xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : อ่านพุทธศาสนา ผ่านวรรณคดีไทย “ขุนช้างขุนแผน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วรรณคดีเป็นการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และอุดมการณ์ทางสังคมของผู้ประพันธ์ในยุคหนึ่ง และอยู่ยืนยงมาจนถึงอีกยุคหนึ่ง ลึกๆแล้วเราจึงสามารถเรียนรู้บริบททางสังคม ณ ขณะนั้น ผ่านวรรณกรรมได้ แม้จะมีการเสริมเติมแต่งจินตนาการจากผู้เขียน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านบ้างก็ตาม

จังหวัดสุพรรณบุรีถือเป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนานวรรณคดีไทยอยู่เรื่องหนึ่ง คือ "ขุนช้างขุนแผน" ที่ได้รับความสนใจและศึกษาค้นคว้ามาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการศึกษาในประเด็นที่วรรณคดีเป็นดุจภาพสะท้อนของบริบททางสังคม ศิลปวัฒนธรรม ณ ขณะนั้น

เราคุ้นเคยและเข้าใจเนื้อเรื่องของขุนช้างขุนแผนกันมาบ้างว่า "ขุนช้างคือชายร่างอ้วน ซ้ำยังหัวล้าน ที่หลงรักนางพิมพิลาไล แต่นางพิมกลับรักชอบพอกับเณรแก้ว ต่อมาเมื่อถูกจับสึก พลายแก้วได้ไปรับราชการทหาร จึงเป็นโอกาสของขุนช้างที่ได้คิดกลอุบายหลอกนางพิมว่า พลายแก้วตายจากการทำศึกสงคราม

นางพิมจึงยอมแต่งงานอยู่กินกับขุนช้าง จนมาวันหนึ่งพลายแก้วหรือตอนหลังได้ปูนบำเหน็จเป็นขุนแผน กลับมาเจอขุนช้างนอนกอดกับนางพิมจึงโกรธแค้นขุนช้างมาก ฝ่ายขุนช้างเห็นขุนแผนกลับมาก็รู้สึกหวาดกลัวที่จะเสียนางพิมไป จึงทำทุกวิถีทางเพื่อกลั่นแกล้งขุนแผน

เมื่อเรื่องความวุ่นวายของสามคนนี้รู้ถึงหูพระพันวษา พระพันวษาจึงให้นางพิมหรือนางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร แต่นางวันทองเลือกไม่ถูก พระพันวษาจึงตัดสินประหารชีวิตนางวันทอง เนื่องจากเป็นหญิงสองใจ

เรื่องราวโดยย่อก็มีเท่านี้แล...

หากใครเคยไปที่ "วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร" จะพบว่าในบริเวณวัดมีสิ่งที่บ่งบอกความเป็นท้องเรื่องแห่งวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนหลายอย่าง เช่น รูปปั้นของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไล รวมถึงเรือนไทยขนาดใหญ่ คือ “เรือนขุนช้าง” และได้สัมผัสกับบรรยากาศแห่งความผูกพันกันของวัดกับบ้าน มาตั้งแต่ครั้งโบราณ

"วัดแค" ก็เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่ปรากฏในวรรณคดี ในบริเวณวัดมีเรือนทรงไทยอยู่เรือนหนึ่ง มีความต่างจากเรือนขุนช้างที่วัดป่าค่อนข้างมาก เรือนไทยนี้คือ “คุ้มขุนแผน” ซึ่งก็ไม่ได้มีความใหญ่โตโอ่อ่าเหมือนเรือนขุนช้างหรอกนะครับ ทว่าบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของเศรษฐีกับชาวบ้านในยุคนั้น ว่ามีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างไร

ดังนั้น ในงานวรรณคดีไทยจะปรากฏบริบทของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้นๆ ตั้งแต่เกิด การใช้ชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ พิธีกรรม ภูมิปัญญาต่างๆ การคมนาคม การปกครอง หรือแม้กระทั่งความเชื่อในเรื่องลี้ลับ คุณไสย เราจึงกล่าวได้ว่าวรรณคดีไทยนั้น บอกเล่าความเป็นคนไทยได้ตั้งแต่เกิดจนตายเลยก็ว่าได้

"ในสมัยก่อนวัดกับบ้านจะผูกพันกันตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกชีวิตล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัดด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นพิธีกรรมและก็พิธีการ บ้านกับวัดมันก็จะผูกพันกันมาตลอด” พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร เจ้าอาวาสวัดแค กล่าว

เมื่อเราอ่านวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เราจะพบบทเสภาที่มีแสดงให้เห็นได้ชัดว่า พุทธศาสนากับคนไทยมีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องต่างๆ เช่น ตอน "นางทองประศรีพาพลายแก้วไปบวช" หรือตอน "วัดป่าเลไลยก์มีการเทศน์มหาชาติ" เป็นต้น

พระครูศรีอรรถศาสก์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อธิบายเรื่องเทศน์มหาชาติเพิ่มเติมว่า

“เทศน์เรื่องอดีตของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ ก็จะมีอยู่ ๑๓ กัณฑ์ บางทีเราจะได้ยินว่าเทศน์คาถาพัน คาถาพันก็คือเป็นภาษาบาลีล้วนๆ จะรวมหนึ่งพันพระคาถา จะเรียกว่าเทศน์คาถาพัน”

วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน แฝงไปด้วยหลักธรรมคำสอนมากมายหลายเรื่องครับ อย่างเช่นเรื่องของกรรม คือการกระทำและผลของกรรมที่ตัวละครแต่ละคนได้รับผลแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นตัวขุนแผนก็ดี หรือนางพิมพิลาไลเองก็ดี ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกรรมตามติดตัวไปคนละแบบกัน

"นางพิม เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นที่ต้องการและปรารถนาของทุกคน แต่ว่าเมื่อตายก็ไปเป็นเปรต เขาก็เรียกว่าเป็นกรรมของแต่ละคนที่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่แล้วประกอบกรรมดี ก็จะส่งผลให้กับชีวิตและก็ดวงวิญญาณนั้นได้รับแต่ผลดี” เจ้าอาวาสวัดแคอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้

เรื่องของหลักไตรลักษณ์ ก็มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ครับ

ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งหมดทั้งมวลมีเกิดขึ้น ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความตั้งอยู่และดับไป เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ หรือแม้กระทั่งในวรรณคดีเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของใคร ต่างก็ต้องดับขันธ์ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างเช่นนางพิม สตรีผู้มีรูปโฉมงดงาม มีชายหนุ่มมาหลงรักมากหน้าหลายตา เมื่อดำเนินชีวิตไปสักระยะก็พบเจอกับความเจ็บไข้ป่วยได้ป่วย หนักเข้าก็ถึงขั้นตรอมใจ ได้รับความทุกข์ทั้งทางกายทางใจ ร่างกายที่สวยงามก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และสุดท้ายก็ต้องตาย สอดคล้องกับหลักไตรลักษณ์ ที่ว่าทุกอย่างมีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปในที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ สิ่งนั้น หรือสิ่งไหน ก็ไม่ใช่ของเรา

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เล่าถึงเมื่อตอนนางพิมพิลาไลปันใจให้กับขุนช้างว่า

“หลักการครองเรือนที่ว่า เป็นสามีภรรยากัน จักต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรต่อกัน เพราะอย่างเรื่องสามีภรรยา ท่านก็สอนไว้ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายมีคนละ 5 ข้อ ข้อ 1. ฝ่ายชายต้องยกย่องนับถือเป็นภรรยา ข้อ 2. ไม่ดูหมิ่น ข้อ 3. ไม่ประพฤตินอกใจ ข้อ 4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ และข้อ 5. ให้เครื่องประดับ เพราะผู้หญิงชอบแต่งตัว ไปไหนมาไหนซื้อเสื้อผ้า น้ำหอม มาฝาก

ส่วนฝ่ายภรรยาก็ต้องปฏิบัติต่อสามีเหมือนกัน 5 ข้อ ข้อสำคัญที่เหมือนกันก็คือ ข้อ 3. ไม่ประพฤตินอกใจกัน เป็นข้อสำคัญเลย”


ส่วนเรื่องของนิพพานนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ เป็นด้วยอำนาจกรรม โดยมีทางออกสุดท้ายคือ "นิพพาน" คือการมุ่งให้มนุษย์รู้จักพัฒนาตนจนเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา

แต่สิ่งนี้เป็นไปได้ยากที่สุดที่จะบรรลุมรรคผลในชาตินี้ ซึ่งในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ชาวบ้านในท้องเรื่องต่างก็ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและมุ่งประกอบคุณงามความดี ทำบุญให้ทานและอธิษฐานจิตปรารถนาพระนิพพพานในชาติภพต่อๆไป ดังปรากฏในตอนหนึ่งซึ่งนางพิมตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้พบรักกับพลายแก้วทุกชาติไปจนกว่าจะได้เข้าถึงนิพพาน

“จะเกิดไปในภพชาติหน้า
ขอให้ข้าพบกันให้จงได้
ร้อยกัปแสนกัลป์อนันต์ไกล
พบกันไปตราบเท่าเข้านิพพาน"


นิพพานจึงเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน ในกระทำการสิ่งใด ก็จะตั้งจิตอันแน่วแน่เพื่อหมั่นสั่งสมคุณงามความดี แม้ต้องใช้ปัญญาและความเพียรพยายามอย่างหนักก็ตาม

เพราะนิพพาน คือสุขในหลักธรรมชาติของความบริสุทธิ์แห่งใจที่ไม่ใช่ "สิ่งสมมติ"

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)
คุ้มขุนแผน
เรือนขุนช้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น