วัดปทุมวนารามเป็นพุทธสถานที่เปรียบเสมือนบทบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่องสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยกับชาวลาว ที่ล้วนอาศัยอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ย้อนไปเมื่อประมาณสองร้อยปีก่อน ท้องที่ปทุมวันมีลักษณะเป็นทุ่งนากว้างใหญ่จนถึงพื้นที่ทุ่งพญาไท เป็นนาหลวงที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี และมีบัวนานาพันธุ์ขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวล้านช้างที่มาจากลาว ซึ่งยึดอาชีพทำนา
ในปี พ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์โปรดให้สร้างพระราชวังประทุมวันขึ้นในบริเวณดังกล่าว และภายหลังสร้างพระราชวังแล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการสถาปนาพระอารามขึ้นเคียงคู่กัน เพื่อพระราชทานให้เป็นเกียรติยศแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
การก่อสร้างวัดปทุมวนาราม เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุดสระน้ำและปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดปทุมวนาราม” แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า วัดสระปทุม หรือ วัดสระ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้าง และมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาเสนาสนะสำคัญในเขตพุทธาวาสหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนัก มีลักษณะคล้ายถ้ำสำหรับนั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสระปทุม โดยถ้าตรงกับวันพระ จะประทับที่พระตำหนักองค์นี้
จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2400 และเนื่องจากชาวลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างและอุปฐากวัดปทุมวนาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงนิมนต์พระครูกล่ำ ชาวลาว แขวงจำปาศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นพระฐานานุกรมเมื่อครั้งที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ มาเป็นเจ้าอาวาส พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปทุมธรรมธาดา แล้วทรงนิมนต์พระภิกษุฝ่ายธรรมยุตมาจำพรรษา
วัดปทุมวนารามสร้างแล้วเสร็จในปี 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้มีการจัดงานสมโภช แต่ในปีนั้นสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเสด็จสวรรคต งานสมโภชจึงต้องเลื่อนออกไป จนกระทั่งใน พ.ศ.2410 จึงมีการจัดงานสมโภชวัดปทุมวนารามอย่างยิ่งใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานตลอดทั้ง 5 วันแห่งการฉลอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระสายน์ พระแสน และพระเสริม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนชาวลาว มาประดิษฐานที่วัดปทุมวนารามด้วย นับเป็นพระราโชบายในการผูกใจชาวลาวได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงนำนิทานเรื่อง “ศรีธนญไชย” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวลาวและชาวไทย มาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร
วัดปทุมวนารามได้รับการบูรณะเรื่อยมา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยครั้งสำคัญๆได้แก่
เมื่อปี 2515 ได้เกิดไฟไหม้พระอุโบสถ ทำให้หลังคาและฝาผนังได้รับความเสียหาย จึงได้มีการบูรณะใหม่ทั้งหมด โดยวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถที่ได้ทำการบูรณะแล้วเสร็จ
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างศาลาพระราชศรัทธา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้ในการอบรมปฏิบัติธรรม
พ.ศ.2539 บูรณปฏิสังขรณ์หลังคาพระวิหาร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าพระวิหารที่ซ่อมแซมใหม่
พ.ศ.2548 บูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลอดจนภาคเอกชนต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2554 และวัดปทุมวนารามครบรอบ 154 ปี
พ.ศ.2552 บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และภาคเอกชน
พ.ศ.2554 ก่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศาลาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกฉัตรสุมพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานในพระอุโบสถ และทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ และพระวิหาร
• เรือนพระศรีมหาโพธิ์ (โพธิฆระ)
เมื่อปี พ.ศ.2407 สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ โปรดให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากอินเดีย อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพาะกล้าแล้วอัญเชิญไปปลูกไว้เป็นที่สักการบูชาในพระอารามหลวงหลายแห่ง รวมทั้งที่วัดปทุมวนารามด้วย ได้มีการสร้างอาคารล้อมไว้เป็นพิเศษเรียกว่า “เรือนพระศรีมหาโพธิ์” หรือ โพธิฆระ”
เมื่อ พ.ศ.2548 ได้มีการรื้อเรือนพระศรีมหาโพธิ์หลังเดิมที่เก่าแก่และชำรุดทรุดโทรมมาก แล้วได้สร้างเรือนพระศรีมหาโพธิ์หลังใหม่แทนที่หลังเดิม
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)