xs
xsm
sm
md
lg

4 คำในหนัง Jobs ที่ไม่ได้ออกเสียง แต่ทรงพลัง/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังก้องเหลือเกินเกี่ยวกับความห่วยของหนังที่ว่าด้วยชีวิตของบุคคลผู้เป็นดั่งศาสดาแห่งโลกไอที อย่างJobs ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อเร็วๆ นี้ บอกตามตรง ผมเพิ่งได้ดูเมื่อไม่กี่วันก่อน และค่อนข้างเห็นต่าง ถ้าใครจะบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังห่วย

แต่จะเห็นด้วย ถ้าบอกว่ามันไม่ใช่หนังที่ต้องเก็บไว้บนหิ้งเหมือนนวัตกรรมล้ำสมัยหลายชิ้นที่จ๊อบส์สร้างไว้ พูดง่ายๆ หนังไม่ได้มีหมัดฮุกแบบเต็มๆ สักหมัด หากแต่อาศัยวิธีการเล่าเรื่องแบบสะกดรอยตามเส้นทางชีวิตของจ๊อบส์ไปเรื่อยๆ แต่ Main Idea หรือประเด็นหลักที่จะคุมหนังทั้งเรื่องไว้ให้อยู่ในโอวาทมันขาดหายไป เราจึงพบว่าตอนจบสุดท้ายของหนัง ค่อนไปทาง “จบแบบปาหมอน” คือไม่คิดจะสะกิดสะเกาให้คนดูเกิดความรู้สึกอันใดที่จะฝังแน่นอยู่ในใจและจดจำไปอีกนาน

จะว่าไป การทำหนังชีวิตในสไตล์ของ Jobs นั้น ถือเป็นแบบแผนที่ค่อนข้างเก่า กับการที่ต้องเล่าเรื่องราวให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งต่างกับหนังชีวประวัติยุคปัจจุบันที่มักจะหยิบยกเอาบางส่วนเสี้ยวของชีวิตมาบอกเล่า คือหยิบมาแค่บางช่วงบางตอนที่เห็นว่า “น่าพูดถึง” จริงๆ The Iron Lady เอย My Week With Marilyn เอย หรือแม้กระทั่ง Diana ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเรา ก็เป็นเพียงเรื่องรักบทหนึ่งซึ่งแทรกอยู่ในเส้นทางประวัติศาสตร์ชีวิตอันยาวไกลของคนหนึ่งคน แต่ Jobs พยายามเล่าแบบ “เหมารวบ” จนเกือบจะครบทุกขั้นตอนของชีวิตสตีฟ จ๊อบส์ ในแง่หนึ่ง มันมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของจ๊อบส์มาก่อน แต่เมื่อเป็นหนัง มันทำให้งานขาดจุดพิกัดที่จะโฟกัสให้ชัดเจนว่าต้องการจะตีประเด็นอะไรเป็นหัวใจหลัก

อันที่จริง แนวโน้มของหนังอย่าง Jobs ส่อเค้าวิกฤติมาตั้งแต่ก่อนหนังฉายแล้วด้วยซ้ำ กับข่าวคราวที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการที่แอชตัน คุตเชอร์ ผู้รับบทสตีฟ จ๊อบส์ ที่ถูกจอบเสียมทางความเห็นสับเละว่า “เขาไม่ได้เล่นเป็นจ๊อบส์ แต่พยายามเลียนแบบจ๊อบส์เท่านั้น” นั่นยังไม่นับรวมการที่เพื่อนซี้ของสตีฟ จ๊อบส์ อย่าง “สตีฟ วอซเนียก” ออกมาบอกว่าจ๊อบส์ในหนัง แตกต่างจากจ๊อบส์ตัวจริง ยิ่งทำให้คนดูลังเลที่จะตีตั๋วเข้าไปดู แต่ถ้าคุณตามข่าว คุณก็จะรู้ว่า สตีฟ วอซเนียก ผู้นี้แหละที่ไปรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับหนังเกี่ยวกับสตีฟ จ๊อบส์ อีกเรื่อง ซึ่งผลิตโดยโซนี่พิคเจอร์ส และมีนักเขียนบทมือทองอย่าง “แอรอน ซอร์กิน” รับหน้าที่ในด้านการเขียนบท เรื่องราวนี้มันจึงดูมีเหลี่ยมมีมุมและคล้ายจะมี “เล่ห์” (ทางการตลาด) แฝงอยู่ด้วย

แน่นอนครับว่า เวอร์ชั่นที่แอรอน ซอร์กิน เขียนบทนั้น คาดหวังได้อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ เขาก็เคยทำให้เรื่องราวของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นที่กล่าวขานมาแล้วในหนังเรื่อง The Social Network กระนั้นก็ดี ผมรู้สึกว่าหนัง Jobs เวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ได้ขี้เหร่ถึงขั้นรับไม่ได้ ปัญหาใหญ่ที่สุดหนัง เป็นเรื่องของการไม่มีเมนไอเดียหรือความคิดหลักที่จะถ่ายทอดออกมาให้ทรงพลัง เรื่องทั้งหมดที่ถูกเล่าจึงเป็นเพียงการเล่าในแบบที่เราๆ ก็รู้กันอยู่ และหนังก็เติมสีสันดราม่าตามภาษาหนังเข้าไปเพื่อให้ดูเป็นความบันเทิง แต่นอกจากนี้แล้ว ผมว่าหนังไม่มีข้อเสียหายอะไร นักแสดงอย่างแอชตัน คุตเชอร์ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีในฐานะสตีฟ จ๊อบส์ มันเป็นบทบาทที่อาจไปไม่ถึงเวทีออสการ์ แต่ถ้าใครว่าเขาเล่นเป็นจ๊อบส์ได้ห่วย อันนี้ไม่จริง

เหนืออื่นใด หมุดหมายหนึ่งของหนังที่อยากไปให้ถึงก็คือการทำให้ Jobs เป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลให้กับคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก ดังนั้น สำหรับคนที่คิดว่าจะเข้าไปหาอะไรที่ให้พลัง ก็อาจจะได้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปพอสมควร เพราะมีคำเด็ดๆ ปลุกเร้าพลังใจ ของบุรุษผู้ล่วงลับที่หนังหยิบจับมาใช้สอยและ “เทศนาคนดู” อยู่เรื่อยๆ ตลอดเรื่อง จนคล้ายเป็นหนังรวมคำคมสอนใจเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคำโปรยบนโปสเตอร์และชื่อหนังในภาษาไทย (อัจฉริยะพลิกโลก) ซึ่งจงใจปล่อยหมัดฮุกใส่คนที่กำลังโหยหาแรงบันดาลใจแบบชัดเจน อย่างไรก็ดี ในหนังยังมี “ถ้อยคำ” อยู่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ถูกกล่าวออกมาในภาษาพูด หากแต่เป็นคำที่ปรากฏในรูปแบบภาษาภาพ ผ่านการจัดวางองค์ประกอบ

ศัพท์แสงของหนัง เขาเรียกศิลปะการจัดวางองค์ประกอบภาพลักษณะนี้ว่า “มิส ซอง เซน” (mise en scene) และไม่มากไม่มาย ผมเห็นว่าภาษาภาพเหล่านี้สามารถอธิบายตัวตนของคนชื่อสตีฟ จ๊อบส์ ได้ดีไม่น้อยไปกว่าภาษาพูดที่ถูกเล่าผ่านเรื่องราวในหนังอีกด้วยซ้ำ

คำที่ 1 : Idea
คำนี้ปรากฏอยู่ภายในโรงรถหลังบ้านของจ๊อบส์ อันถือเป็นสถานประกอบการแห่งแรก ก่อนที่ Apple จะถูกแนะนำต่อชนชาวโลก และคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากสำหรับถ้อยคำนี้ เพราะก็อย่างที่สาวกแอ็ปเปิ้ลทราบกันดีว่าความจีเนียสของจ๊อบส์นั้น คือเรื่องไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ เขามองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น และนั่นก็ทำให้เขาก้าวไปข้างหน้าก่อนคนอื่นหลายก้าวเสมอ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบสร้างเป็นตัวตนของสตีฟ จ๊อบส์ คือไอเดีย โลกรู้จักและจดจำผู้ชายคนนี้ได้ก็เพราะไอเดีย ผมคงไม่เอามะพร้าวมาขายสวนว่าตลอดชีวิต สตีฟ จ๊อบส์ ได้ฝากทรัพย์สินที่เป็นไอเดียสร้างสรรค์อะไรไว้ให้กับโลกบ้าง แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้แสดงให้เห็นถึง “อีกหนึ่งไอเดียที่ยิ่งใหญ่” แต่สำหรับจ๊อบส์ การมองหา “Another great Idea” อยู่ตลอดเวลา คือใจความสำคัญของเขา ฉากหนึ่งในหนังซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลุ่มหลงในการมองหาไอเดียใหม่ๆ คือตอนที่จ๊อบส์กลับมาสู่ชายคาแอ๊ปเปิ้ลอีกรอบ ภายหลังโดนมรสุมในบริษัทซัดกระหน่ำและต้องไปอยู่บ้านทำสวนเงียบๆ จ๊อบส์กลับมาเจอกับแผนกใหม่ซึ่งมีสิ่งที่ทำให้ใจเขาเต้นแรง

จ๊อบส์เป็นคนที่มีไอเดีย และกล้าลงแรงทุ่มเทกับไอเดียนั้น แม้หลายคนจะเห็นว่าเสี่ยง เขาทำให้เพื่อนรักอย่างสตีฟ วอซเนียก ใจเต้นเป็นเจ้าเข้าอยู่หลายครั้งกับการไปสัญญิงสัญญากับคนนั้นคนนี้ในลักษณะ “ขายฝัน” และต้องทำให้สำเร็จ หรือแม้แต่ตอนที่ “ไมค์ มาร์คคูลา” ถูกส่งตัวมาเพื่อเจรจากับจ๊อบส์และเพื่อนๆ ซึ่งในตอนสนทนา จ๊อบส์ก็ขายฝันให้กับไมค์เสียใหญ่โตด้วยการลงทุนที่ต้องใช้เงินมหาศาลกับอะไรสักอย่างที่คล้ายยังจะเป็นเพียงมโนภาพ ซึ่งจะว่าไป ก็คงแต่คนที่เชื่อมั่นในไอเดียของตนเองอย่างถึงที่สุดจริงๆ เท่านั้น ถึงจะกล้ายื่นข้อเสนอเช่นนั้น

คำที่ 2 : Think
ในฉากที่จ๊อบส์นั่งอยู่ในสำนักงาน วันใดวันหนึ่ง และมีคำนี้ลอยอยู่ด้านหลัง หนังดูชัดเจนที่จะเล่นกับคำนี้ด้วยการจงใจแช่ภาพและทำให้คำว่า Think ดูมีความเคลื่อนไหววูบวาบราวกับต้องการสื่ออะไรบางอย่าง ซึ่งก็คงไม่ใช่อะไรอื่น เพราะความหมายตรงๆ ของมันก็คือ “คิด”

มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ยากจะหยั่งรู้ แต่ความเป็นนักคิดนั้นสถิตอยู่ในตัวของจ๊อบส์ตลอดเวลา แน่นอน ถ้าจะใช้คำว่า “คิดอย่างสร้างสรรค์” ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด แม้แต่ขณะที่กำลังเจรจากับไมค์ มาร์คคูลา เราจะพบเห็นท่าทีนิ่งงันชั่วขณะต่อหน้าคู่สนทนา นั่นคือเวลาที่เขากำลังไตร่ตรองใช้ความคิด ฉากที่เขานิ่งๆ ไปขณะพูดคุยกับคนอื่นนี้ มีให้เห็นเป็นประจำ มันเหมือนกับสายตาของจ๊อบส์กำลังมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่ทว่าในความคิดของเขา กำลังออกเดินทาง

การชอบใช้ความคิดน่าจะเป็นคุณสมบัติของอัจฉริยะโดยปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่คิดนี่สิ จะแปลก

คำที่ 3 : ที่จอดรถสำหรับคนพิการ
ในหนังสือชีวประวัติของจ๊อบส์ซึ่งเขียนโดยวอลเตอร์ ไอแซคสัน มีการบันทึกเอาไว้ว่าในที่จอดรถสำนักงานของแอปเปิ้ลจะทำที่จอดรถสำหรับผู้พิการไว้ และนั่นก็คือเลนที่จ๊อบส์วิ่งเข้าไปจอดเป็นประจำ แน่นอน ไม่ว่ามันจะเป็นความเคยชินส่วนตัวหรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อสิ่งนี้ถูกนำมาเสนอในหนังถึงสองฉาก และเป็นฉากที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทั้งสองครั้ง มันจึงสามารถจะมองเป็นการเปรียบเทียบซึ่งให้ “ความหมายใหม่” ซ้อนขึ้นมา และยิ่งเมื่อพิจารณาบริบทและความเป็นจริงในชีวิตของจ๊อบส์หลายช่วง ก็เหมือนว่าหนังต้องการจะวิพากษ์ตัวตนของจ๊อบส์ผ่านองค์ประกอบด้านภาพนี้ด้วย

เราจะพบว่า หลายสิ่งที่จ๊อบส์ทำต่อผู้อื่น ไม่ต่างอะไรจากคนที่ไร้หัวจิตหัวใจไร้ความรู้สึกหรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่มีหัวใจ การที่เขาขับไล่ไสส่งหญิงสาวที่คบหากันออกจากบ้านทันทีที่เธอบอกว่าเธอตั้งท้องกับเขา, การที่เขาไล่พนักงานบางคนออกจากบริษัทเพราะว่าคนคนนั้น “ไม่ฟัง” เขา และเถียงคำไม่ตกฟาก ไปจนถึงพฤติกรรมที่ดูเหมือนแล้งน้ำใจต่อสหายอย่างแดเนียล เหล่านี้นั้น เมื่อนำไปคิดผ่านมุมมองของภาษาภาพที่ถูกใส่เข้ามาอย่างคำว่า “ที่จอดรถสำหรับผู้พิการ” มันจึงนัยยะที่พร้อมจะเปิดพื้นที่ให้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวตนของของสตีฟ จ๊อบส์ ได้

และนั่นก็พอจะทำให้มองได้ว่าเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของหนังจ๊อบส์เวอร์ชั่นนี้ อันที่จริง มันไม่ใช่เรื่องใหม่กับการทำหนังชีวประวัติที่บุคคลต้นเรื่องมักจะถูกตั้งคำถามและนำเสนอด้านที่ไม่ใช่การเชิดชูเพียงด้านเดียว เพราะหนังชีวประวัติยุคหลังๆ แทบทั้งหมด ก็ไม่ได้นำเสนอชีวิตใครแบบขาวสะอาดหมดจด หากแต่มีแง่มุมที่เป็นด้านมืดของคนคนนั้นด้วย และจ๊อบส์ก็ไม่ได้รับการยกเว้น แน่นอนล่ะ ในด้านหนึ่ง เขาดูเป็นศาสดาในใจของสาวกเทคโนโลยี แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีปีศาจวิ่งอยู่ในตัวและมันพร้อมจะออกมาอาละวาดได้ทุกเมื่อ

คำที่ 4 : Empty
ถ้อยคำสุดท้ายที่เหมือนหนังพยายามจะใช้อธิบายแก่นสารบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตของผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ด้วย คำนี้ปรากฏขึ้นมาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ตอนที่นำเสนอความมหัศจรรย์ของเครื่องแม็คอินทอช และลงท้ายด้วยการทำให้พื้นที่ในถังขยะว่างเปล่าไร้ข้อมูลด้วยฟังก์ชั่น Empty ความหมายที่ตรงตัวของคำนี้ก็คือ “ว่างเปล่า”

มันชวนให้คิดถึงหนัง The Social Network อันว่าด้วยเรื่องของผู้สถาปนาเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก อยู่เหมือนกัน แม้วัดกันหมัดต่อหมัดในแง่คุณภาพหนังแล้ว หนังของมาร์คจะชนะหนังของจ๊อบส์แบบขาดลอย แต่สิ่งหนึ่งสัมผัสได้ใกล้เคียงกันในงานทั้งสองชิ้น ก็คือการเจาะลึกลงในน้ำเนื้อแห่งชีวิตของทั้งสองคนที่สุดท้ายแล้ว มันคล้ายจะมี “ร่องหลุม” และ “รอยรั่ว” อยู่ในนั้นเหมือนๆ กัน

ในกรณีของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็อย่างที่พลเมืองแห่งเฟซบุ๊กน่าจะรู้กันก็คือ ในขณะที่เขาดูเหมือนจะสร้างสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าหากันอย่างใกล้ชิด แต่กับชีวิตส่วนตัวของเขา ดูเหมือนจะล้มไม่เป็นท่าในเรื่องความสัมพันธ์ที่แม้กระทั่งเพื่อนแท้สักคนเดียวก็หาไม่ได้ ฝั่งของสตีฟ จ๊อบส์ ก็ดูคล้ายๆ กัน เพราะทั้งๆ ที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ไว้หลายสิ่ง แต่ความจริง จ๊อบส์ก็มีปมในด้านเพื่อน นั่นจึงดูเหมือนว่าขณะที่ความเป็นอัจฉริยะของเขาให้กำเนิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นมา สิ่งบางสิ่งก็ได้สูญสลายลงไปด้วยเช่นกัน

ก็จริงที่ว่า คนแบบนี้มักจะมีอหังการ์ในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองสูง และไม่หวั่นไหวต่อสายตาชาวโลกที่จะมอง คำพูดของจ๊อบส์ชุดหนึ่งซึ่งคิดว่าน่าจะอธิบายความเป็นจ๊อบส์ได้ดี คงหนีไม่พ้น...“คนที่มองเห็นสิ่งหนึ่งอย่างแตกต่าง ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่เคารพต่อสถานภาพของใคร คุณอาจโค้ดคำพูดเขา ขัดแย้ง สดุดี หรือกล่าวร้ายเขา แต่มีอย่างเดียวที่คุณทำไม่ได้ นั่นคือมองข้ามเขา” จะว่าไป คำกล่าวนี้เปรียบเสมือนเสาหลักทางความคิดอีกเสาหนึ่งในชีวิตของสตีฟ จ๊อบส์ กระนั้นก็ดี ในรูปการนี้ มันก็ยังมีแง่มุมที่น่าเศร้าแฝงฝังอยู่

เพราะเก่งแค่ไหน หากแต่สุดท้าย ต้องเฉลิมฉลองความสำเร็จเพียงคนเดียว ไม่มีใครร่วมยินดีด้วย ใช่หรือไม่ว่านี่ก็คือความน่าเศร้าและกลวงเปล่าเบาโหวงรูปแบบหนึ่ง เหมือนรอยรั่วบนหลังคาชีวิตที่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (ในหนัง) น่าจะรู้สึกลึกซึ้งดี

อัจฉริยะเพียงใด เป็นมนุษย์มหัศจรรย์สักแค่ไหน สร้างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกไว้มากมายเท่าไร แต่ถ้าไร้หัวจิตหัวใจและยึดเอาแต่ตนเป็นที่ตั้ง สุดท้าย เมื่อไม่มีใครยืนข้างอย่างมิตรแท้ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะรู้สึกโหวงว่างกลางใจ ซึ่งบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในหนัง Jobs คงกระจ่างแจ้งชัดเจนเป็นอย่างดี




กำลังโหลดความคิดเห็น