คำว่า “กายวิภาคศาสตร์” ส่วนใหญ่จะนึกถึงวิชาของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สาขาหนึ่ง ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตำแหน่งและโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายของมนุษย์ เพื่อไว้ให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ถึงส่วนต่างๆ ในร่างกายว่าอยู่ตำแหน่งไหน ทำหน้าที่อย่างไร ผิดปกติหรือไม่ ถือว่าเป็นศาสตร์ที่มีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่งสาขาหนึ่ง และเป็นศาสตร์ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน
โดยเริ่มตั้งแต่สมัยอารยธรรมโบราณที่มีการผ่าตัดซากศพของมนุษย์ จนกระทั่งรู้จักใช้น้ำยารักษาสภาพของศพ ความรู้เหล่านั้นได้สืบทอดและพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง การศึกษากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ (Anatomy) เป็นวิชาที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ จากการค้นพบบันทึกในกระดาษปาปิรุส (Papyrus)
แต่มาศึกษากันอย่างจริงจังในยุคสมัยของพวกนักปราชญ์ชาวกรีก ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกายวิภาคศาสตร์ โดยมีฮิปโปเครตีส (Hippocrates ก่อน ค.ศ. 460) เป็นบิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก (Father of Medicine) ที่สนับสนุนให้มีการศึกษาทางด้านการแพทย์อย่างเป็นระบบและวางรากฐานอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนกายวิภาคศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา ก็มีความเป็นมาอย่างยาวนานไม่แตกต่างกัน
โดยเริ่มตั้งแต่ในสมัยก่อนพุทธกาล ที่บรรดาเจ้าชายแห่งเมืองต่างๆ ถูกส่งให้ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์ ๑๘ ประการจากเมืองตักสิลา เพื่อนำความรู้ที่ได้ศึกษามาบริหารบ้านเมืองของตนเอง
แม้กระทั่งในสมัยพุทธกาล เจ้าชายสิทธัตถะในช่วงที่ทรงเยาว์วัยก็ได้ทำการศึกษาศิลปะศาสตร์ดังกล่าว หนึ่งในศาสตร์เหล่านั้นก็คือ ติกิจฉศาสตร์ หรือเวชศาสตร์ หมายถึง วิชาที่เกี่ยวกับการรักษาร่างกาย หรือวิชาทางการแพทย์นั่นเอง เป็นการบ่งบอกว่าวิทยาการทางการแพทย์ของอินเดียโบราณ มีการศึกษากันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตทีเดียว
ครั้นในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงนำศิลปะศาสตร์ดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทรงเรียกส่วนต่างๆ ในร่างกายว่า “อาการ 32 หรือ ทวัตติงสาการ” ซึ่งเทียบเคียงได้กับกายวิภาคศาสตร์ทางการแพทย์ และทรงสอนให้พระภิกษุศึกษาความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ เพื่อเป้าหมายให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปกายของตน
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้า (ปรินิพพานก่อน ค.ศ. 543) กับฮิปโปเครตีสอยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ห่างกันประมาณ 80 ปีเศษเท่านั้น แต่มีความสนใจศึกษาในเรื่องร่างกายของมนุษย์เหมือนกัน ชี้ให้เห็นว่าในยุคสมัยก่อน มนุษย์มีความสนใจใคร่รู้เรื่องภายในร่างกายของตนเองอยู่ก่อนแล้ว แต่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาเพื่อทำการเยียวยารักษาโรคภัยที่เข้ามาเบียดเบียนร่างกาย เพื่อทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นเป็นสำคัญ
แต่แตกต่างจากพระพุทธเจ้า ที่ทรงศึกษาเพื่อให้เข้าถึงความรู้แจ้ง และพ้นทุกข์จากรูปกายภายนอก อันเป็นสิ่งที่มนุษย์หลงคิดกันว่างดงาม แท้ที่จริงแล้วร่างกายของมนุษย์มีแต่จะแก่หง่อมลงทุกวัน และเดินหน้าเข้าหาความตายในที่สุด
รูปกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ เป็นสถานที่ที่ควรจะต้องทำการศึกษาเป็นสิ่งแรก เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต เพราะสามารถจะให้ความรู้ทุกอย่างแก่เราได้ โดยไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหน เนื่องจากได้มีอยู่แล้วในตัวของทุกคน
เพราะรูปกายนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นความเจริญเติบโต ความแก่ชรา หรือความเน่าเปื่อยผุพังของร่างกาย สามารถสัมผัสจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ทุกๆ คน
เพียงแต่ผู้คนส่วนใหญ่มักไปหลงใหลอยู่กับรูปกายภายนอกที่คิดว่าสวยงาม และน่าพึงใจเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทางพระพุทธศาสนาได้นำรูปกายนี้มาใช้เป็นหลักธรรมสอนใจมนุษย์ ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ที่มิได้งดงามอย่างที่เห็นด้วยตาเปล่า
ดังเช่นในวิชยสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕) ซึ่งเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
“ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง... ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้ การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ”
ในการศึกษาส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มุ่งเน้นไปที่การดูแลรักษาร่างกาย เพื่อให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นเป็นสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับ “ร่างกายภายนอก” เป็นอันดับแรก
แต่ทางพระพุทธศาสนามีเป้าหมายที่เด่นชัดมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที นั่นคือ ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายมนุษย์ที่คิดกันว่าสวยงาม น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา แต่แท้จริงแล้ว อัตภาพนี้เป็นของเน่าเปื่อย ผุพัง เป็นรังแห่งโรค และดำเนินไปสู่ความเสื่อม ความชรา และความตาย
อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนามิได้ให้ความสำคัญเฉพาะเพียงแค่เรื่อง “ร่างกายภายนอก” อย่างเดียวเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วได้ให้ความสำคัญกับ “จิตใจ” อีกด้วย
และหากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจมากกว่าร่างกายเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นที่มาของการศึกษากายวิภาคศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา ที่มุ่งเน้นถึงสภาพร่างกายที่เป็นสิ่งปฏิกูล ให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต แล้วจะได้เกิดความเบื่อหน่าย คลายจากความกำหนัด ยินดี รักใคร่ เพื่อจะได้เข้าถึงความหลุดพ้นสืบไป
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)