xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : ธรรมเดินทาง ณ ทางเดินธรรม (๒) กราบ ๔ สังเวชนียสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในนิตยสารธรรมลีลาฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๕ ผมเคยเขียนไปแล้วครั้งหนึ่งถึงเหตุผลของการเดินทางไปกราบสักการะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ว่าไปแล้วได้อะไร และการเดินทางไปอินเดีย เปลี่ยนชีวิตของเราชาวพุทธได้อย่างไร

ครั้งนั้นเป็นการเขียนถึงอินเดียโดยที่ยังไม่เคยไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งนำพาคณะท่องเที่ยว ท่องธรรม กลับจากการเดินทางตามรอยธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อินเดียและเนปาล โดยเฉพาะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง อันหมายถึงสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธทั่วโลกต่างต้องการไปจาริกแสวงบุญ

พระมหา ดร.สิงขร ปริยัติเมธี พระธรรมทูตสายอินเดีย ซึ่งร่วมเดินทางเป็นพระธรรมวิทยากรให้กับคณะของเรา ได้อธิบายถึงเหตุปัจจัยของชาวพุทธ ในการเดินทางมาสังเวชนียสถานว่า

"โดยส่วนใหญ่พระสงฆ์ที่มาแสวงบุญที่นี่ก็คือ ตั้งใจจะมากราบไหว้สังเวชนียสถานตามที่ตัวเองได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา ตามที่พระพุทธองค์เคยชวนไว้ว่า เมื่อร่างกายแตกดับแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ พระสงฆ์บางท่านเมื่อไปเทศน์แล้วชาวบ้านไม่ให้ความเชื่อถือว่าพระพุทธสถานเหล่านี้มีจริง แต่เมื่อมาเห็นแล้วท่านยิ่งตอกย้ำความมั่นใจว่าพุทธสถานมีจริง พุทธศาสนามีจริง และท่านมาเพื่อจะได้ปลงสังเวช คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังสารวัฏที่เราเห็นอยู่ เมื่อก่อนพุทธศาสนาเจริญที่ประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง ดังนั้น กลับไปจะได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งเป็นดอกผลของที่นี่ ให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น"

การเดินทางธรรมของเรา เริ่มต้นที่นี่ครับ …. ลุมพินีวัน

ลุมพินีวันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนประเทศอินเดีย ในอดีตเนปาลรวมอยู่ในอินเดีย เรียกว่า "ชมพูทวีป" ต่อมาภายหลังเมื่ออังกฤษเข้าปกครอง จึงได้แยกประเทศออกจากกัน ลุมพินีวันจึงตกอยู่ในเขตพื้นที่ของเนปาล

ลุมพินีวัน เรียกตามภาษาบาลีว่า "ชาตสถาน" คือสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ เดิมเป็นสวนหลวงที่ใช้ร่วมกันระหว่างเจ้าศากยะและเจ้าโกลิยะ เมื่อพระนางสิริมหามายาพุทธมารดาทรงตั้งครรภ์ได้ครบ 10 เดือน ก็เสด็จกลับเมืองเทวทหะ อันเป็นเมืองของพระองค์ เพื่อคลอดบุตรตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ที่ระบุให้สตรีต้องไปคลอดบุตรที่บ้านตนเอง แต่เมื่อถึงลุมพินีวันก็ได้ประสูติพระโอรสในอุทยานนั่นเอง

พระอาจารย์พีรานุวัตน์ อริยานุวตฺโต พระธรรมทูตอาสาสายอินเดียอีกรูปหนึ่ง ซึ่งร่วมเดินทางไปกับคณะเรา ได้อธิบายถึงเหตุแห่งการจุติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ชมพูทวีป แห่งนี้ว่า เทพยดาทั้งหลายได้อาราธนาให้พระพุทธองค์ไปจุติในโลก เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สั่งสอนเวไนยสัตว์ แต่ก่อนที่พระพุทธองค์จะตัดสินพระทัยรับอาราธนา ได้ทรงพิจารณามหาวิโลกนะ คือ การตรวจดูอันยิ่งใหญ่ ๕ ประการ ได้แก่ ๑.กาล ๒.ทวีป ๓.ประเทศ ๔.ตระกูล ๕.มารดา

“ข้อ ๑ พิจารณากาล ได้แก่ ช่วงอายุกาลของมนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่าง ๑๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปี เพราะถ้าเกินหนึ่งแสนปี เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องชาติชรามรณะจะไม่ปรากฏ คนทั้งหลายก็จะไม่เห็นว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นอย่างไร แต่ถ้ามนุษย์อายุต่ำกว่าหนึ่งร้อยปี เวลาพระพุทธเจ้าปรารภธรรม คนทั้งหลายจะไม่สนใจ เพราะจะสาละวนกับการทำมาหากิน

ข้อ ๒ พิจารณาทวีป ซึ่งในสมัยพุทธกาลมีทั้งหมด ๔ ทวีปด้วยกัน ๑. ปุพพวิเทหทวีป ๒. อุตตรกุรุทวีป ๓. อมรโคยานทวีป ๔. อมรโคญาณทวีป โดยธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะเลือกมาอุบัติในชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล และบังกลาเทศ

ข้อ ๓ พิจารณาในส่วนของประเทศ จะเลือกเกิดในประเทศที่จะเจริญ เรียกว่ามัชฌิมประเทศ หรือประจันตประเทศ มัชฌิมประเทศก็คือประเทศส่วนกลางที่มีความเจริญ จึงลือกแคว้นสักกะ

ข้อ ๔ พิจารณาตระกูล คือ เลือกอุบัติในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์เท่านั้น และจะต้องดูว่าในตอนนั้นผู้คนนับถือตระกูลอะไรสูงสุด เพราะเวลาไปแสดงธรรมจะได้ดูสง่างามไม่ครั่นคร้าม หากกิดในตระกูลต่ำกว่า เวลาแสดงธรรมก็จะไม่สง่า

ข้อ ๔ พิจารณาในส่วนของประเทศ จะเลือกเกิดในประเทศที่จะเจริญ เรียกว่ามัชฌิมประเทศ หรือประจันตประเทศ มัชฌิมประเทศก็คือประเทศส่วนกลางที่มีความเจริญ จึงลือกแคว้นสักกะ

ข้อ ๕ พิจารณาในส่วนของมารดา ซึ่งดูแล้วเห็นว่าพระนางสิริมหามายา ภรรยาพระเจ้าสุทโธทนะ ตั้งแต่เกิดมารักษาศีลห้าไม่เคยขาด และเกิดมาเพื่อเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ ดังนั้น จึงทรงเลือกเกิดในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา"


ในคราวที่กุมารสิทธัตถะประสูตินั้น มีคน สัตว์ สิ่งของที่จะเกี่ยวข้องกับพระองค์ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันตามสถานที่อันสมควรเรียกว่า "สหชาติ" รวม ๗ อย่างด้วยกัน คือ

• เจ้าหญิงยโสธราพิมพา ผู้จะทรงเป็นพระชายาของพระองค์

• พระอานนท์ ผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้ปรนนิบัติจวบจนพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

• นายฉันนะ ผู้จะเป็นมหาดเล็กคนสนิท คอยติดตามรับใช้พระองค์ จนกระทั่งเสด็จออกบรรพชา

• อำมาตย์กาฬุทายี ผู้จะเป็นสหายสนิทตอนพระเยาว์ และเป็นผู้จะไปนิมนต์พระองค์เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์

• ม้ากัณฑกะ มีลักษณะสีขาวผ่องเหมือนหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ซึ่งจะเป็นพาหนะที่พาพระองค์เสด็จออกบรรพชา

• หม้อขุมทรัพย์ทั้ง ๔ คือขุมทอง ๔ แห่งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นสมบัติของผู้มีบุญ

• ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่พระองค์ประทับใต้ต้นขณะตรัสรู้ ซึ่งจะเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ ที่คณะท่องเที่ยว ท่องธรรม ได้เดินทางไป นั่นก็คือ "พุทธคยา" ครับ

พุทธคยาตั้งอยู่บริเวณอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างพากันมาแสวงบุญ อาจจะเป็นด้วยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนานั่นเอง

ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และในวันนั้นเองที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดของมนุษยชาติขึ้น

พระองค์ทรงได้ค้นพบความจริงที่ว่า ๑. การเกิดขึ้นหรือการมีชีวิตอยู่นั้น เป็นเรื่องของความทุกข์จริง ๒. สมุทัย : ความทุกข์ที่เกิดขึ้นต้องมีสาเหตุจริง ๓. นิโรธ : เพื่อให้ความทุกข์หมดไป ก็ต้องกำจัดหรือดับทุกข์ให้ได้จริง และ ๔. มรรค : วิธีหรือหนทางที่จะทำให้ทุกข์ดับไปได้สำเร็จ มีอยู่จริงและพบแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้คือความจริงอันสูงส่ง เป็นความจริงอันประเสริฐ เรียกว่า อริยสัจ ๔

พระสมณโคดมได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ บริเวณใต้พระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาแห่งนี้
 เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในกัปป์นี้ ก็ทรงตรัสรู้ที่นี่ ซึ่งชาวพุทธเชื่อกันว่า เป็น "ปัถวินาภิมณฑล" หรือสะดือของโลก นี่จึงเป็นเหตุให้พุทธคยาคราคร่ำไปด้วยนักบวชนิกายต่างๆ ที่มาปฏิบัติธรรมเจริญสติ ในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น "บ่อเกิดแห่งแสงสว่างของโลก"

ฉบับหน้าจะมาเขียนเล่าถึงการเดินทางไปกราบสักการะสังเวชนียสถานอีก 2 แห่งที่เหลือกันครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)



กำลังโหลดความคิดเห็น