด้วยหรือไม่ อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ถ้าในที่สุด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีการออกเป็นกฎหมาย และถ้ามีสาระสำคัญครอบคลุมไปถึงคดีความไม่สงบในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2553 ซึ่งมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาล 2 พวก คือ ฮาร์ดคอร์ นปช. และผู้สั่งการ 2 รายใน ศอฉ. ก็ย่อมได้รับผลดีตามกฎหมายนิรโทษกรรมไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นสอบสวนชั้นสั่งคดีของอัยการ หรือชั้นพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวนั้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็จะดำเนินการตามกฎหมายครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น