xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : กายวิภาคศาสตร์ที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตอนจบ ผลลัพธ์ของกายวิภาคศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การศึกษาเรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ หรืออาการ ๓๒ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกายโดยตรง เป็นการศึกษาเรื่องของมนุษย์ รวมไปถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์

หากพิจารณาตามแนวทางวิทยาศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพร่างกายของมนุษย์ให้ดีอยู่เสมอ เพื่อความเป็นผู้มีสุขภาพที่ดี ที่ไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงินทองจากที่ไหน เพราะบุคคลใดต้องการสุขภาพที่ดี บุคคลนั้นก็ต้องดูแล บำรุง และรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

หากพิจารณาตามแนวทางพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่า รูปกายเป็นของที่ไม่น่ายึดถือ เพราะแม้แต่รูปกายของพระพุทธเจ้าก็ยังเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ตามธรรมดาของสังขารที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง

แต่ว่าธรรมกายของพระองค์ไม่เสื่อมสิ้นไปด้วย ธรรมกายนั้นยังคงอยู่ นี่คือข้อบ่งชี้ได้ว่า ร่างกายไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป แต่พระธรรมคำสั่งสอนต่างหากที่จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์

ดังพระพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสสอนพระวักกลิว่า“จะมีประโยชน์อะไรด้วยร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นอยู่นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม”

ถ้าร่างกายนี้เป็นของเราอย่างแท้จริงแล้ว เราก็ต้องบังคับบัญชาได้ บังคับให้อยู่ในอำนาจของตนได้ เช่นสั่งมันว่า จงอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย หูอย่าตึง ตาอย่าฝ้าฟาง หลังอย่าโกง ฟันอย่าหัก ผมอย่าหงอก ร่างกายจงแข็งแรง อย่าอ่อนแอ เป็นต้น

แต่เป็นเพราะเราสั่งบังคับร่างกายไม่ได้ และร่างกายก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรหลงผิดคิดไปว่าเป็นตัวตนของเรา เพราะจะทำให้มีความทุกข์เพิ่มขึ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร หาสาระไม่ได้

บางครั้งอาจจะรู้สึกว่า เราน่าจะบังคับร่างกายให้ทำอะไรๆได้ทั้งหมด แต่ความจริงเราสั่งได้เพียงส่วนน้อย คือ ส่วนที่เกี่ยวกับกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเท่านั้น

ส่วนการดำเนินกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการครองชีวิตในส่วนลึก หรือการทำงานของอวัยวะภายในทั้งหมด เราไม่สามารถบังคับได้เลย

เหตุเพราะว่า รูปกายไม่ได้อยู่ในบังคับของเรา แต่เป็นไปตามเหตุทางธรรมชาติ ส่วนการกระทำต่างๆ ที่เราได้ก่อขึ้นโดยอาศัยร่างกาย เป็นเรื่องที่เราสามารถบังคับได้ เราจึงต้องรับผิดชอบสำหรับกรรมทั้งหลายที่ได้ก่อเอาไว้

ร่างกายของมนุษย์นั้นมีปัจจัยเป็นเครื่องปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา หาความยั่งยืนถาวรได้ไม่ เพราะระคนไปด้วยความแก่และความตาย ซึ่งร่างกายของมนุษย์ที่เกิดมานี้ เป็นรังแห่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ พร้อมทั้งมีความเสื่อมสลาย และทรุดโทรมไปเป็นที่สุด ไม่อาจหลีกหนีให้พ้นจากความเจ็บ ความแก่ และความตายไปได้ เราเกิดมาเท่าใดก็ตายหมดไปเท่านั้น ความคงทนเที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกและร่างกายย่อมไม่มี

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงควรดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยการหมั่นประกอบความดีที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ละเว้นความชั่วอันจะเป็นโทษภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมขององค์พระศาสดา

แท้จริงแล้วชีวิตของมนุษย์นี้สั้นนัก แต่ผู้คนส่วนใหญ่หลงคิดไปว่าชีวิตนี้จะยืนยาว จึงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนถึงเรื่องการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นี้เป็นพระปัจฉิมโอวาทของพระตถาคต อันเป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากที่ได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา

พระพุทธดำรัสนี้ถือเป็นพระพุทโธวาทที่รวบรวมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระไตรปิฎก เพราะถ้าขาดหลักธรรมในเรื่องความไม่ประมาทเสียแล้ว ธรรมะทั้งหมดก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ควรที่เราทั้งหลายจะน้อมนำพระพุทธดำรัสนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น กายวิภาคศาสตร์ หรืออาการ ๓๒ นี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรผู้ทำงานในวงการแพทย์อีกด้วย

เพราะผู้ที่ทำงานในด้านการแพทย์จะประสบพบเจอกับอวัยวะส่วนต่างๆ เหล่านี้อยู่เป็นประจำ ทั้งจากการผ่าตัด การรักษา และการซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่เสียหาย หากได้มีการนำอาการ ๓๒ มาพิจารณาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานอยู่เนืองๆ ก็จะมีจิตที่น้อมไปในกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น อันเป็นเหตุให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ ที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นได้ในที่สุด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร(สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)

กำลังโหลดความคิดเห็น