ถ้ำขนาดเล็กใต้เนินผาสูงใหญ่อันแห้งแล้งในยุคดึกดำบรรพ์ เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว “ครู้ดส์” มนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่รอดชีวิตเหลืออยู่ในละแวกนั้น สาเหตุที่บรรดาครู้ดส์ยังอยู่รอดปลอดภัย ก็เพราะทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งของ “กรั๊ก” หัวหน้าครอบครัวร่างใหญ่ อย่างเคร่งครัด .. คำสั่งของกรั๊กนั้น ไม่มีอะไรยุ่งยากไปกว่า การไม่ออกไปไหนในเวลาพระอาทิตย์ตก และการไม่ย้ายถิ่นฐานไปไหนนอกจาก “ถ้ำ”
นอกจากผู้นำครอบครัวที่เป็นตัวหลักอย่างกรั๊กแล้ว ครอบครัว เดอะ ครู้ดส์ ยังประกอบไปด้วย “อุ๊กก้า” ผู้เป็นภรรยา ซึ่งคอยดูแลความเรียบร้อยต่างๆ , “ม่า” แม่ยายของกรั๊ก ที่แสนจู้จี้จุกจิก และมักทำอะไรประหลาดๆ, “ธังค์” ลูกชายคนรองที่ดูเซ่อๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีปัญหากับใคร, “แซนดี้” ลูกสาวตัวเล็กที่ยังพูดไม่ได้ แต่ก็เป็นเด็กน้อยแสนดุ ที่พร้อมกัดใครก็ตามที่เธอไม่พอใจ และสมาชิกอีกรายคือ “อี๊ป” ลูกสาวคนโต ที่มีความคิดอ่านค่อนข้างจะออกนอกกรอบที่ผู้เป็นพ่อวางไว้
ความคิดนอกกรอบของอี๊ป คือ การที่เธอมองว่า “ถ้ำ” เป็นสถานที่ที่ทุกคนอยู่ไปวันๆ ตอนเช้าออกไปหาอาหาร ตอนเย็นต้องรีบกลับมาถ้ำให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตก ชีวิตวนเวียนเป็นวงกลมเดิมๆไม่แตกต่างไปจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความคิดดังกล่าว เธอจึงกลายเป็นคนที่มีปัญหากับพ่อมากที่สุด ในขณะที่สมาชิกรายอื่นไม่เคยตั้งคำถามใดๆ
กระทั่งในค่ำคืนวันหนึ่ง มีแสงประหลาดลอดผ่านช่องหินเข้ามาในถ้ำ อี๊ปเป็นคนเดียวที่ยังไม่นอนหลับ เธอสงสัยใคร่รู้ที่มาของแสงอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวได้ในยามราตรี จึงละเมิดกฎของพ่อแล้วออกตามแสงนั้นไป ซึ่งทำให้เธอได้เจอกับ “กาย” ชายหนุ่มรักสันโดษ ผู้อดชีวิตอีกคนหนึ่ง
กายเป็นชายหนุ่มที่ไม่ธรรมดา เพราะเขารักการเดินทาง และการผจญภัย เป้าหมายของเขา คือ เดินทางไปสู่วันพรุ่งนี้ อันหมายถึงอนาคตที่ดีกว่า โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้กาย คล้ายเป็น “มนุษย์ที่พัฒนา” มากกว่าชาวครู้ดส์ ไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์อันเฉียบแหลม ที่ทำให้เขารอบรู้กว่ามนุษย์ถ้ำครอบครัวครู้ดส์ทุกๆคน (เขารู้วิธีจุดไฟ ในขณะที่ชาวครู้ดส์ทุกคนคิดว่า มันคือดวงอาทิตย์ขนาดจิ๋ว) แม้อี๊ปเองก็โดนใจหนุ่มพเนจรอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยสถานะที่แสนจำกัดในชีวิตของเธอ ทั้งคู่จึงแยกย้ายกันไป โดยที่กายบอกความจริงให้แก่อี๊ปว่า “โลกใบนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว”
ความจริงที่ว่านั้น แทบไม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์นาน เพราะวันรุ่งขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนินผาที่แข็งแกร่ง บริเวณที่ครอบครัวชาวครู้ดส์เคยอยู่ ก็พังครืนลงมา ทุกคนต่างพากันวิ่งหนีอย่างชุลมุน แถมยังต้องหนีเจ้าเสือร้ายคู่กัดตัวป่วน จนกระทั่งตกลงไปในผืนป่าทึบเบื้องล่าง
หลังจากรอดชีวิตมาได้ ชีวิตใหม่ของชาวครู้ดส์ ก็จำใจต้องเดินต่อไป เพราะไม่มีถ้ำให้พวกเขาหลบซ่อนอาศัยอีก กรั๊กค่อยๆนำครอบครัวทุกคนบุกตะลุยไปในป่าที่ไม่มีใครคุ้นเคย แต่การผจญภัยครั้งใหม่ในโลกดึกดำบรรพ์ ก็ไม่ง่ายเหมือนอาศัยในถ้ำ เพราะชาวครู้ดส์ไปเจอะเสือเขี้ยวยาว ที่ไล่ตะปบแขกแปลกหน้าที่พลัดหลงเข้ามาในป่า ทุกคนพากันหนีเอาชีวิตรอด ออกมาสู่ทุ่งหญ้ากว้างอีกด้าน ก่อนที่แสงตะวันจะลาลับพอดี และจู่ๆ เจ้าเสือใหญ่ก็เกิดอาการหวาดกลัว วิ่งกลับไปในป่าเมื่อตะวันใกล้สิ้นแสง
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีฝูงนกดึกดำบรรพ์ ที่บินกันเป็นฝูง และมีปากฟันอันแหลมคม ชนิดที่บินผ่านสัตว์ตัวใหญ่ๆเพียงไม่กี่วินาที สัตว์ตัวนั้นก็เหลือแค่โครงกระดูก นาทีนั้นขณะที่ทุกคนตื่นตกใจ และทำอะไรไม่ถูก อี๊ปก็นึกถึงวิธีเรียกขอความช่วยเหลือ ซึ่งกายเคยสอนไว้ สาวน้อยรีบคว้าโครงกระดูกชิ้นหนึ่งมาเป่าแทนแตร เพื่อส่งสัญญาณว่ากำลังมีภัย เสียงที่ดังกังวานนั้นไปถึงหูกาย เขาจึงวิ่งออกมาจากผืนป่า และใช้ “ไฟ” ไล่ฝูงนกออกไปได้อย่างหวุดหวิด
หลังเหตุการณ์สุดระทึกผ่านพ้น ทุกอย่างก็น่าจะลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้อี๊ปจะปิ๊งความคิดของกายมากแค่ไหน แต่สำหรับกรั๊ก ผู้มีความเป็นคนดื้อ หัวโบราณ และไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า ทำให้เขาไม่ได้มองกายในฐานะฮีโร่ แต่กลับมองว่า ความคิดแปลกๆของกายต่างหาก ที่อาจทำให้ชาวครู้ดส์ตกระกำลำบาก หรือมีภัยมาถึงตัว ดังนั้น กรั๊กจึงคิดที่จะกลับไปอยู่ในถ้ำเหมือนเดิม เขาจึงจับกายไว้ และยื่นข้อเสนอให้ชายหนุ่มช่วยพาครอบครัวชาวครู้ดส์ ไปหาถ้ำดีๆแห่งใหม่
การเดินทางที่แสนสนุก วุ่นวาย ขบขัน ของ เดอะ ครู้ดส์ ก็ตามมาหลังจากนั้น โดยระหว่างทาง กายก็ได้พิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆว่า “สติปัญญา” และ “การเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป” ของเขานั้น มีประโยชน์ในการเอาชีวิตรอดได้จริง มากกว่าการยึดติดอยู่ในความคิดเดิม และใช้เพียงพละกำลังอย่างเดียว แบบที่กรั๊กทำอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ครอบครัวชาวครู้ดส์ก็ต้องเรียนรู้ และช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคให้ได้ ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผืนแผ่นดินในยุคหินจะเกิดขึ้น
แอนิเมชั่นสนุกๆเรื่อง The Croods มีข้อคิดสอนใจที่ให้สาระเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งต้องเข้าใจ ยอมรับในความคิด และรู้จักปรับตัวในความแตกต่างระหว่างกัน แต่ในอีกด้านภาพยนต์เรื่องนี้ ก็มีหลักคิดที่มีความใกล้เคียงกับหลักพุทธศาสนาเรื่อง “ไตรลักษณ์” ด้วยเช่นกัน
ไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณะ 3 ประการทางพุทธศาสนา ได้แก่ อนิจจตา (อนิจจัง) , ทุกขตา (ทุกขัง) และอนัตตตา (อนัตตา) นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องเข้าใจ เมื่อถึงสภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลง
จากในหนัง “กาย” ดูจะเป็นพระเอกตัวจริง เพราะเขาเป็นมนุษย์รายเดียว(ในช่วงแรก) ที่ก้าวพ้น และเกิดปัญญาในการเรียนรู้ว่า โลกในยุคดึกดำบรรพ์กำลังเสื่อมสลาย และมันไม่อาจยั่งยืนคงที่ได้ตลอดกาล (หลักอนิจจตา) ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น หากไม่ยอมรับไม่เข้าใจ ก็ย่อมก่อให้เกิด “ทุกขตา” หรือความเป็นทุกข์ อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยความเป็นทุกข์นั้น สื่อให้เห็นผ่านกรั๊ก ที่ยังยึดติด ยึดมั่นถือมั่น แตกต่างจากกาย ที่เข้าใจใน “อนัตตา” ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจที่ใครจะควบคุมให้เที่ยงแท้เสมอไป
ปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างบนโลกก็ล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งผู้คนรอบกาย ดังนั้น จึงต้องตระหนักรู้ตามหลักไตรลักษณ์เอาไว้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งรอบตัว เกิดเป็นปัญญาในการดำเนินชีวิต เรียนรู้ ในการเอาตัวรอด หรือการปรับปรุงตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยไม่ต้องมานั่งทนทุกข์กับความเปลี่ยนแปลง หรือยึดติดกับความคิดแบบเดิมตลอดไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)