xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามแห่งธรรมราชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระอารามนาม “บวรนิเวศวิหาร” ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ทางทิศเหนือของพระนคร เดิมชื่อว่า “วัดใหม่” สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้น ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส วัดโบราณ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิสรานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่หมดในสมัยรัชกาลที่ 2

เมื่อ พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ(ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสในปัจจุบัน)ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าอาวาส

• วัดแรกแห่งคณะสงฆ์
ธรรมยุติกนิกาย


ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ทรงได้ปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติ ปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยมีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นอันมาก ในคราวเสด็จมาครองวัดบวรฯ ก็ได้นำเอาการประพฤติปฏิบัตินั้นมาใช้ในการปกครองพระสงฆ์ที่นี่ด้วย

ซึ่งในครั้งเดิมเรียกพระสงฆ์คณะนี้ว่า “บวรนิเวศาทิคณะ” อันเป็นชื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “คณะธรรมยุติกนิกาย” ซึ่งแปลว่า คณะสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงถือว่าวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสำนักเอกเทศแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นวัดแรก

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ เป็นที่กำเนิดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน และเป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นักธรรม” อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย

• พระอารามแห่งธรรมราชา

พุทธสถานแห่งนี้ถือเป็นพระอารามแห่งธรรมราชาโดยแท้ ด้วยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นธรรมราชา ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์
คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

และยังเป็นที่เสด็จสถิตแห่งองค์สังฆราชา องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทย 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

• พุทธสถานประดิษฐาน
พระพุทธรูปสำคัญของไทย


วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของไทย ได้แก่ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช และทั้ง 3 องค์เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่สมัยสุโขทัย และพระไสยา(พระนอน)สมัยสุโขทัย ที่งดงาม

• หลอมรวมสองวัด
เป็นหนึ่งเดียว


ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดรังษีสุทธาวาสเสื่อมโทรมลง กอปรกับมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่น้อย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระดำริที่จะบำรุงวัดรังษีฯให้กลับรุ่งเรือง เพราะเป็นวัดที่อยู่ติดกับวัดบวรฯ เพียงแค่คูน้ำกั้น แต่ขัดด้วยเป็นคนละวัด

ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรวมวัดรังษีฯเข้ากับวัดบวรฯ เพื่อจะได้จัดการบำรุงได้อย่างเต็มที่ วัดรังษีฯจึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรฯ และเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีฯเดิมว่า “คณะรังษี” มาจนทุกวันนี้

ส่วนถาวรวัตถุในเขตวัดรังษีฯเดิม อาทิ อุโบสถ วิหาร และพระเจดีย์ ได้รับการบำรุงรักษาให้คงดีโดยลำดับโดยท่านผู้ครองวัดบวรฯต่อๆมา

ขณะเดียวกัน วัดบวรฯเองก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เนื่องในการผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร และทรงพระกรุณาโปรดให้มีการสมโภชพระพุทธชินสีห์ พร้อมทั้งฉลองพระอารามที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย

ต่อมาได้มีการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีการสมโภชพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปในการพระราชพิธีฉลองสมโภช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2508

ในปี 2550 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดให้คณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการโครงการบูรณะพระเจดีย์และอาคารบริวาร เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระเกศรัศมีทองคำลงยาราชาวดีพระพุทธชินสีห์ และสมโภชพระอารามที่บูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์

วัดบวรนิเวศวิหาร กำหนดจัดงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2555 – วันที่ 3 ตุลาคม 2556

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น