วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็น 1 ใน 5 พระอารามสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2411 เพื่อให้เป็นวัดส่วนพระองค์ จึงพระราชทานชื่อว่า “มกุฎกษัตริยาราม” ซึ่งแปลว่า พระอารามของกษัตริย์ที่มีพระนามว่า “มงกุฎ”(พระนามเดิมคือเจ้าฟ้ามงกุฎ)
แม้ว่าจะเป็นพระอารามสุดท้ายที่สร้างขึ้นก่อนเสด็จสวรรคต แต่กลับมีความพิเศษมาก เพราะเป็นที่หลอมรวมพระราชจริยวัตรและพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา การเข้าพระทัยถึงหลักธรรมคำสอน รวมทั้งความรอบรู้เรื่องราวของโลกที่เป็นสากล ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนพระอารามแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะของพระองค์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ วัดมกุฎกษัตริยารามยังเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นศาสนสถานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดเพื่อขยายขอบเขตและความเจริญของบ้านเมือง
ขณะเดียวกัน วัดมกุฎกษัตริยารามก็เป็นพระอารามที่มีแผนผังคล้ายกับแผนผังพุทธสถานที่สุโขทัย อยุธยา และล้านนา กล่าวคือ ประกอบด้วยพระวิหารและพระเจดีย์เป็นหลัก โดยพระเจดีย์ซึ่งถือเป็นประธานของวัด เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญมากที่สุด
พระเจดีย์ประธานของวัดนี้มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญ คือ อยู่กึ่งกลางของแผนผัง รายล้อมด้วยวิหารคด พระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระเจดีย์ และพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านหลัง อันแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะสืบทอดธรรมเนียมการสร้างวัดที่มีมาแต่โบราณที่ให้ความสำคัญกับพระวิหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีเป็นส่วนใหญ่แล้ว พุทธศาสนิกชนยังมีโอกาสได้สักการะพระประธานที่พระวิหาร ตลอดจนพระเจดีย์ได้ในคราวเดียวกัน ส่วนพระอุโบสถนั้นใช้สำหรับทำสังฆกรรมเพียงบางอย่าง
นอกจากพระอารามนี้จะสร้างตามแบบอย่างของวัดเมื่อครั้งโบราณแล้ว ยังมีการผสมผสานศิลปะไทยเข้ากับศิลปะตะวันตกในช่วงเวลานั้น ดังจะเห็นได้จากศิลปะตะวันตกที่ปรากฏในรูปแบบของหัวเสาที่พระวิหาร ซึ่งประดับด้วยใบอะแคนธัส อันเป็นลายที่พบบ่อยในการแกะหัวเสาแบบโครินเธียนและแบบผสม
สำหรับเสาภายในพระวิหารเป็นเสาสี่เหลี่ยม 2 แถว แถวละ 6 ต้น แต่ละต้นมีสีแตกต่างกันเพื่อสื่อถึงปริศนาธรรม คือ เสาคู่ที่อยู่ไกลพระประธานมีสีคล้ำ เสาคู่ที่อยู่ใกล้พระประธานมีสีสว่างขึ้นโดยลำดับ เปรียบเหมือนจิตใจของผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร รวมทั้งพระอุโบสถ มีลักษณะของจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก คือ เป็นภาพที่มีความลึกใกล้ไกล และเน้นการจัดองค์ประกอบภาพเหมือนจริงด้วยการใช้แสงเงา ความลึก ให้มุมมองในแบบสามมิติ ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในภาพจิตรกรรมไทยประเพณีมาก่อน
ส่วนพระประธานทั้งในพระวิหารและพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งนิยมสร้างเป็นพระประธานในสมัยก่อน เพื่อให้สัมพันธ์กับขนาดของโบสถ์หรือวิหาร มิใช่ขนาดตามความเป็นจริงตามแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของคณะธรรมยุต ที่ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้น พระประธานประจำพระวิหารและพระอุโบสถจึงสร้างให้มีขนาดเล็ก และประดิษฐานบนบุษบกปิดทอ
ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงนำสัญลักษณ์คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ อันหมายถึงพระนามของพระองค์ มาประดิษฐานบนองค์ประกอบของอาคารศาสนสถานที่ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลของพระองค์ ซึ่งรวมทั้งวัดแห่งนี้ด้วย และที่พิเศษกว่านั้นคือ วัดมกุฎกษัตริยารามเป็นเพียงวัดเดียวที่ได้รับพระราชทานขื่อตามพระนามเดิมของพระองค์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ที่พระนามของพระมหากษัตริย์ได้รับการเปิดเผยให้คนทั่วไปได้รับรู้และเรียกขาน
แต่เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ กราบทูลเรียกขานออกชื่อวัด ก็ไม่สู้สะดวกใจ จึงโปรดให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดพระนามบัญญัติ” ไปพลางก่อน จนเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตล่วงเลยไปถึง 22 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หั รัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศให้เรียกชื่อว่าวัดมกุฎกษัตริยาราม ตามพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กาลเวลาที่ล่วงเลยได้ทำให้วัดมกุฎกษัตริยารามทรุดโทรมลง แต่ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยล่าสุดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ดำเนิน “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดมกุฎกษัตริยาราม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบ 200 ปี แห่งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2547 และถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550
โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานอุปถัมภ์ฝ่ายบรรพชิต และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ฝ่ายฆราวาส เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่คงไว้ซึ่งรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและร่วมกันธำรงรักษาไว้ เพื่อคงเอกลักษณ์อันงดงามของชาติสืบต่อไปอย่างยั่งยืน
นับแต่ปี พ.ศ.2546-2552 การบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมดได้แล้วเสร็จลงด้วยดี โดยพระวิหารวัดมกุฎกษัตริยาราม ได้รับคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับพระราชทาน “รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น” ประจำปี 2551 ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)