วัดเทพศิรินทราวาสเป็นพระอารามที่มีความหมายสำคัญต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพุทธศาสนสถานที่น้อมใจให้ระลึกถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงสถิตมั่นในพระกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระราชบุรพการี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อครั้งที่ดำรงพระยศ พระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์
เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดตามและเฝ้าประทับเคียงข้างพระบรมราชชนนีมิได้ห่าง กระทั่งพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระยศขณะนั้นคือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เจริญพระชนมายุได้เพียง 8 พรรษา
ด้วยน้ำพระทัยที่สถิตมั่นในพระราชกตัญญูกตเวทิตา ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระกรุณาธิคุณของพระบรมราชชนนี ในปีแรกที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนี โดยทรงสถาปนาพระอัฐิเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์
นอกจากนี้ ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชประสงค์ที่จะอุทิศพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนี ด้วยการสถาปนาพระอาราม
ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 25 พรรษาใน พ.ศ.2421 จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม โดยพระราชทานนามว่า “วัดเทพศิรินทราวาส”
วัดเทพศิรินทราวาส นอกจากเป็นพระอารามที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพระบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นปูชนียสถานสำหรับสมาชิกในราชตระกูลที่สืบสายมาแต่พระบรมราชชนนีจะได้บำเพ็ญกิจอันเป็นกุศลร่วมกันด้วย
ที่สำคัญ ยังมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระอารามแห่งนี้มีการตกแต่งด้วยเครื่องหมาย ซึ่งเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจและเป็นเครื่องเตือนสติผู้เข้ามาภายในวัด ให้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติกิจการงานในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ
เครื่องหมายนั้นก็คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นเครื่องแสดงถึงคุณงามความดีในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นบำเหน็จความชอบที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้เป็นเกียรติแก่บุคคลต่างๆ โดยได้มีการจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาประดับไว้บนเพดานพระอุโบสถ
และที่โดดเด่นสวยงามอีกสิ่งหนึ่งในพระอุโบสถ คือ พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในประสาทจตุรมุข ซึ่งตั้งอยู่บนชุกชีฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งไม่เหมือนพระประธานในวัดอื่นใด
นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯให้สร้างสุสานหลวง เพื่อแก้ไขความสิ้นเปลืองในการปลงศพซึ่งมีมาก่อนหน้านี้
นับแต่นั้นมาการปลงศพอันเป็นงานหลวงมักประกอบพิธีที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้สร้างพลับพลาอิศริยาภรณ์ สำหรับเป็นอาคารถาวรเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่าร้อยปีของพระอารามแห่งนี้ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมานับแต่ พ.ศ.2419 และล่าสุด ในปี 2551สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นสมควรบูรณปฏิสังขรณ์วัดเทพศิรินทราวาสเพิ่มเติม เพื่อถวายพระราชกุศลในวาระครบ 100 ปี แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเทพศิรินทราวาสไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยถาวรวัตถุที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ได้แก่ พระอุโบสถ ภูมิทัศน์เขตพุทธาวาส เมรุด้านทิศใต้ และอาคารโรงเรียนเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต
วัดเทพศิรินทราวาสจึงกลับคืนสู่ความสง่างาม สมนามพระอารามหลวงอีกวาระหนึ่ง
อาคารโรงเรียนเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต
เป็นอาคารแบบตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา อาคารหลังนี้ พระธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือพระยานรรัตนราชมานิต มีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้าง เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับพระภิกษุสามเณรในครั้งนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา
ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือที่รู้จักและเรียกขานกันทั่วไปว่า “เจ้าคุณนรฯ” เป็นอดีตข้าราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับราชการด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวทีอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้รับสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งมีความหมายว่า “คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ท่านได้ถวายบังคมลาออกจากราชการ เพื่ออุปสมบทน้อมเกล้าฯอุทิศถวายพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดตลอด 46 ปี ได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชน ว่าเป็นผู้ปฏิบัติที่เคร่งครัดและตรงต่อพระธรรมวินัย
เมื่อท่านมรณภาพ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาพระยานรรัตนราชมานิต เพื่อนำอัฐิของท่านมาเก็บรักษาไว้ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในการบรรจุอัฐ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2517
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)