“สวัสดีครับครู สบายดีนะครับ”
“ครูสบายดี แล้วเธอล่ะสมภพ เป็นยังไงบ้าง วันนี้มาคุยกับหลวงตาหรือ? เห็นท่านบอกว่า ปีนี้เธอมารับเป็นเจ้าภาพกฐินที่วัดด้วย”
“ครับครู มาเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยสักหน่อย”
“ดีแล้ว”
“เออ..ครูครับ ทำไมทุกปีผมเห็นบางวัดจัดงานกฐินใหญ่โตจังเลยครับ”
“ครูคิดว่าน่าจะเป็นการแสดงศักยภาพของเจ้าภาพกฐินมั้ง”
“จริงๆแล้ว ต้องใช้เงินมากขนาดนั้นเลยเหรอครับ”
“ใช้เงินไม่มากหรอก เพียงแค่จัดหาผ้าขาวเป็นผ้ากฐิน, สีย้อมผ้า, ด้าย, เข็ม ให้พอกับที่พระท่านจะตัดเย็บย้อมเป็นผ้าสบง หรือจีวรที่ใช้ห่ม(อุตราสงค์) หรือสังฆาฏิ เท่านั้น พระท่านก็ได้อานิสงส์แล้ว ญาติโยมที่อุปฐากวัดก็ได้บุญด้วย”
“แล้วเงินถวายพระล่ะครับ”
“ก็ตามศรัทธา มีมากน้อยพระท่านก็ไม่กังวลหรอก ดูอย่างกฐินหลวงซิ มีเครื่องกฐินมากที่ไหนล่ะ หลวงท่านก็จัดเพียงพอแก่การใช้สอยของพระที่ได้รับถวายผ้าพระกฐินเท่านั้น”
“กฐินหลวงเป็นยังไงครับครู ผมไม่ค่อยรู้”
“กฐินหลวงเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯแทนพระองค์ นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทานกฐิน”
“มีวัดไหนบ้างครับ”
“พระอารามหลวงที่รับพระราชทานกฐินหลวง มี ๑๖ วัด ในกรุงเทพฯ ๑๒ วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชาธิวาสวรวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
และในภูมิภาคอีก ๔ วัด คือ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก วัดสุวรรณดาราราม และวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
กฐินหลวงนั้น เครื่องกฐินและเงินที่จะถวายพระผู้ครองผ้าพระกฐิน เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของในหลวง เท่าที่รู้มาหลวงท่านจัดถวายเท่ากันทุกอาราม อารามละ ๑๐,๐๐๐ บาท”
“แล้วเงินที่จะนำมาบูรณะวัดล่ะครับ”
“เจ้าอาวาสจะเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเอง ตามกำลังความสามารถ ถ้าพ้นวิสัยที่จะทำได้ ก็จะขอให้รัฐบาลโดยกรมศิลปากร จัดสรรงบประมาณมาบูรณปฏิสังขรณ์ ตอนนี้ก็ได้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาช่วยบูรณะอยู่ และได้กำลังศรัทธาปสาทะของญาติโยมวัด บริจาคทรัพย์สมทบด้วย การบริหารจัดการพระอารามหลวงจึงสามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย”
“ผมก็เห็นวัดที่ได้รับกฐินหลวงบางวัด ก็จัดงานใหญ่โตเหมือนกันนะครู”
“นั่นคงจะเป็นกฐินพระราชทาน คือกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และ บริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ยังพระอารามหลวงต่างๆทั่วประเทศนอกจากพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอารามดังกล่าว โดยกรมการศาสนาเป็นผู้ดำเนินการจัดเครื่องพระกฐินให้ผู้ขอรับพระราชทาน
เครื่องพระกฐินก็มีเครื่องสักการบูชา ผ้าห่มพระประธาน เทียนพระปาติโมกข์ องค์พระกฐิน ผ้าไตรจีวร ไตรชั้นเดียว สำหรับวัดมหานิกาย ส่วนไตรสองชั้น และผ้าขาว สำหรับวัดธรรมยุต บริวารพระกฐิน บาตรพร้อมถุงบาตร โคมไฟตั้งโต๊ะ ช้อนส้อมคาวหวาน ปิ่นโตสแตนเลส กระติกน้ำไฟฟ้า พรม หมอนหนุน ผ้าห่มขนหนู ผ้าแพร เครื่องมือโยธา ชุดอุปกรณ์เครื่องมืองานช่างทั่วไป ประกอบด้วยไขควง ค้อน คีม ก็เหมือนกฐินหลวง
สำหรับเงินถวายพระนั้น ก็แล้วแต่เจ้าภาพจะถวาย ส่วนมากจะถวายเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ของวัดหลวงนั้นๆ”
“กฐินหลวงดูแล้วก็ไม่ยุ่งยากเหมือนกฐินราษฎร์เลยนะครับ วัดราษฎร์ทั่วไปนี่ ถ้าเจ้าอาวาสไม่มีบารมี ก็ลำบากที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้งดงามเป็นศรีสง่าแก่ชุมชน”
“ก็จริงนะ ครูว่าเจ้าอาวาสจะต้องเป็นผู้นำชุมชนด้วย จะต้องมีบารมีมากกว่าผู้นำชุมชนในละแวกวัดด้วย วัดจึงจะสามารถพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งได้ด้วยจารีตประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมที่งดงามน่าเจริญใจ ล้วนมาจากความสัมพันธ์อันดีของวัดกับชุมชนนี่ละ”
“ผมเคยได้ยินเขาพูดกันว่า วัดจะดีก็เพราะมีบ้านช่วย บ้านจะสวยก็เพราะมีวัดขัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย ถ้าขัดกันเมื่อไรก็แย่เอย”
“ทำไมปีนี้เธอถึงมารับเป็นประธานด้วยล่ะ”
“ก็เพราะหลวงตาท่านเมตตาผมมาตลอด ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ผมตั้งใจไว้ว่าถ้าพอมีกำลังทรัพย์สักหน่อย ก็จะรับเป็นประธานทอดกฐินที่วัดบ้านเราทุกปี พ่อแม่เคยนำปฏิบัติมาอย่างไร ก็พยายามทำให้ลูกหลานได้คุ้นเคยกับมาตุภูมิด้วย อีกอย่างก็คิดว่าปีหนึ่งก็ได้กลับมาพบญาติพี่น้องเพื่อนฝูงในงานทอดกฐินนี่ล่ะครับ”
“แล้วสังเกตไหมว่า ทำไมกฐินวัดเรา ถึงมีประธานทอดถวายหลายคน”
“เห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเราประชุมกันว่า งานทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ ทุกคนในหมู่บ้านเราควรจะเป็นประธานกรรมการกองกฐินตามกำลังความสามารถ หมู่บ้านอื่นจะมาสมทบร่วมด้วยก็ได้ ก็ถือปฏิบัติมาอย่างนี้ทุกปีนี่ครับครู”
“ใช่ กฐินในส่วนของพระ ท่านก็ทำตามพระธรรมวินัยเป็นสังฆสามัคคี ดังนั้น ฆราวาสก็ควรมีสามัคคีกันในการเป็นเจ้าภาพถวายด้วย
ความสามัคคีนี่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยแต่ละคนรู้จักหน้าที่ที่ควรแก่ตน และปฏิบัติตนตามหน้าที่นั้นให้สอดประสานกับบุคคลอื่นๆ เพื่อให้งานของส่วนรวมที่กำหนดไว้สัมฤทธิผล
งานทอดกฐินจึงเป็นเหมือนงานทดสอบความสามัคคีของคนบ้านเรา เธอดูสิ..หลวงตาท่านให้ทำอย่างเรียบง่าย แต่ทำไมคนถึงมาร่วมงานกันมากมายทุกปี เพิ่มขึ้นตลอดเลย”
“นั่นสิครับ ผมคิดว่าเขาอยากได้บุญกฐินมากๆ มั้งครับ ก็เลยตั้งใจมาทอดกฐินที่วัดเรา เพราะคิดว่าวัดเรามีหลวงตาเป็นเนื้อนาบุญใหญ่ ทำบุญกฐินกับหลวงตาย่อมได้บุญมากทันตาเห็นครับครู”
“ครูว่านี่ก็ส่วนหนึ่งนะ แต่อีกส่วนที่สำคัญคือ พวกเราชาวบ้านทุกคนมีความพร้อมเพรียงกันทำงานทอดกฐินด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งให้เป็นงานทอดกฐินที่ตรงตามพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ เพราะตระหนักดีว่าตนเป็นประธานกองกฐินด้วย บุญจากการเป็นประธานกองกฐินก็ถือว่าสุขใจแล้ว
แต่บุญกิริยาที่มุ่งทำทานบารมีตามกำลังของตน พร้อมรักษาศีล บำเพ็ญภาวนา อยู่เสมอ ตามแนวทางที่หลวงตาอบรมสั่งสอน นั่นล่ะที่ทำให้บุญกฐินนี่เพิ่มพูนขึ้น
เหมือนกับว่าปีหนึ่งจะได้ทดสอบศีลธรรมของตนว่าพัฒนามากน้อยเพียงใด บุญนี่ก็เลยอำนวยผลให้ชีวิตประสบความสุขในทุกๆวันเลย”
“ครูพูดชวนให้คิดเลยครับ ว่าพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ก็เป็นเรื่องง่ายๆใกล้ตัวเรา ที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และนำมาพัฒนาตนเองให้มีความเจริญได้ทุกๆวัน ผมคงถูกอบรมด้วยการปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง มาตั้งแต่เด็กๆ เติบโตมาก็เลยกลายเป็นนิสัยที่ทำอะไรก็ต้องคิดถึงส่วนรวมอยู่เสมอ
ที่บริษัท ผมก็อาศัยหลักการของกฐินเหมือนกันนะครู มีการสอบถามความคิดเห็นเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ จนได้มติที่เป็นเอกฉันท์ในการทำงาน ทำให้กิจการของบริษัทมีความเจริญมาอย่างต่อเนื่อง พนักงานในบริษัทก็อยู่กันมานาน รักองค์กรกันทุกคน จริงๆ งานทอดกฐินนี่ก็มีข้อน่าคิดอีกหลายอย่างเหมือนกันนะครับครู”
“ครูว่าหลักการของกฐินคือการทำงานเป็นส่วนรวม ตรองดูสิ พระที่จะรับกฐินได้ ต้องอยู่จำพรรษาในวัดนั้นตลอดไตรมาส และจะต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป พระพุทธเจ้าทรงกำหนดข้อวินัยเกี่ยวกับกฐินไว้อยู่มาก ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อความสามัคคีของสงฆ์ บุญที่พระท่านได้รับก็เป็นอานิสงส์ตามพระธรรมวินัย
ส่วนชาวบ้านเรานั้นก็ต้องรู้จักการเสียสละทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อสมทบกองกฐิน ต้องรู้จักจารีตประเพณีที่เกี่ยวกับกฐิน ต้องรู้จักการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานกฐินสำเร็จได้ด้วยสามัคคี
นี่ก็จะเข้ากับคำพระที่ท่านว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ย่อมนำสุขมาให้ งานทอดกฐินจึงเป็นงานบุญใหญ่ที่สามารถพัฒนาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาตนเองได้อยู่เสมอ”
“ผมมองว่า ความสุขในการทอดกฐิน แท้จริงแล้วก็คือความสุขในการทำงานในระยะเวลาที่กำหนดได้สำเร็จ นี่ถ้าเราสามารถนำมาปรับประยุกต์กับการดำเนินชีวิตของเราได้ สุขในการทำงานของเราก็จะถาวรมั่นคงตลอดไป”
“แล้วรู้ไหมว่าเราควรจะพัฒนาที่ไหนก่อน จึงจะทำให้เกิดความสุขดังที่ปรารภมานี้”
“รู้แล้วครับ ต้องรู้จักพิจารณาจิตใจของตนเองก่อน ให้รู้สึกตนเสมอว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ในจิตใจของเราลดน้อยถอยลงไปไหมในแต่ละปี
ถ้าลดลงก็จะทำให้เราสามารถทำงานเพื่อส่วนร่วมได้มากขึ้น ถ้ายังคงเดิมหรือมากขึ้น ก็แสดงว่าเราทำงานเพื่อตนเองมากขึ้นเช่นกัน นี่ก็คงเป็นบุญกฐินที่แท้จริงใช่ไหมครับครู”
“คงใช่นะ หลากหลายเรื่องราว ล้วนมีธรรมแฝงอยู่ด้วยเสมอ หากรู้จักพินิจพิจารณา ก็ย่อมสามารถเข้าใจในธรรมชาติของโลกนี้ได้มากขึ้น”
“ทอดกฐินปีนี้ ผมว่าพวกเราคงจะต้องจริงจังในธรรมะที่แฝงอยู่ในกองกฐินให้มากขึ้น แล้วจะได้เป็นบุญกุศลติดตัวไปตลอดกาล”
“แล้วครูจะเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับหลวงตานะ”
“ดีครับครู เอ้อ...ผมต้องขอตัวกลับก่อน ไว้พบกันวันทอดกฐินนะครับ”
“อย่าลืมดูแลตนเองด้วยธรรมะอยู่เสมอนะ จะได้อายุมั่นขวัญยืน”
“ขอบคุณครับ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)