xs
xsm
sm
md
lg

พลิกชีวิต : ฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร อดีตเด็กแก๊งเกเร สู่ตำแหน่ง “ทูตแห่งความดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะเชื่อว่า เด็กหนุ่มหน้าใสซึ่งเป็นผู้นำที่พาน้องๆทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆในเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเข้าข่ายทำความดี นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ทำละครสะท้อนปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ นั้น ในอดีตเขาเคยเป็นเด็กแก๊งที่ชอบยกพวกต่อยตี มั่วสุมเสพยา ซิ่งมอเตอร์ไซค์ป่วนเมือง หาเรื่องให้พ่อแม่ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน

ที่สำคัญเขาไม่ใช่เด็กแก๊งธรรมดาที่แค่เกเรเฮตามเพื่อนเท่านั้น แต่อยู่ในระดับหัวหน้าแก๊งที่มีน้องๆพากันมาเข้าสังกัดสมัครเป็นสมาชิกกว่า 200 คน ณ เวลานั้นไม่มีใครไม่รู้จัก ‘พี่เป้ย’ หัวหน้าแก๊งเอราวัณ ผู้สร้างตำนานเด็กแก๊งยุคแรกๆของเชียงใหม่

• วัยรุ่นหลงทาง

‘เป้ย’ ฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร
ย้อนอดีตให้ฟังถึงครั้งที่ยังเป็นเจ้าพ่อเด็กแก๊งว่า เดิมเขาก็เป็นแค่เด็กผู้ชายธรรมดา ไม่ได้ชอบท้าตีท้าต่อยกับใคร แต่ด้วยความที่ถูกเพื่อนๆและรุ่นพี่รังแกอยู่เป็นประจำ จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้เขาลุกขึ้นสู้ ต่อยตีจนไม่มีใครกล้ามารังแก ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับของกลุ่มวัยรุ่นในเมืองเชียงใหม่ ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกันและต่างสถาบัน

เมื่อมีเพื่อนๆน้องๆมารวมตัวกันเยอะขึ้น จึงมีการตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ‘แก๊งเอราวัณ’ และแต่งตั้งให้ ‘เป้ย’ เป็นหัวหน้าแก๊ง

“เด็กแก๊งส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่มีปัญหา แต่ผมไม่ใช่เลย ผมมาเป็นเด็กแก๊งเพราะถูกรังแก คือเริ่มจากที่โดนเพื่อนๆรังแก ก็ยอมมาตลอด พอถึงช่วง ม.4 ตอนนั้นเหมือนมันเป็นวัยรุ่น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เราก็ไม่ยอม ลุกขึ้นมาต่อยเขาบ้าง

จากนั้นมาก็มีเรื่องต่อยตีไปเรื่อย ต่อยกับทุกห้องในโรงเรียนเลย ใครมารังแกก็จัดการหมด ผมเลยกลายเป็นขาใหญ่ เริ่มมีคนรู้จัก มีคนชื่นชม มีเพื่อนๆน้องๆเข้ามาเยอะ ทั้งในโรงเรียนเดียวกันและต่างโรงเรียน แล้วก็น้องๆที่อยู่แถวๆบ้าน ก็เลยตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา

โดยเพื่อนๆน้องๆ ตั้งให้ผมเป็นหัวหน้าแก๊ง ตอนนั้นในเชียงใหม่มันก็มีแก๊งอยู่แล้วนะ แต่เราตั้งแก๊งของเราขึ้นมาใหม่ พอแก๊งเริ่มดังก็มีคนเข้ามาเป็นสมาชิกเยอะขึ้น มีทั้งที่ลงชื่อและไม่ลงชื่อ ที่ลงชื่อมีประมาณ 170 คน ถ้ารวมที่ไม่ลงชื่อด้วยก็ประมาณ 200 กว่าคน ส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็เพราะเขารู้สึกว่าปลอดภัย ถ้าเป็นสมาชิกแก๊งแล้วจะไม่มีใครมารังแก

คือแต่ละแก๊งก็มักไม่ถูกกัน ส่วนใหญ่จะมีเรื่องกัน เพราะเด็กที่อายุน้อยๆชอบไปหาเรื่องคนอื่น ก็เลยพลอยให้รุ่นพี่มีเรื่องกันไปด้วย บางคนคิดว่าแก๊งตัวเองใหญ่กว่าเลยกร่างใส่คนอื่น บางทีก็เรื่องผู้หญิง บางทีแค่มองหน้ากันก็มีเรื่องกันแล้ว

พอรุ่นน้องมาบอกว่า ถูกแก๊งโน้นแก๊งนี้รังแก เราเป็นหัวหน้าแก๊งก็ยกพวกไปตีคืน ช่วงนั้นก็เอาหมดทุกอย่าง ทั้งพาน้องๆไปตีกับเขา บางทีไปกันเป็นร้อยคนเลยนะ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือการเสพยา แล้วก็ชวนน้องๆมาเล่นยาด้วย

คือวัฒนธรรมเด็กแก๊งกับยาเสพติดมันจะมาคู่กัน แล้วผมก็ไม่ยอมเรียนหนังสือ ซึ่งพ่อกับแม่เสียใจ ตอนนั้นผมทำให้พ่อแม่เสียน้ำตาบ่อยมาก คือเขาเลี้ยงเรามาดีมาก ผมเป็นเด็กพูดเพราะ อยู่ในกรอบ พอเราเป็นอย่างนี้พ่อกับแม่ผิดหวังมาก” เป้ยเล่าถึงช่วงชีวิตที่เดินผิดพลาด

• เด็กแก๊งกลับใจ

จุดเปลี่ยนของเป้ยนั้นเกิดจากความรู้สึกเบื่อหน่ายกับวิถีเด็กแก๊งที่ใช้ชีวิตเสเพลไปวันๆ ไม่มีคุณค่า ไม่มีอนาคต ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปก็คงไม่แคล้วต้องไปค้ายาหรือว่านั่งขอทาน เป้ยจึงตัดสินใจเรียกประชุมและประกาศต่อหน้าสมาชิกแก๊งเอราวัณทุกคนว่า เขาจะเลิกเกเร เลิกยกพวกตีกัน และจะปฏิวัติวัฒนธรรมเด็กแก๊งใหม่

เอราวัณจะเป็นแก๊งที่หันมาทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งการตัดสินใจของเป้ยนั้นได้สร้างความตกตะลึงให้แก่สมาชิกเป็นอย่างมาก แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับแนวทางของเป้ย แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่เข้าใจ รับไม่ได้ และถึงขั้นหมดศรัทธาในตัวหัวหน้า เพราะมองว่าการเลิกต่อยตีเลิกพี้ยานั้น เป็นเรื่องของคนขี้ขลาด

“ผมเกเรอยู่ประมาณ 2 ปี วันหนึ่งเรามานั่งคิดว่า พ่อแม่คงไม่ได้เลี้ยงเราไปตลอดชีวิต พ่อแม่ไม่อยู่เราจะเอาอะไรกิน เพราะเรียนแค่ ม.5 ก็ไม่จบ ได้วุฒิแค่ ม.3 จะไปทำงานอะไรได้ สุดท้ายก็คงต้องไปนั่งขอทาน

วันนั้นผมก็เดินออกจากบ้านเลย ไปนั่งเป็นขอทานบนสะพานลอย ลองดูสิถ้าเราขอทานเลี้ยงตัวได้ชีวิตก็คงจะรอด (หัวเราะ) ผมนั่งขอทานอยู่อาทิตย์หนึ่ง ระหว่างนั้นเราได้อยู่กับตัวเอง ทำให้ผมได้คิดหลายอย่าง จากที่เกลียดเวลามีใครมาหยามเรา มันเห็นเลยว่า การเป็นขอทานมันต้องอดทนขนาดไหน ความคิดมันเปลี่ยนไปเลย แล้วก็ตั้งใจเปลี่ยนตัวเอง

ก็เลยเรียกประชุมแก๊ง แล้วก็ประกาศว่าจะปฏิวัติแก๊งเอราวัณใหม่ เราจะหันมาเป็นคนดี เราจะไม่ตีกับใครแล้ว ซึ่งบางคนก็เห็นด้วย บางคนรับไม่ได้ เขาก็ออกไป

ปัจจุบันเราก็ยังเป็นแก๊งเอราวัณนะ และผมก็ยังเป็นหัวหน้าแก๊ง แต่ว่าแนวทางของเราเปลี่ยนไปจากเด็กที่ชอบยกพวกตีกัน มาเป็นทำกิจกรรมดีๆ สมาชิกบางส่วนก็ออกไปบ้าง เพราะเวลาเขามีเรื่องผมไม่ได้ไปช่วยเขาต่อยตีอะไรแล้ว คนที่อุดมการณ์ไม่ตรงกันก็แยกย้ายออกไป

สมาชิกแก๊งตอนนี้ก็ประมาณ 100 กว่าคน มีทั้งสมาชิกเก่าที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แล้วก็สมาชิกที่เข้าใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กกิจกรรม ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี ที่สำคัญที่สุดคือพ่อกับแม่ พอรู้ว่าเราเปลี่ยนไป เราตั้งใจจะเป็นคนดี เขาดีใจมาก” เป้ยเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

• แกนนำทำความดี

หลังจากเลือกเดินทางใหม่ เป้ยก็นำน้องๆไปทำกิจกรรมต่างๆในเชิงสร้างสรรค์ ทั้งกิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม การเข้าข่ายทำความดี หรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม เช่น ทำความสะอาดวัด หรือทำหนังสั้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาเด็กแก๊งที่คิดจะกลับใจ

ปัจจุบัน เป้ยในวัย 23 ปี แม้จะไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือ แต่ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นในหลายด้าน ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในฐานะวิทยากร ผู้เขียนบทและผู้กำกับละครและหนังสั้น ทุกวันนี้เป้ยเป็นวิทยากรอิสระ ที่สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับวัยรุ่น โดยเฉพาะปัญหาของ ‘เด็กแก๊ง’ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจเด็กๆเหล่านี้มากขึ้น และช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไข ไม่ให้พวกเขาเดินหลงทาง

“ส่วนใหญ่ผมจะทำโครงการเกี่ยวกับการชักชวนให้เยาวชนมาทำความดี มีกิจกรรมเข้าค่าย ทำความสะอาดวัด สร้างห้องน้ำ ทำละครเวทีสะท้อนปัญหาวัยรุ่น ซึ่งสะท้อนให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่า ทำไมเราถึงมาเป็นเด็กแก๊ง จริงๆพวกเราก็ไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดีนะ

โดยเราจะตระเวนแสดงตามย่านชุมชนต่างๆ เช่นถนนคนเดิน แสดงในวันประชุมผู้ปกครองของโรงเรียนต่างๆ ละครนี่เราทำต่อเนื่องมา 2 ปีแล้วครับ ล่าสุดก็ทำหนังสั้นเรื่อง ‘ตรอก’ ซึ่งจะเป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแก๊งกลับตัวกลับใจ เราวางไว้ 3 ตอน เสร็จไปแล้วตอนหนึ่ง แล้วก็มีแนวโน้มว่าอาจจะได้ทำเป็นภาพยนตร์ ก็กำลังคุยกันอยู่ครับ

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ตอนแรกส่วนใหญ่ก็จะเป็นเงินเราเอง เงินที่พ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนมา แต่ก็จะมีงบจาก อบจ. จากพัฒนาสังคมบ้าง นอกจากนั้นก็มีหน่วยงานต่างๆ เชิญไปเสวนาเกี่ยวกับปัญหาเด็กแก๊ง เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของผม ไปบรรยายให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟังว่า ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเกเร

ซึ่งหลังจากที่ทำโครงการต่างๆมาเนี่ย ปรากฏว่าเสียงสะท้อนกลับมาดีมาก เพราะมีผู้ปกครองหลายคนเข้ามาคุยกับเราว่า เขาไม่รู้เลยว่าเด็กๆคิดแบบนี้ เขาจะกลับไปปฏิบัติกับลูกเขาใหม่ ขณะที่น้องๆก็เปลี่ยนไปเยอะ

มีเคสหนึ่งที่ผมภูมิใจมาก คือเคสของน้องตั้ม ซึ่งจากที่เป็นเด็กแก๊ง ตอนหลังเขาก็ไปเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมแก้ปัญหาเด็กแก๊งเหมือนที่ผมทำ เขียนโครงการเอง ทำอะไรเองหมด เห็นแล้วก็ปลื้มใจครับ” เป้ยกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

• เมื่อเด็กแก๊งหันหน้าเข้าวัด

ผลจากการทำความดีตลอดระยะเวลา 5 ปีของเป้ยนั้น ทำให้เขาได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเยาวชนดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2551 รางวัลคนดีศรีเชียงใหม่ ปี 2553 หรือรางวัลทูตความดีแห่งประเทศไทยประจำภาคเหนือ D-ambassador season II 2555-2556 ซึ่งรางวัลเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังใจให้เป้ยตั้งใจทำความดีต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

เป้ยกลายเป็นวัยรุ่นที่สนใจศึกษาธรรมะ และชอบนั่งสมาธิเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้พ่อแม่ไม่น้อย

“คือกิจกรรมที่เราก็มีหลายอย่าง แต่ที่ทำให้พ่อแม่ผมแปลกใจมาก คือ ผมพาน้องๆไปนั่งสมาธิที่วัด พ่อแม่ก็บอก เอ๊ะ..เป็นไปได้ยังไง คือมันเกิดจากที่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมก็ลองศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ก็ศึกษาจากหนังสือ ก็มาเจอเรื่องสมาธิ ซึ่งเขาบอกว่าจะช่วยให้จิตใจเราสงบได้

อีกอย่างก็เคยสงสัยว่า เอ๊ะ!ทำไมเราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เราไม่ได้เลือกเอง แต่พ่อแม่เลือกให้ ก็เลยสงสัยว่าศาสนานี้คงมีดีอะไรสักอย่าง ก็เลยลองศึกษาดู พอนั่งสมาธิแล้วก็รู้สึกดี รู้สึกว่าจิตใจสงบ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ แล้วหลังๆผมก็จะเป็นคนชวนพ่อแม่ไปวัด (หัวเราะ)”

• เสียงฝากจากเด็กแก๊ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป้ยกำลังวิตกอยู่ในขณะนี้ก็คือ ปัจจุบันปัญหาเด็กแก๊งกำลังกลายเป็นใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ค่านิยมเด็กแก๊งเริ่มขยายวงมากขึ้น เด็กแก๊งมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่อายุเฉลี่ยของวัยรุ่นที่เข้ามาเป็นเด็กแก๊งนั้นน้อยลง และที่น่าตกใจคือ มีเด็กผู้หญิงเข้ามาเป็นเด็กแก๊งในสัดส่วนที่พอๆกับเด็กผู้ชาย

“ปัจจุบันแก๊งในเชียงใหม่มันเยอะมาก เด็กแทบทุกคนต้องมีแก๊ง แล้วก็จะมีแก๊งใหญ่ๆหลายแก๊ง อย่าง แก๊งออลเวย์ แก๊งหลังมอ แก๊งพิฆเนศ ปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดคือ เดี๋ยวนี้เด็กที่เข้ามาเป็นเด็กแก๊งอายุน้อยลงเรื่อยๆ เด็กอายุ 13-14 ก็มาอยู่แก๊งแล้ว ตอนนี้เด็กแก๊งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กมัธยมต้น ซึ่งต่างจากแต่ก่อน เมื่อก่อนจะเป็นมัธยมปลาย แล้วก็มีเด็กผู้หญิงมากขึ้น ดูๆแล้วเด็กผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

เมื่อก่อนนี้เด็กผู้ชายตีกัน เดี๋ยวนี้เด็กผู้หญิงตีกัน มันมีบ่อยขึ้น ตีกันเรื่องผู้ชายบ้าง บางทีมองหน้ากันแล้วไม่พอใจ มันเหมือนผู้ชายเลย คือมันเหมือนกับพอมาเป็นเด็กแก๊งแล้วมันเป็นจุดเด่น ทำให้เขาได้รับความสนใจมากขึ้น

เท่าที่สังเกตนะทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชายที่มาเป็นเด็กแก๊งเพราะไม่มีที่ไป คือเรียนก็ไม่เก่ง เล่นกีฬาก็ไม่ได้ เขาก็เลยไม่มีที่อยู่ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า แล้วเด็กส่วนใหญ่ที่มาอยู่แก๊งจะมีปัญหาครอบครัว

จากที่เคยจัดกิจกรรมประชุมเด็กแก๊ง 50 คน มีเด็กที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันแค่ 2 คน บางคนพ่อขี้เหล้า แม่ขี้เมา แล้วหัวหน้าแก๊งที่ไม่มีอาชีพเนี่ยเขาอยู่ได้ เพราะขายยาเสพติดให้แก่น้องๆในแก๊ง น้องบางคนก็เดินยาหาเงินให้หัวหน้า ซึ่งตรงนี้มันเป็นปัญหาใหญ่นะ ไม่ใช่แค่เรื่องเด็กตีกันหรือขับรถซิ่ง

มันเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชน ถ้าเราช่วยกันสังคมก็จะดีขึ้นครับ” เป้ยกล่าวตบท้ายด้วยประกายตาแห่งความหวัง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย กฤตสอร)





กำลังโหลดความคิดเห็น