xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เรียนพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ่อ : นี่พ่อเตือนเป็นครั้งสุดท้าย หยุดขี่จักรยาน ไปอาบน้ำ เตรียมตัวไปเรียนพิเศษเลขเดี๋ยวนี้!

เกรซ : หนูขอขี่อีกแป๊บเดียว (อ้อนวอน)

พ่อ : ไม่ได้! อย่ามาทำตัวไร้สาระอย่างนี้ ไม่งั้นพ่อจะไม่ให้ขี่อีก

เกรซ : หนูไม่ได้เล่นกับเพื่อนเลย มีแต่เรียนพิเศษ เรียนพิเศษ เลิกเรียนตอนเย็นก็ต้องไปเรียนพิเศษ ปิดเทอมก็ต้องเรียนพิเศษ (หงุดหงิด)

พ่อ : ลูกไม่ภูมิใจเหรอที่ใครๆก็ชมว่าลูกพ่อเก่ง

เกรซ : ภูมิใจค่ะ แต่หนูเหนื่อย ต้องเรียนพิเศษเกือบทุกวิชาเลย

พ่อ : พ่อแม่ลำบากหาเงิน ก็เพื่อให้ลูกได้เรียนสิ่งที่ดีที่สุด

เกรซ : หนูแค่อยากเล่นกับเพื่อนบ้าง

พ่อ : คิดดูนะลูก ขณะที่เด็กคนอื่นเอาแต่วิ่งเล่น แต่ลูกกำลังเรียนอย่างหนัก คิดสิโตขึ้นใครจะมีอนาคตมากกว่ากัน

เกรซ : (สะอื้น)

พ่อ : ก็ลูกไง ลูกจะมีอนาคตที่ดีและสง่างามสมกับชื่อของลูก จี อาร์ เอ ซี อี เกรซซซ... ไปอาบน้ำ พ่อจะพาไปเรียนพิเศษ

เกรซ : (ร้องไห้โฮ)

หมอเหมียวชวนคุย

น่าสงสารเด็กสมัยนี้ที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าการเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในห้องเรียน แต่การเล่น ได้พักผ่อน และนอนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ลูกย่อยและเก็บความรู้ที่ได้มาอย่างเป็นระบบ เด็กจะเรียนรู้ได้สูงสุดเมื่อมีความสุขในการเรียนค่ะ

Transfer Effect การเชื่อมโยงการเรียนรู้ในสมอง

การฝึกหรือเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งนอกจากได้ความรู้ทางตรง เช่น การที่เด็กฝึกเล่นดนตรีนั้นนอกจากจะเกิดผลโดยตรงกับโครงสร้างทางสมองและเกิดทักษะทางด้านดนตรีแล้ว การเล่นดนตรียังเกิดผลทางอ้อมในการไปกระตุ้นวงจรประสาทส่วนการเคลื่อนไหว การได้ยิน การคิด การมองเห็นของสมองอีกด้วย เมื่อฝึกซ้ำๆทำบ่อยๆ สมองส่วนนั้นก็จะได้รับการพัฒนาตามไปด้วย ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวนี้คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาความคิดทางคณิตศาสตร์และภาษา รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้นการที่เด็กฝึกเล่นดนตรีจนเก่งชำนาญแล้ว เด็กยังได้รับผลทางอ้อมคือได้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และภาษาตามไปด้วย กระบวนการเรียนรู้ทางสมองเหล่านี้เรียกว่า Transfer Effect

เมื่อลูกได้เล่น ได้พักผ่อน เล่นกีฬา ทำงานบ้าน หรือหากิจกรรมสร้างสรรค์อย่างอื่นๆที่ลูกสนใจ กิจกรรมเหล่านี้จะเกิดกระบวนการ Transfer Effect เช่น การทำงานศิลปะ การวาดรูป จะช่วยให้เด็กเกิดสมาธิ การเล่นต่อเลโก้ เด็กจะได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การช่วยทำกับข้าว จะช่วยให้เด็กพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้า เกิดทักษะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รู้จักการแก้ไขปัญหาและการทำงานเป็นขั้นตอน

ความฉลาดของลูกจึงไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลวิชาการใส่สมอง แต่ต้องให้ลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆที่จะช่วยให้สมองลูกได้พัฒนา และส่งผลทางอ้อมเป็นพื้นฐานความสามารถในด้านอื่นๆที่จำเป็นต่อการเรียนของลูก เด็กจะเรียนหนังสือได้ดีก็ต้องมีสมาธิ รู้จักแก้ไขปัญหา วางแผนได้ คิดเป็นระบบ มีเหตุมีผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาไม่ได้ในหนังสือเรียน แต่ได้มาด้วยการเล่น การทำงานศิลปะ การเล่นดนตรี การทำงานบ้าน เล่นกีฬา การกอด ความรักและความอบอุ่นในครอบครัว

ควรทำ

- ให้ลูกได้เล่นและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นการเรียนรู้ในชีวิตของเด็ก เทียบเท่าการทำงานของผู้ใหญ่

- เมื่อออกกำลังกาย ขณะตีแบดบินตัน สมองจะทำงานในการคิด วางแผน ตัดสินใจ เคลื่อนไหว ใช้มือ ไปพร้อมๆกัน เท่ากับช่วยให้สมองทำงานได้เต็มที่ ถ้ามีเวลาออกกำลังกายเพียงพอต่อวัน จะทำให้สมองทำงานดีขึ้นไปด้วย

- สมองจะทำงานดีที่สุดในบรรยากาศที่สนุก สบาย ผ่อนคลาย ยิ่งชอบวิชาที่เรียนหรือครูผู้สอน จะยิ่งเรียนรู้ได้ดี

- การเรียนรู้ต้องการเวลาในการย่อยข้อมูล การได้เดินเล่น วาดรูป เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ร้องเพลง นอนพักผ่อน ซึ่งเป็นภาวะผ่อนคลาย สมองจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จัดเรียงความสำคัญ เชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับข้อมูลเก่า จัดเก็บข้อมูลเป็นระบบ

- การวางแผนเรียนพิเศษให้ลูก คำนึงถึงพัฒนาการโดยรวม ให้เด็กได้พัฒนาไปทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม

ไม่ควรทำ

แม้เพื่อนจะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการไปเรียนพิเศษ แต่การเอาการเรียนพิเศษของเพื่อนมากดดันให้เด็กต้องไปเรียนเหมือนเพื่อน จะทำให้เด็กอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเมื่อเครียด หรือเสียใจจะเป็นช่วงที่คนเราเรียนรู้ได้ต่ำ จึงไม่ช่วยให้การเรียนของลูกดีขึ้น

* หัวใจการเลี้ยงดู

การเล่น กีฬา ศิลปะ ดนตรี ช่วยให้เกิดกระบวนการ Transfer Effect ในสมอง ส่งผลให้ลูกเรียนรู้ดี

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น