xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๙๖ กลุ่มพระต่างแคว้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มพระต่างแคว้น คือ กลุ่มพระที่ออกบวชต่างแคว้นละ ๑ รูป (เฉพาะที่เป็นพระอสีติมหาสาวก) มี ๖ รูป คือ พระพาหิยะ พระปุณณะ พระทัพพะ พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ พระมหากัปปินะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

งานสำคัญ (ต่อ)

พระทัพพะ บวชและบรรลุอรหัตผลเมื่ออายุ ๗ ขวบดังกล่าวมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแคว้นมัลละอันเป็นบ้านเกิด

วันหนึ่งขณะหลีกเร้นอยู่ตามลำพัง ท่านได้ตรวจดูความสำเร็จของตนแล้วก็เกิดความคิดที่จะทำประโยชน์แก่ส่วนรวม คือ จัดเสนาสนะแจกจ่ายให้พระที่มาจากต่างถิ่นได้พักอาศัย และจัดพระไปฉันตามที่มีผู้นิมนต์ไว้

ท่านนำความคิดนี้ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนา ในขณะเดียวกันก็ทรงเห็นว่าท่านอายุยังเยาว์ แต่ต้องการมารับภาระหนักอันน่าจะเป็นหน้าที่ของพระมากกว่า เพื่อให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคล่องตัว ดังนั้น จึงทรงบวชยกให้ท่านเป็นพระตั้งแต่วันนั้น ท่านทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสนาสนะหรือการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์

การจัดเสนาสนะ ท่านยึดหลักดังนี้ คือ จัดพระที่มีอุปนิสัยคล้ายกัน หรือมีความถนัดคล้ายกันไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านจัดพระที่เชี่ยวชาญพระสูตรให้พักอยู่ในที่เดียวกัน พระที่เชี่ยวชาญพระวินัยและพระที่เชี่ยวชาญพระอภิธรรมก็จัดให้พักในทำนองเดียวกัน โดยตระหนักถึงเหตุผลว่า พระเหล่านั้นจะได้คุ้นเคยกันและสนทนาในเรื่องที่ถนัดเหมือนกัน

นอกจากนั้น ท่านยังจัดเสนาสนะให้ตามความประสงค์ผู้มาพัก ไม่ว่าจะเป็นซอกเขาหรือในถ้ำ หากมีพระมาขอพักในเวลากลางคืน ท่านก็เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้เกิดแสงสว่างที่ปลายนิ้วมือ แล้วเดินนำหน้าพระอาคันตุกะเหล่านั้นไปส่งตามที่พักแห่งต่างๆ ครั้นพาพระอาคันตุกะไปส่งถึงที่พักแล้ว ท่านก็บอกให้ทราบถึงการใช้ที่พัก รวมทั้งบอกเวลาเข้าออกที่เหมาะสมให้ด้วย

ส่วนการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์ ท่านยึดหลักความเหมาะสมเกี่ยวกับวัยวุฒิและคุณวุฒิ ท่านยังรู้ไปถึงว่าอาหารชนิดใดเป็นสัปปายะหรือไม่เป็นแก่พระรูปใด พระทั่วไปต่างยอมรับในการจัดการของท่าน

บางแห่งกล่าวว่า นอกจากภารกิจดังกล่าวที่เป็นเหตุให้ท่านได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะแล้ว ท่านยังได้ทำงานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ร่วมทำปฐมสังคายนา ท่านเป็นพระอรหันต์รูป ๑ ใน ๕๐๐ รูป ที่ได้รับคัดเลือกจากพระมหากัสสปะ แต่บางแห่งก็ว่า ท่านนิพพานก่อน

พระรัฐบาล ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้วก็เดินทางไปแคว้นกุรุอันเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมบิดามารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คราวนั้นท่านได้แสดงธรรมโปรดพระเจ้าโกรัพยะด้วย

เรื่องมีว่า ขณะที่ท่านพักกลางวันอยู่ที่มิคชินอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พระเจ้าโกรัพยะทรงทราบข่าว จึงเสด็จมาตรัสสนทนากับท่านถึงเหตุผลที่ออกบวช

พระเจ้าโกรัพยะ : ท่านรัฐบาล คนอื่นเขาออกบวชเพราะประสบกับความเสื่อม ๔ ประการ คือความแก่ ความเจ็บไข้ สิ้นทรัพย์ สิ้นญาติ แต่ท่านไม่ประสบอย่างเขา ไฉนจึงออกบวช

พระรัฐบาล : ขอถวายพระพร อาตมาภาพออกบวชเพราะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โลกคือหมู่สัตว์ ถูกชราครอบงำ ไม่ยั่งยืน ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีอะไรเป็นของของตนที่แท้จริง จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง และพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

จากนั้นพระรัฐบาลได้อธิบายขยายความถวายพระเจ้าโกรัพยะจนเข้าพระทัย และเลื่อมใสในธรรมะของท่าน พระเจ้าโกรัพยะได้ตรัสชมเชยท่านเป็นอย่างมาก ความจริงแล้วพระเจ้าโกรัพยะทรงรู้จักกับตระกูลของท่านเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นตระกูลที่มีอุปการคุณแก่รัฐดังกล่าวมาแล้ว

พระโสณโกฬิวิสะ ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักจนเท้าและฝ่ามือแตกเลือดไหลเปรอะเปื้อน พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงอนุญาตให้ท่านสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ท่านทูลขอโอกาสให้ทรงมีพระพุทธานุญาตต่อพระสาวกรูปอื่นด้วย

พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของท่าน จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้พวกเธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้น” และนับแต่นั้นมาพระจึงสวมรองเท้าได้

พระมหากัปปินะ ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้วได้รับหน้าที่สอนพระตามที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมาย เรื่องมีว่า เดิมทีเดียวท่านไม่ประสงค์จะสอนใครแม้แต่อันเตวาสิกของท่าน

พระพุทธเจ้าทรงทราบความเข้า จึงตรัสเตือนท่านมิให้ทำอย่างนั้น ท่านปฏิบัติตามและสอนพระให้ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ๕๐๐ รูป ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุ

ส่วนพระพาหิยะ ไม่มีงานสำคัญให้ต้องพูดถึง เพราะท่านนิพพานก่อนจะบวช

บั้นปลายชีวิต

พระพาหิยะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้ไม่ถึงวัน ก็นิพพานดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เป็นด้วยบาปกรรมเก่าในอดีตชาติตามมาให้ผล กรรมเก่านั้นคือ ร่วมกับเพื่อนลวงโสเภณีนางหนึ่งไปฆ่าชิงทรัพย์

เรื่องมีว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นลูกเศรษฐี วันหนึ่งได้ร่วมกับพวกอีก ๓ คน ว่าจ้างโสเภณีนางหนึ่งไปหาความสุขสำราญกันในสวน ซึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยราคา ๑,๐๐๐ กหาปนะ ตกเย็นครั้นจ่ายค่าตัวให้นางแล้วรู้สึกเสียดาย จึงร่วมกันวางแผนฆ่านางทิ้ง แล้วชิงเอาเงินคืนพร้อมปลดเอาเครื่องประดับในตัวนางไปด้วย

ฝ่ายโสเภณีเมื่อรู้ว่าจะถูกฆ่าแน่ทั้งที่ตัวเองไม่มีความผิด ก็อ้อนวอนขอชีวิต แต่ก็ไร้ผล เพราะคนหนึ่งใน ๔ คนนั้นได้ลงมือฆ่านางแล้ว ก่อนจะสิ้นชีวิตนางได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้ฆ่าคนเหล่านั้นเป็นการแก้แค้นบ้างในชาติหน้า แรงอาฆาตส่งผลให้นางเกิดเป็นนางยักษิณี

ฝ่ายพระพาหิยะและเพื่อนทั้ง ๓ คนนั้นเวียนว่ายตายเกิดและตกนรกเพราะกรรมนั้นส่งผลแล้ว มาในชาตินี้ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ นางยักษิณีได้แปลงเป็นแม่โคมาขวิดตายหมดทุกคน

พระพาหิยะถูกแม่โคขวิดขณะออกหาบาตรและจีวร เพื่อใช้เป็นบริขารทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาพบ ทรงรับสั่งให้พระช่วยกันเผาศพท่าน แล้วนำอัฐิไปบรรจุไว้ในเจดีย์ตรงทาง ๔ แยก เพื่อให้คนได้บูชาและน้อมนึกถึงมาเป็นเครื่องเตือนใจ อันเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ได้สังฆานุสสติ (การระลึกถึงพระสงฆ์)

พระปุณณะ หลังจากกลับไปอปรันตชนบทอันเป็นบ้านเกิดและนำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานได้มั่นคงแล้ว ไม่นานนักก็นิพพานที่บ้านเกิดนั้นเอง ชาวแคว้นอปรันตชนบทบูชาศพท่านอยู่ ๗ วัน จึงทำพิธีเผา

พระทัพพะ นิพพานที่เมืองราชคฤห์ มีเรื่องเล่าว่า วันที่ท่านจะนิพพานนั้น ท่านได้ไปทูลลาพระพุทธเจ้า จากนั้นก็เหาะขึ้นไปกลางอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้าสมาบัติอยู่กลางอากาศนั้น ครั้นออกจากสมาบัติแล้วก็นิพพาน ฉับพลันนั้นเองก็เกิดไฟลุกไหม้ร่างของท่านหมดสิ้นไปไม่เหลือแม้แต่เถ้าถ่าน ทั้งนี้เป็นไปตามความปรารถนาของท่านเอง

พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ และพระมหากัปปินะ แม้จะไม่มีหลักฐานกล่าวถึงเบื้องปลายชีวิตของท่านไว้ แต่ก็เชื่อได้ว่าพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๓ รูปนี้นิพพานหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะในคราวทำปฐมสังคายนานั้น ก็มีชื่อท่านร่วมอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น