xs
xsm
sm
md
lg

อุตตรกุรุ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

​คนในทุกสังคมต่างมีความฝันที่จะหลีกหนีความทุกข์ที่มีอยู่เป็นธรรมดา พวกเขาจึงมีความคิดเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติที่สรรพสิ่งมีความแตกต่างไปจากโลกแห่งความเป็นจริง ในสังคมตะวันตก Sir Thomas More เขียนเรื่อง Utopia ซึ่งแปลว่า “ไม่มีที่แห่งใด” ในตะวันออก ศาสนาพุทธมีการกล่าวถึงสังคมอุดมคติเช่นกันชื่อ “อุตตรกุรุ” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ด้วย

​ในคติของศาสนาพราหมณ์มีทวีปอยู่ 3 ทวีป คือ ชมพูทวีป อมรโคยานี และบูรพวิเทห์ สำหรับอุตตรกุรุนั้นเป็นทวีปที่สี่ อุตตรกุกุทวีปเป็นดินแดนที่มนุษย์ยังไม่สูญเสียความบริสุทธิ์ไป เมื่อมนุษย์ไม่มีกิเลสจึงไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่มีรัฐเหมือนกับความคิดของมาร์กซ์ที่เห็นว่า รัฐเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้ง เมื่อหมดความขัดแย้ง รัฐก็จะสลายตัวไป

​ในอุตตรกุรุไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่มีครอบครัว ชายหญิงอยู่ด้วยกันเพียง 7 วันก็จากไป ไม่มีความผูกพันระหว่างกัน แม้จะมีลูกแต่ก็ไม่ต้องเลี้ยงดู เพราะการเลี้ยงดูนั้นก่อให้เกิดความผูกพัน และจะนำไปสู่การสะสมซึ่งจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง ที่จะทำให้เกิดรัฐขึ้นอีก

​สภาพชีวิตในอุตตรกุรุเป็นสภาพชีวิตที่พุทธศาสนาบรรยายไว้ในอัคคัญญสูตร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับความคิด สังคมนิยมในอุดมคติ กล่าวคือ นอกจากชุมชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกันแล้ว ความเป็นอยู่ในสังคมยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกัน มีใจเมตตากรุณาต่อกัน ไม่แก่งแย่งทะเลาะวิวาทชิงทรัพย์สินกัน การที่ทรัพย์สินเป็นของกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอยู่อย่างเหลือล้นไม่คงที่ หรือมีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีวันหมดไปนี้ทำให้คนไม่เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ไม่มีความจำเป็นในการสะสม เพราะการสะสมนั้นเกิดจากความรู้สึก และสภาพความเป็นจริงที่ว่า ของที่ดีมีประโยชน์นั้นมีอยู่อย่างจำกัดในสังคม ความจำเป็นในการหาเลี้ยงชีพไม่มีครอบครัวไม่มี เพราะสังคมอุตตรกุรุนั้น ชายหญิงอยู่กันเพียง 7 วันก็จากไป ไม่ต้องมีข้อผูกพันเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

​ชาวอุตตรกุรุไม่ต้องเลี้ยงลูก เมื่อมีลูกก็เอาไปวางไว้ริมทาง คนเดินผ่านมาก็จะเอามือป้อนข้าวเด็กนั้น เรื่องนี้เท่ากับว่าเด็กได้รับการเลี้ยงดูร่วมกันโดยชุมชน เด็กไม่รู้จักพ่อแม่

​สำหรับทรัพย์สินที่เป็นของส่วนกลางนั้น ก็มีต้นกัลปพฤกษ์สูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ มีรอบปริมณฑล 300 โยชน์ ใครต้องการได้เงินทอง ข้าวปลาอาหารก็เพียงแต่ไปยืนใต้ต้นกัลปพฤกษ์นั้น และนึกเอาก็จะได้สิ่งของที่ต้องการ สภาพสังคมในอุดมคติเช่นนี้มีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ว่า ในสมัยที่พระศรีอาริย์มาโปรดนั้น ความสมบูรณ์พูนสุขสันติสุขจะเกิดขึ้นเอง

​ดังนั้น สังคมอุตตรกุรุจึงเป็นสังคมในฝัน แต่ในไตรภูมิพระร่วงก็ไม่ได้บอกว่า จะบรรลุถึงสังคมเช่นนี้ได้อย่างไร แต่ก็ให้ข้อคิดเป็นนัยๆ ว่า สิ่งใดที่สังคมมนุษย์ปัจจุบันเป็นอยู่ สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ในอุตตรกุรุ สังคมอุตตรกุรุจึงมีลักษณะเป็นสังคมนิยมในอุดมคติแบบจินตนาการเพ้อฝันอย่างหนึ่งที่ให้ความหวังแก่ผู้ที่เชื่อในการเข้าสู่ยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเอง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องพยายามก่อตั้งขึ้น เพียงแต่รอคอยให้สังคมพระศรีอาริย์มาถึงเอง

​จะว่าไปแล้ว ก็มีความพยายามที่จะสร้างสังคมอุดมคตินี้ เช่น ชุมชนสงฆ์ในพุทธศาสนา เป็นต้น ชุมชนคณะสงฆ์เริ่มด้วยการเข้าสู่ชีวิตใหม่ โดยมีชื่อใหม่ การเข้าสู่สมณเพศด้วยการสละความผูกพันกับครอบครัว ไม่มีการสะสม มีแต่การกินอาหารมื้อต่อมื้อด้วยการบิณฑบาต สังคมสงฆ์ที่ยังเคร่งครัดเรื่องนี้ยังมีเหลืออยู่ในปัจจุบัน และมีฆราวาสเข้าร่วมด้วย ดังกรณีของชุมชนชาวอโศกของพระโพธิรักษ์ เป็นต้น ชุมชนสงฆ์มีการปฏิเสธทรัพย์สินส่วนบุคคล และย้ำการอยู่ร่วมกันในฐานะเท่าเทียมกันด้วยการปฏิบัติธรรม พยายามขจัดความรู้สึกดั้งเดิมของมนุษย์ที่มีความโลภ ความโกรธ และความหลง

​จะเห็นได้ว่าความคิดของศาสนาพุทธมีความลึกซึ้งมาก เพราะได้วิเคราะห์ไปถึงมูลเหตุแห่งการสะสมว่าเป็นเพราะมนุษย์มีกิเลส มีความโลภ มีความผูกพัน ดังนั้น ชีวิตจึงมีแต่ความทุกข์ และทางที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นี้ได้ก็ต้องสละทุกอย่าง แม้แต่ความผูกพันกับครอบครัว ดังเช่นพระเวสสันดร เป็นต้น

​สังคมในอุดมคติเป็นสังคมที่มนุษย์ใฝ่ฝัน แต่ก็ไม่มีมนุษย์ชาติใดที่จะทำได้ ในอังกฤษ โรเบิร์ต โอเวน เคยตั้งชุมชนขึ้น แม้พวกมอร์มอนก็พยายามที่ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ปฏิเสธความทันสมัยในรูปแบบต่างๆ

​แม้ว่าเราไม่อาจสละความผูกพันกับสิ่งต่างๆ ได้ แต่อย่างน้อย เราก็ควรระลึกว่า หากเราต้องการอยู่อย่างมีความสุข เราก็จะต้องละการสะสม คือ ต้องมีความโลภน้อยลง ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นคำสอนทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นปรัชญาการเมืองที่สำคัญอีกด้วย เพราะได้ลงลึกวิเคราะห์ถึงปฐมเหตุของความขัดแย้งในสังคมมนุษย์ และเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาตลอดจนหาทางแก้ไขความขัดแย้งเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น