xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : รู้คุณคน หนทางสู่ความสุขความเจริญ จดหมายจากพ่อถึงลูก ฉบับที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึง...ตุลย์....ลูกรัก

พ่อดีใจที่ลูกโทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบว่า ได้ปรับพฤติกรรมของตนเองใหม่ ตามคำแนะนำของพ่อ ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เลวร้าย ทั้งในบ้านและที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ลูกสามารถบริหารเวลาในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวได้มากขึ้น นี่ทำให้ลูกตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของครอบครัว เห็นสาระในการดำเนินชีวิตที่ผูกพันกันของครอบครัว รอยยิ้มอย่างมีความสุขของหลานๆ เป็นสิ่งที่สร้างความเอิบอิ่มใจให้แก่ลูก

ลูกได้นำทัศนคติที่พ่อได้เขียนพรรณนาไว้แล้วนั้น ไปคุยปรับความคิดกับเพื่อนร่วมงาน แม้จะมีความยากลำบากในการปรับตัวอยู่บ้างในตอนต้น แต่เมื่อทุกคนพร้อมเพรียงกันทำงานด้วยความปรารถนาดีต่อกัน งานในความรับผิดชอบก็มีประสิทธิผลมากขึ้น

เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งในส่วนตนและองค์กรแล้ว ลูกและเพื่อนร่วมงานจึงเห็นถึงความไร้สาระของความขัดแย้งในการทำงานที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ เลย

ที่ลูกอยากทราบว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ความปรารถนาดีต่อกันนี้ สามารถดำรงอยู่ตลอดไป?

พ่อมาตรองดูว่า ทำไมพ่อถึงมีความปรารถนาดีต่อแม่ มาตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกันจนถึงวันนี้ โดยไม่เสื่อมคลาย ทั้งเพิ่มพูนความปรารถนาดีขึ้นทุกวัน?

ทำไมพ่อจึงมีความปรารถนาดีต่อลูก มาตั้งแต่วันที่ลูกเกิดจนถึงวันนี้โดยไม่ลดน้อยลง ทั้งยังเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน?

ทำไมพ่อมีความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมงาน อย่างต่อเนื่องทวีคูณ?

พ่อตรึกอยู่นานกว่าจะพบคำตอบว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่อสามารถพัฒนาความปรารถนาดีที่มีต่อทุกคนให้เพิ่มพูนขึ้นได้ ก็เพราะพ่อ “รู้คุณ” ของคนที่พ่อปรารถนาดีต่อเขา

“คุณ” ของเขา ก็คือ ความดีที่มีประจำอยู่ในตัวของเขา ที่เป็นปัจจัยนำให้พ่อเกิดความรู้สึกที่อยากจะเกื้อกูลต่อเขาอยู่เสมอ ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ความปรารถนาดีต่อกันสามารถดำรงอยู่ตลอดไป ก็คือ การรู้คุณคน นั่นเอง

เมื่อมาพิเคราะห์ถึงคนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในสังคม จะพบว่ามีอยู่ ๒ ประเภทคือ คนที่มีฐานะสูงกว่าและเป็นที่เคารพ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ พระสงฆ์ หัวหน้างาน และคนที่มีฐานะเสมอหรือต่ำกว่า เช่น ภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกคิดว่าความปรารถนาดีที่มีต่อคนทั้งสองประเภทนี้จะเป็นเช่นไร? ลองตรองดู

สำหรับพ่อ คนที่มีฐานะสูงกว่าและเป็นที่เคารพ ย่อมเป็นผู้ทำความดีที่ก่อสุขประโยชน์ต่อเราอยู่เสมอ ปฏิสัมพันธ์กับท่านเป็นไปในทางสร้างสรรค์อยู่เสมอ ท่านจะเป็นผู้ให้เราในหลากหลายสิ่งที่เป็นความดี ให้ความอบอุ่นเย็นใจยามได้อยู่ใกล้ สุขใจยามได้ระลึกถึง ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่เรายกย่องว่าเป็นบุพการี ปฏิสัมพันธ์ที่ท่านมีแก่เรา ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า บุญคุณ

บุญคุณที่บุพการีชนได้กระทำต่อเรา ย่อมนำให้บุพการีชนเป็นเจ้าบุญนายคุณของเรา ซึ่งเมื่อเรามาระลึกถึงบุญคุณของท่าน ก็จะเป็นคุณธรรมที่เรียกว่า กตัญญู ความปรารถนาที่จะเกื้อกูลตอบแทนบุญคุณของท่าน ก็คือ กตเวที

คนที่มีสำนึกในความกตัญญู ย่อมมีความปรารถนาที่จะแสดงกตเวทีอยู่เสมอ เหตุนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา) จึงทรงนิพนธ์ธรรมภาษิตไว้ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี

ลูกพึงพิเคราะห์ดูตนเองว่า เราเป็นคนดีตามธรรมภาษิตนี้แล้วหรือยัง? เพราะคำตอบนี้จะทำให้ลูกได้ตระหนักถึงปฏิสัมพันธ์ต่อบุพการี ซึ่งจะเป็นมูลเหตุแห่งความปรารถนาดีที่มีต่อท่านอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ลูกลองคิดถึงการเคาะโลง เพื่อเรียกบุพการีที่ตายไปแล้ว ให้ฟังพระสวดอภิธรรม หรือทานอาหารที่นำไปเซ่นไหว้ ว่ามีประโยชน์ใดต่อบุพการีท่านนั้นหรือไม่

พ่อเชื่อว่าลูกก็คงตอบว่า เปล่าประโยชน์ในการกระทำเช่นนี้ เพราะไม่มีทางใดเลยที่จะทราบว่าวิญญาณของท่านนั้นมาปฏิสัมพันธ์ตามที่ตั้งใจไว้

บรรพชนท่านก็คงคิดแบบลูก ท่านจึงกำหนดวิธีปฏิบัตินี้ไว้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ที่ไปร่วมงานศพ ว่าสิ่งใดที่เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็ควรกระทำเสียแต่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะสุขประโยชน์ที่ปรารถนาจะให้แก่กัน ย่อมบังเกิดผลได้ตามปรารถนา เหมือนดังที่พ่อแม่ตั้งใจเลี้ยงดูลูกมาจนถึงบัดนี้

ลูกก็ตระหนักดีแล้วว่า เมื่อตอนลูกยังเด็ก ยามลูกปฏิบัติตนดี อยู่ในกรอบระเบียบวินัยที่พ่อแม่กำหนดไว้ ลูกก็จะรับสุขประโยชน์อันเกิดขึ้นจากพระคุณของพ่อแม่ ยามลูกปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง พ่อแม่ก็ลงโทษไปตามโทษานุโทษ เพื่อให้ลูกได้หลาบจำ ด้วยพระเดชหรืออำนาจที่พ่อแม่พึงมีต่อลูก

ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้จึงเป็นเหมือนการนำว่าวให้ติดลมบนลอยเด่นบนท้องฟ้า การดึงสายป่านให้ตึงหรือการผ่อนสายป่าน ย่อมเป็นไปตามกระแสลมที่จะหนุนว่าวให้ลอยขึ้นและคงอยู่ในท้องฟ้า นี่ฉันใด การเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่มาเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคม ก็ย่อมอาศัยพระเดชพระคุณของพ่อแม่เป็นเครื่องกำกับอยู่เสมอ

สิ่งที่พ่ออยากจะบอกกับลูกก็คือ คนเราต้องรู้จักมีปฏิสัมพันธ์กันแบบผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง เพื่อจะช่วยให้งานที่ประสงค์สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ นี่ก็คงเป็นเหตุให้บรรพชนเรียกผู้มีอำนาจเหนือตนว่าพระเดชพระคุณ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนถึงปฏิสัมพันธ์ที่จะมีต่อกันตามฐานะผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่จะต้องมีการลงโทษและให้รางวัลควบคู่กันไปเสมอ

พ่ออยากให้ลูกได้หมั่นสังเกตบุคคลที่อยู่ในฐานะบุพการี ว่าท่านปฏิบัติตนอย่างไรจึงสามารถได้รับความเคารพนับถือจากผู้อยู่ในบังคับบัญชาอยู่เสมอ พ่อเชื่อว่าลูกจะเห็นถึงความดีที่เป็นคุณของท่านเหล่านั้น ที่ตรึงใจของผู้อยู่ในบังคับบัญชา นำให้เขาอยากตอบสนองความดีของท่านตามกำลังความสามารถของตน ปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนี้ ล้วนเป็นไปด้วยการรู้คุณของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะส่งผลให้ความปรารถนาดีต่อกันได้บังเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พ่ออยากเรียกการรู้คุณคนที่เป็นบุพการีนี่ว่า “รู้บุญคุณ” คนที่รู้บุญคุณของคนที่มีฐานะสูงกว่าและเป็นที่เคารพอยู่เสมอ ย่อมมีใจปรารถนาที่จะตอบแทนคุณความดีของท่าน ย่อมเป็นคนดีที่สังคมต้องการ พ่อเชื่อว่าลูกจะรู้จักการปฏิบัติตนที่เนื่องจากการรู้บุญคุณของบุพการีเป็นอย่างดีแล้ว จึงหวังว่าจะประพฤติตนเป็นตัวอย่างแก่หลานๆ สืบไป

การรู้จักบุญคุณของหัวหน้างานด้วยหน้าที่ของตน ย่อมจะทำให้เราสามารถเปิดใจให้กว้างขวางรับคำแนะนำที่เป็นคุณประโยชน์ต่อการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย และยังทำให้หน่วยงานเป็นสวรรค์ในการทำงานด้วย พ่อคงไม่อธิบายเพิ่มเติมแล้วล่ะ คิดว่าลูกคงจะตระหนักถึงการรู้บุญคุณคนได้แล้ว

สำหรับคนที่มีฐานะเสมอหรือต่ำกว่า อาจเป็นผู้ทำความดีที่ก่อสุขประโยชน์แก่เราได้ตามกาล และตามฐานะของเขา ลูกลองคิดถึงภรรยาดูว่า ความดีที่เขาทำให้ลูกมีอะไรบ้าง ความดีที่ลูกคิดได้นั้นก็คือคุณของภรรยา ลูกอาจมีความคิดแย้งพ่อด้วยสารพัดสิ่งที่ภรรยาทำไม่ถูกใจลูก อันเป็นอคติที่ลูกมีต่อภรรยา พ่ออยากให้ลูกมองส่วนดีของภรรยาตามคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี อยู่ส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริงฯ


พ่อเชื่อว่าลูกจะมองเห็นคุณของภรรยาได้อย่างชัดเจน ตอนที่พ่อไปทำงานนอกบ้าน แม่ก็เป็นคนทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูก ความดีของแม่จึงมีเพิ่มพูนเสมอในจิตใจของพ่อ

วันนี้ลูกมีความสำเร็จในชีวิตประมาณใด พ่อก็ยิ่งระลึกถึงคุณของแม่มากเท่านั้น ปฏิสัมพันธ์อันเป็นความปรารถนาดีที่พ่อมีต่อแม่จึงไม่มีวันสิ้นสุดเลย

ลูกก็อาจจะแย้งอีกว่า ภรรยาของลูกก็ไปทำงานด้วยกัน หลานก็ฝากยายเลี้ยง งานบ้านก็มีคนอื่นทำแทน ความดีของภรรยายังมองไม่เห็น พ่อก็ไม่แย้งลูกเลย แต่ถ้าเป็นพ่อ พ่อจะระลึกถึงความดีที่เขามีหลานให้ลูก และให้เวลากับหลานมากขึ้นตามวัยของหลาน เพียงเท่านี้ก็เป็นความดีที่ตรึงใจของพ่อแล้ว

ความสุขของครอบครัวไม่จำเป็นต้องมาจากความสมบูรณ์พร้อม เพียงทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ก็มีความสุขแล้วมิใช่หรือ ถ้าลูกไม่เห็นความดีของภรรยา ลูกก็ไม่รู้คุณของภรรยา ลูกจะสามารถรักษาความปรารถนาดีของภรรยาได้นานเท่าใด เหลียวมองดูครอบครัวคนที่ลูกรู้จักหน่อยซิ ว่าปัญหาในครอบครัวนั้นเกิดมาจากอะไร คำตอบที่ลูกจักได้รับ ก็คงเป็นคำอธิบายที่พ่อพรรณนามาแล้ว

ลูกลองพิจารณาถึงคุณของลูกน้องดูหน่อยสิ ว่ามีอะไรบ้าง ถ้าลูกมองไม่เห็นความดีของลูกน้องที่ได้ทำให้ลูก พ่อก็ทราบทันทีว่างานในความรับผิดชอบของลูกไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงตามเป้าหมาย ลูกต้องทำงานคนเดียว มีความเครียดอยู่กับงานตลอดเวลา ลูกไม่เคยทำความดีกับลูกน้องเลย ปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานจึงเป็นไปในทางทำลายกันมากขึ้น

นี่เป็นอันตรายต่อชีวิตและอนาคตของลูก ลูกจะต้องปรับปรุงตนเองให้รู้จักคุณของลูกน้องโดยทันที ถ้าลูกมองเห็นความดีของลูกน้องจากน้อยไปหามาก พ่อก็จะยินดีกับลูกที่ปฏิสัมพันธ์ในการทำงานของลูกเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อกัน ผลงานย่อมเป็นไปตามเป้าหมายและได้ประสิทธิผลตรงตามต้องการ นี่ก็แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในงานของลูก พ่อก็ต้องแสดงความดีใจกับลูกด้วย

การรู้คุณของคนที่มีฐานะเสมอหรือต่ำกว่า ย่อมทำให้ปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสุขประโยชน์แก่ทุกคน ทำลายอคติที่เป็นอุปสรรคในการทำงานได้ ความพร้อมเพรียงในการทำงานตามหน้าที่จึงมีอยู่ตลอดเวลา ทุกคนล้วนทำงานด้วยความปรารถนาดีต่อกัน อันแสดงออกมาให้ทราบทางกายและวาจาอยู่เสมอ

ถึงตรงนี้ นำให้พ่อระลึกถึงการรู้คุณของพระสารีบุตร ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าท่านเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที มีเรื่องเล่าว่า เมื่อราธพราหมณ์ผู้ยากไร้อยากจะบวช แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดรับบวชให้ ราธะจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลความประสงค์ของตน

พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสงฆ์ที่ประชุมอยู่หน้าพระพักตร์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดระลึกถึงอุปการคุณของราธพราหมณ์ ผู้นี้บ้าง”

ขณะนั้น พระสารีบุตรเถระ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ได้กราบทูลว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ระลึกได้ พระเจ้าข้า คือ วันหนึ่ง ข้าพระองค์ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ พราหมณ์ผู้นี้เคยได้ถวายอาหารข้าวสุกแก่ข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้วตรัสยกย่องพระสารีบุตรเถระว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที แล้วมอบราธพราหมณ์ให้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ดำเนินการบวชให้ และทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วยวิธีไตรสรณคมน์ ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิมแล้ว ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอันเป็นวิธีอุปสมบทโดยมีสงฆ์เป็นใหญ่

พระสารีบุตรเถระถือเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก และพระราธะเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เป็นรูปแรก การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เพื่อทำให้พ่อตระหนักถึงการรู้คุณคน พ่อได้นำ ส.ค.ส.ปี ๒๕๕๖ ที่ในหลวงได้พระราชทานไว้ มาตั้งไว้ที่โต๊ะทำงาน แล้วอ่านธรรมะใน ส.ค.ส.นั้นทุกเช้า พร้อมทั้งเตือนตนเองว่า เราต้องทำตนให้ตรงตามธรรมนั้น

พ่อจึงฝากส.ค.ส.ฉบับนี้มาให้ลูก และหวังว่าลูกจะปฏิบัติตนให้มีธรรมที่พระราชทานไว้ว่า

“ความเมตตาเป็นคุณธรรมนำความสุข
ช่วยปลอบปลุกปรุงใจให้หรรษา
ความกตัญญูรู้คุณผู้เมตตา
ทวีค่าของน้ำใจไมตรีเอย”


ขอให้ลูกจงมีปัญญารู้คุณคนอยู่เสมอ

รักลูกมากเสมอ
พ่อโต


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย พระครูพิศาลสรนาท(พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น