วัดราชนัดดารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้น ณ ริมคลองรอบกรุง ด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัส พระราชนัดดาองค์เดียวที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าฯ ดำรงพระอิสริยยศเสมอพระราชโอรสธิดา ซึ่งในรัชกาลต่อมา พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี บรมอัครราชเทวี พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น วัดราชนัดดารามจึงเป็นพุทธสถานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
นอกจากจะเป็นพระอารามที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพระราชนัดดาแล้ว ยังเป็นปูชนียสถานที่มีความพิเศษไม่เหมือนที่ใด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาทแห่งที่สามของโลก และเป็นโลหะปราสาทที่เหลือเพียงแห่งเดียวในโลก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโลหะปราสาท เพื่อเป็นประธานของพระอาราม แทนคติการสร้างพระมหาเจดีย์ โดยกำหนดให้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของวัด เป็นอาคารหลักที่สูงที่สุด สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้โลหะปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามแห่งยุคสมัย ด้วยการก่อสร้างตามแบบอย่างศิลปกรรมไทย เพื่อให้เป็นมรดกสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โลหะปราสาทแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นตามลักษณะของโลหะปราสาทแห่งที่สอง ในประเทศศรีลังกา ซึ่งได้พรรณาไว้ใน “โลหปาสาทมหปริจเฉทที่ 27” แห่งคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา โดยดัดแปลงให้มีลักษณะทางพุทธศิลป์และสถาปัตยกรรมแบบไทย มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานกว้างด้านละ 23 วา เป็นอาคาร 7 ชั้น ลดหลั่นกัน การขึ้นสู่โลหะปราสาทแต่ละชั้น จะมีบันไดวนตั้งอยู่ใจกลางของอาคาร อาคารชั้นล่าง ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 จะเป็นคูหาและระเบียงรอบ ในชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจตุรมุข มียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมเป็น 37 ยอด มีความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันเป็นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนทางสู่พระนิพพาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์บุษบก โลหะปราสาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538
นับตั้งแต่การสถาปนาวัดราชนัดดาราม ก็ได้มีการสร้างเสริมและบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
และเนื่องในวาระครบรอบ 165 ปีแห่งการสถาปนาวัดราชนัดดารามและโลหะปราสาท และเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 วัดราชนัดดารามและหน่วยงานหลายภาคส่วน โดยความร่วมมือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวัดราชนัดดารามและโลหะปราสาท ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้ร่วมกันดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆของวัด เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาราย ศาลาอเนกประสงค์ ซุ้มประตู รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ และระบบต่างๆด้วย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้ายู่หัว ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ การบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตาของกรุงรัตนโกสินทร์ ควบคู่กับการเป็นธรรมสถานสำหรับปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัทด้วย
โดยโลหะปราสาทชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องประวัติและการก่อสร้างโลหะปราสาทตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านการนำเสนอด้วยวิดีทัศน์ระบบสัมผัส และระบบแอนิเมชั่น ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องสมุดธรรมะและบริเวณสำหรับอ่านหนังสือ ชั้นที่ 3 และ 4 เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และเดินจงกรม(ในบันทึกประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา ได้ระบุว่า เมื่อถึงกาลปัจฉิมวัย สมเด็จพระพุฒาจารย์มักมานั่งปฏิบัติธรรม ณ โลหะปราสาท) ชั้นที่ 5 และ 6 จัดแสดงผลของการปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขาที่นำไปสู่วิมุตติสุข และชั้นที่ 7 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยเปิดให้สักการะพระบรมสารีริกธาตุและเยี่ยมชมโลหะปราสาท ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น.
การบูรณปฏิสังขรณ์ลุล่วงไปด้วยดี วัดราชนัดดาจึงพลิกฟื้นคืนสู่ความงดงาม สมเป็นศาสนสถานที่เป็นศรีสง่าของชาติ โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินและลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งล้วนถือได้ว่าเป็นบริเวณ “หน้าเมือง” และ “ประตูเมือง” ของเกาะรัตนโกสินทร์ และเป็นหน้าตาของประเทศไทยอีกด้วย
• เวชยันต์ปราสาท
ด้านหลังพระประธานภายในวิหาร มีลวดลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเวชยันต์ปราสาท ซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “ทับ” หมายความว่าที่อยู่หรือเรือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างรูปปราสาทเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย
ปราสาททอดอยู่เหนือช้างเอราวัณ อันเป็นเทพพาหนะของพระอินทร์ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขนาบข้างด้วยฉัตรเบญจา ภายในปราสาทประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสามห้อง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)