วันทำบุญใหญ่ของพุทธศาสนิกชนนั้นมีอยู่หลายวัน แต่สำหรับในเดือน 11 นี้ งานบุญใหญ่ที่สุดก็คือวันออกพรรษา ซึ่งเป็นธรรมเนียมอันดีที่ชาวพุทธจะเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศฟังธรรม รักษาศีล และทำจิตใจให้บริสุทธิ์
ในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย ก็จะมีประเพณีที่ร่วมฉลองวันออกพรรษาแตกต่างกันไป และที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ แห่งนี้ ก็มีงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่ไม่เหมือนใครในโลก นั่นก็คือ “ประเพณีแห่กระธูป” ซึ่งจะทำในช่วงก่อนออกพรรษาประมาณ 2-3 วัน ดังเช่นในปีนี้ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง
ตามความเชื่อของชาวพุทธ ในวันออกพรรษานั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อลงมาโปรดสัตว์ ภายหลังจากโปรดพุทธมารดาแล้ว ชาวพุทธจะมีการถวายสักการะ และเฉลิมฉลองกันในเทศกาลนี้ ซึ่ง “ต้นกระธูป” ถือเป็นตัวแทนของ “ต้นหว้า” อันเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นธูปมีความยาวประมาณ 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไปใน 4 ทิศทาง กว้างเป็นปริมณฑลได้ 100 โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้เป็นที่ร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอาต้นธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่างๆ กลิ่นหอมนี้ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปิติและความสุขความเบิกบาน
จากคำบอกเล่าของ อาจารย์สุทธิพร สุพรหม ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลหนองบัวแดง เล่าว่า การทำต้นกระธูปเพื่อถวายวัดในช่วงออกพรรษานี้ เป็นประเพณีของชาวอีสานพื้นถิ่นมาแต่ดั้งเดิม ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีลักษณะการทำกระธูปที่ใกล้เคียงกัน คือ นำขุยมะพร้าวมาบดเป็นผงละเอียด จากนั้นนำใบอ้ม ใบเนียม มานึ่ง ตากให้แห้ง และบดให้ละเอียด นำไปผสมกับขุยมะพร้าว เหตุที่ใช้ใบอ้ม ใบเนียม ก็เนื่องจากเป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ตามท้องไร่ท้องนา หรือป่าข้างบ้าน และมีกลิ่นหอม เมื่อนำไปทำธูปก็จะได้ธูปที่มีกลิ่นหอม
ส่วนกระดาษที่ใช้ห่ออาจจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือในสมัยก่อนใช้ปอสามาทุบ แล้วนำน้ำมาทำเป็นแผ่นตากแห้งได้กระดาษสา ใช้ผงที่ผสมกันแล้วมาห่อด้วยกระดาษนี้ให้เป็นแท่งยาวเหมือนธูป และใช้กระดาษสาที่ทำเป็นสีสันจากธรรมชาติพันทับให้สวยงามเป็นลวดลายต่างๆ ก็จะได้ธูปที่สำเร็จแล้ว
การนำกระธูปมารวมกันจะใช้ใบตาลมาพับให้เป็นรูปดาว ก่อนจะใช้เชือกหรือด้ายห้อยกระธูปลงมาตามแฉกของดาว ส่วนคันถือจะใช้ไม้ที่หาได้มาทำเพื่อถือไปวัด โดยแต่ละบ้านจะทำต้นกระธูปของตัวเอง นำไปที่วัด เมื่อเวียนเทียนเสร็จแล้วก็จะจุดธูปบูชาต่อไป
“การทำกระธูปถือว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ก่อนจะเกี่ยวข้าวก็จะระดมลูกหลานให้มาช่วยกันทำกระธูป ถ้าลูกหลานไปทำงานที่อื่นก็จะกลับมาช่วยกันที่บ้าน การทำกระธูปนี้จะเริ่มทำก่อนวันออกพรรษาประมาณ 2-3 วัน สมัยก่อนนั้น นอกจากจะทำต้นกระธูปแล้ว ชาวบ้านก็ยังทำธูปเป็นแท่งๆ แยกออกมาต่างหาก เพื่อนำไปถวายพระที่วัดให้ได้ใช้จุดบูชาต่อไปด้วย”
“ปัจจุบันในท้องถิ่นอื่นๆ อาจจะหลงเหลือประเพณีนี้อยู่บ้าง แต่ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คือ หันมาใช้ธูปสำเร็จรูปที่มีขายอยู่มาจุดและปักในกระถางธรรมดา แต่สำหรับที่อำเภอหนองบัวแดงนี้ เป็นแห่งเดียวที่ยังมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้อยู่ โดยเฉพาะการแห่กระธูป จะมีเฉพาะที่นี่ที่เดียว แม้ว่าจะหันมาใช้ธูปสำเร็จรูปในการทำต้นกระธูปเหมือนกับที่อื่นๆ”
สำหรับการทำต้นกระธูปในปัจจุบันของชาวหนองบัวแดง ก็จะใช้ธูปสำเร็จรูป 3 ดอก มาพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้กลายเป็นแท่งเดียว โดยหากเปรียบเทียบธูป 3 ดอก ก็คือ การบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และอีกสาเหตุคือ หากใช้ธูป 3 ดอกจะพันให้เป็นแท่งได้ง่ายกว่า ซึ่งเมื่อพันกระดาษหนังสือพิมพ์แล้ว ก็จะใช้กระดาษสีมาพันทับ จากนั้นแต่งลวดลายด้วยกระดาษสีต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง
ลวดลายของกระธูปแต่ละต้น หรือของแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันไป ในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องพุทธประวัติ หรือการใช้ลวดลายในการทอผ้ามาเป็นลวดลายของกระธูป เช่น ลายผ้าขิด ที่ทอกันในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันจะผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้มีลวดลายที่แปลกตามากขึ้น
เมื่อถึงเวลาที่จะจุดกระธูปนั้น ชาวบ้านจะทำภาชนะสำหรับจุดไฟมาใช้ในประเพณีนี้ โดยนำ “ลูกดุมกา” ที่มีลักษณะคล้ายส้ม มีเปลือกแข็ง นำมาผ่าครึ่ง เอาเนื้อออก แล้วใส่งา หรือพืชน้ำมัน หรือใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อ ใส่ด้ายที่ควั่นเป็นรูปตีนกา เป็นชนวนในการจุดไฟ
การทำกระธูปแบบปัจจุบันนั้นเริ่มต้นครั้งแรกที่ “บ้านราษฎร์ดำเนิน” โดยทำต้นกระธูปและจัดให้มีมหรสพก่อนวันออกพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 จนมาถึงเมื่อปี พ.ศ.2545 ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอหนองบัวแดงได้ร่วมประดิษฐ์ต้นกระธูปเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิม และนำมาแห่รอบอำเภอ รวมถึงมีการจัดประกวดต้นกระธูปเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
การทำต้นกระธูปสำหรับประกวดนั้นต้องมีความสูงมาตรฐานประมาณ 6 เมตร และการตัดสินจะใช้เกณฑ์ความปราณีตสวยงามของลาย การสื่อความหมายของลาย ความคิดสร้างสรรค์ ความสมดุลของรูปทรง ซึ่งลวดลายที่เห็นในปัจจุบันนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาค และสถานการณ์ปัจจุบัน
ส่วนการแห่กระธูปในปัจจุบัน ถือเป็นเทศกาลประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวหนองบัวแดง มีชาวบ้านในพื้นที่หนองบัวแดง ชาวบ้านต่างอำเภอ รวมถึงคนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาร่วมชมขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ ขบวนแห่กระธูปนี้จะมีประมาณ 9 ขบวน ซึ่งในแต่ละขบวนจะนำเสนอวัฒนธรรมของตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ เรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ประชาคมอาเซียน ปัญหาเด็กและวัยรุ่น และยังมีต้นกระธูปจำลอง (กระธูปคนละต้นที่ใช้ในการประกวด) อวดฝีมือสร้างสรรค์ของชาวบ้าน มีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน มหรสพต่างๆ และการออกร้านจำหน่ายสินค้า ที่นับว่างานนี้เป็นอีกหนึ่งงานประจำปีของชาวหนองบัวแดงที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจัดขึ้น
ความคึกคักในงานประเพณีแห่กระธูปที่อำเภอหนองบัวแดงแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความร่วมมือร่วมใจในการสืบสานประเพณีพื้นบ้านในวันออกพรรษาให้ยังคงอยู่เป็นมรดกของท้องถิ่นต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง โทร. 0-4487-2123 ท้องถิ่นอำเภอ โทร. 08-6879-0287 หรือที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา (ดูแลพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ) โทร. 0-4421-3030, 0-4421-3666