ในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางถือเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญที่มีร่องรอยของประวัติศาสตร์และโบราณคดีอันมีคุณค่า กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการ “สู่เส้นทางวัฒนธรรม ชมความงามพุทธศิลป์ เยือนถิ่นเมืองโบราณ” โดยพาไปชมแหล่งโบราณสถานต่างๆ ในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี และชัยนาท เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ตลอดจนการอนุรักษ์โบราณสถานเหล่านั้น
สำหรับจังหวัดอ่างทอง มีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่งดงาม บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความเจริญด้านพระพุทธศาสนา สำหรับสถานที่แห่งแรกที่ได้ไปชมคือ “วัดป่าโมกวรวิหาร” ในอำเภอป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สิ่งโดดเด่นภายในวัดคือพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นศิลปะสุโขทัยที่งดงามมากองค์หนึ่งของไทย องค์พระนอนตะแคงข้างขวาแบบสีหไสยาสน์ มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 ม. เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นศิลปะคลาสสิคร่วมสมัยกับสุโขทัย
แต่เดิมวิหารพระพุทธไสยาสน์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานในการชะลอพระพุทธไสยาสน์มาประดิษฐานลึกจากแม่น้ำเข้ามา และสร้างพระวิหารขึ้นใหม่คือพระวิหารหลังปัจจุบัน
อีกหนึ่งวัดชื่อดังของอ่างทองก็คือ “วัดขุนอินทประมูล” ในอำเภอโพธิ์ทอง เป็นวัดเก่าแก่ในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวถึง 50 เมตร พระพักตร์รวมถึงพระวรกายงดงามได้สัดส่วน องค์พระประดิษฐานไว้กลางแจ้ง ไม่มีหลังคาคลุม เพราะเมื่อก่อนนี้วิหารที่สร้างครอบอยู่ได้เกิดไฟไหม้เสียหาย แม้จะก่อสร้างขึ้นมาใหม่ก็ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้อีก ปัจจุบันจึงไม่ได้สร้างวิหารคลุมแต่อย่างใด เหลือแต่เสาด้านหน้าพระประธานเป็นลานกว้าง และนอกจากนั้น ภายในวัดยังมีซากโบสถ์และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สร้างอยู่บนเนินประทักษิณขนาดใหญ่ สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 2 ม.
มาถึงจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดนี้มีพระนอนที่มีชื่อเสียงอีกองค์หนึ่งอยู่ที่ “วัดพระนอนจักรสีห์” ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัด และสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่มีตำนานหนึ่งเล่าว่า สิงหพาหุซึ่งมีบิดาเป็นราชสีห์ มารดาเป็นธิดาของเศรษฐี เมื่อสิงหพาหุโตขึ้นเกิดความรู้สึกรังเกียจที่มีบิดาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้กระทำปิตุฆาต แต่ภายหลังสำนึกบาปจึงได้สร้างวัดพระนอนขึ้นเพื่อเป็นการชำระล้างบาป
หากพิจารณาลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้าง ทั้งพระวิหารและพระอุโบสถแล้ว พบว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายหนจนไม่อาจระบุสมัยได้อย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยาตอนปลาย
สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น องค์พระมีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ที่พระรัศมีมีเสากลมยอดบัวรองรับ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก และนอกจากนั้นภายในพระวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ “พระแก้ว-พระกาฬ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้เพื่อให้เป็นพระคู่บารมีพระพุทธไสยาสน์ เมื่อครั้งที่พระองค์มาประทับ ณ วัดพระนอนจักรสีห์ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร
นอกจากจะได้มาชมวัดสำคัญต่างๆ แล้ว ยังได้มาชมโบราณวัตถุชิ้นงามๆ ใน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี” ในอำเภออินทร์บุรี ที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง ไม่ว่าจะเป็นธรรมจักรและพระพุทธรูปยืนปางประทานพรสมัยทวารวดี ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เครื่องถ้วยสังคโลก รวมไปถึงเครื่องอัฐบริขาร เช่น พัดยศ โดยมีพัดรัตนาภรณ์ชั้นที่ 4 ในสมัย ร.7 ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวายด้วย
เดินทางมาต่อกันที่จังหวัดอุทัยธานี มาชม “วัดอุโปสถาราม” ในอำเภอเมืองอุทัยธานี วัดงามที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง วัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างสำคัญหลายอย่าง เช่น พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติเป็นพระประธาน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย พระอสีติมหาสาวก และพระอสุภกรรมฐาน 10 ส่วนในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 5 องค์ อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติยาวติดต่อกัน โดยดำเนินเรื่องตามที่ปรากฏในปฐมสมโพธิกถา
นอกจากนั้น ยังมีหอประชุมอุทัยธรรมสภาที่เป็นอาคารไม้สักทั้งหลัง แพโบสถ์น้ำที่สร้างเพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ 5 เจดีย์ 3 องค์ 3 สมัย คือสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ และมณฑปแปดเหลี่ยม ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัดอุโปฯ ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำสะแกกรัง มณฑปหลังนี้หลวงพิทักษ์ภาษา (บุญเรือง พิทักษ์อรรณพ) ตั้งใจสร้างขึ้นเมื่อปี 2442 เพื่อถวายให้พระสุนทรมุนี (จัน) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีจำพรรษา แต่พระสุนทรมุนีมรณภาพพอดี จึงใช้มณฑปนี้เป็นที่ทำศพ เก็บอัฐิพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของท่าน ตัวมณฑปมีลักษณะเป็นตึกแปดเหลี่ยม 2 ชั้น ทรงยุโรป บริเวณกรอบหน้าต่างตกแต่งลวดลายปูนปั้น ผนังด้านหนึ่งมีลายปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประกอบด้วยลวดลายนกหงส์ฟ้า นกกระสา ฝีมือช่างจีนอันงดงาม
และอีกหนึ่งวัดงามแห่งเมืองอุทัยฯ “วัดสังกัตรัตนคีรี” ซึ่งตั้งอยู่บนเขาสะแกกรังในอำเภอเมืองเช่นกัน มีบันได 460 ขั้น ให้เดินขึ้นจากด้านล่าง วัดแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา โดยพระสงฆ์จะเดินอุ้มบาตรลงจากยอดเขาให้ประชาชนได้ใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองไว้ภายในมณฑป และประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานีไว้ในพระวิหารอีกด้วย
มาถึงจังหวัดสุดท้าย จังหวัดชัยนาท เมืองเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในอดีต โดยบริเวณเมืองชัยนาทนี้พบทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ลูกปัด และหลังจากเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ บริเวณนี้ก็ยังปรากฏร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง นอกจากนั้น เมืองชัยนาทปัจจุบันยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญคือเมืองแพรกศรีราชา หรือเมืองสรรค์ และเมืองชัยนาท ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านของทั้งอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
หากอยากทราบประวัติศาสตร์เมืองชัยนาทให้มากกว่านี้ ต้องมาที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี” ในอำเภอเมืองชัยนาท ที่ก่อตั้งโดยพระชัยนาทมุนี (นวม สุทตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียงมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด ก่อนจะมอบโบราณวัตถุเหล่านี้ให้เป็นสมบัติของชาติ
ภายในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชัยนาท เช่น เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี และพระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ ส่วนชั้นบนจัดแสดงพระพิมพ์ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในประเทศไทย ทั้งพระพิมพ์ในศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อยุธยา และรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นบริเวณด้านนอกจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยของชุมชนลุ่มแม่น้ำ เครื่องมือหาปลาไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน
อีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเมืองชัยนาทก็คือ “วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี” ในอำเภอสรรคบุรี ที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดหัวเมือง หรือวัดศีรษะเมือง สร้างขึ้นใน พ.ศ.1897 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าวัดมหาธาตุนี้เป็นวัดที่กษัตริย์ทรงสร้าง อีกทั้งบริเวณแถบหน้าวัด ชาวบ้านยังคงเรียกว่า “หน้าพระลาน” เชื่อว่าอาจใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการบ้านเมืองในสมัยก่อน
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดมหาธาตุได้แก่ พระปรางค์ทรงยอดกลีบมะเฟือง สูงประมาณ 20 ม. ลักษณะของพระปรางค์น่าจะได้รับอิทธิพลจากปรางค์กลีบมะเฟือง ศิลปะแบบลพบุรี แต่พระปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุเมืองสรรคบุรีนี้มีรูปทรงชะลูดกว่า มีฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรือนธาตุมีซุ้มจรนำทั้ง 4 ทิศ ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะอยุธยา ยอดพระปรางค์ส่วนบนมีภาพสลักเป็นรูปเทพพนม
นอกจากนั้นยังมีองค์พระธาตุซึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนใหญ่พังทลายลงมากจนไม่ทราบว่าลักษณะเดิมเป็นอย่างไร ส่วนวิหารก็มีสภาพชำรุด หลังคาพังทลายเหลือเพียงเสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม ด้านหลังมีทางเดินเชื่อมกับระเบียงคดออกไปสู่ลานพระธาตุได้
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งหากได้ทราบถึงที่มาและความสำคัญแล้วก็จะยิ่งสร้างความตระหนักในคุณค่าของโบราณสถานและโบราณวัตถุเหล่านี้ต่อไป