หนึ่งในกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่คนไทยนิยม นั่นก็คือ การไหว้พระ 9 วัด ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล ตามธีมเดือนมกราคม “สวัสดีเมืองไทย” โดยนำเสนอเส้นทางไหว้พระ 9 วัดสำคัญๆ ใน กทม.ดังนี้
เส้นทางที่ 1 เส้นทาง“ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล 9 พระอารามหลวง” ถือเป็นกิจกรรมดีเสริมความเป็นมงคลให้กับชีวิต ในช่วงเริ่มต้นของวันปีใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในชีวิตตลอดปี โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชาวกรุง ที่ไม่ต้องการออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถประจำทาง หรือรถยนต์ส่วนตัวพาครอบครัวไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลกัน โดยจัดเรียงวัดที่จะเดินทางไปตามอันดับคือ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ (วัดโพธิ์) : “เพื่อให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข” และชมพระพุทธไสยาสน์ที่มีความสวยงาม ประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ที่ฝ่าพระพุทธบาท และพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล
วัดสุทัศนเทพวราราม : “เพื่อให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล” กราบสักการะพระประธานวิหารหลวง “พระศรีศากยมุนี” และ “พระตรีโลกเชษฐ์” ในพระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร : “เพื่อให้พบแต่สิ่งดีงาม” สักการะพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ และพระไพรีพินาศเจดีย์
วัดชนะสงคราม : “เพื่อให้มีชัยชนะต่ออุปสรรค์ทั้งปวง”
วัดสระเกศ : “เพื่อให้เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล” สักการะพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากเมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย
วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) : “เพื่อให้ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน” ชมพระปรางค์ใหญ่ที่สุดในโลกประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ
วัดระฆังโฆสิตาราม : “เพื่อให้มีชื่อเสียงโด่งดัง” ผู้คนนิยมชมชอบ วัดนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วัดกัลยาณมิตร : “ เพื่อให้เดินทางปลอดภัย” มีมิตรไมตรีที่ดี ไหว้พระประธาน “พระพุทธรัตนนายก” อันเป็นที่นับถือของพ่อค้าจีนที่สัญจรผ่านไปมาค้าขายมาก ชาวจีนเรียกขานว่า “หลวงพ่อสำปากง”
เส้นทางที่ 2 กิจกรรมเสริมมงคล ภายใต้ชื่อว่า “ไหว้พระวัด 9 รัชกาล” โดยเส้นทางจะเรียงตามลำดับดังนี้
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) : วัดประจำรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดที่ราษฎร์สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) : วัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก”
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร : วัดประจำรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่ราษฎร์สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี เดิมเรียกว่า “วัดจอมทอง” “วัดกองทอง”
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร : วัดประจำรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นตามพระราชประเพณีว่าในราชธานี ต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด ซึ่งวัดราชประดิษฐ์ เป็น 1 ใน 3 วัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สร้างขึ้น ส่วนอีก 2 วัด คือ วัดมหาธาตุ และ วัดราชบูรณะ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร : วัดประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และวัดประจำรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสำคัญของวัดราชบพิตสถิตมหาสีมารามแห่งนี้ คือ เป็นวัดแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรมหาวิหาร : วัดประจำรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดใหม่” บางตำรา ว่า เป็นวัดปฐมเจดีย์ก็ได้
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร : วัดประจำรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล มีชื่อเรียกเป็นสามัญหลายชื่อ อาทิ “วัดพระใหญ่” วัดพระโต” และ “วัดเสาชิงช้า”
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก : เป็นวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9
เส้นทางที่ 3 “ไหว้พระ 9 วัดล่องแม่น้ำเจ้าพระยา” เรียงตามลำดับดังนี้
วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร : สร้างโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นตระกูล “กัลยาณมิตร” ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานามว่า “วัด กัลยาณมิตร”
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) : เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดมะกอก”
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร : สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างระฆังพระราชผาติกรรม จำนวน 5 ลูก จากนั้นได้ถวายนามใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
วัดอมรินทราราม วรวิหาร : เดิมชื่อว่า “วัดบางหว้าน้อย” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงคู่ กับวัดระฆังโฆสิตาราม ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโบสถ์น้อย”
วัดศรีสุดาราม วรวิหาร : “วัดชีปะขาว” สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และ พระราชทานนามว่า “วัดศรีสุดาราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จ พระราชอัยยิกาเจ้า
วัดคฤหบดี : วัดที่พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล “ภมรมนตี” เป็นผู้สร้างขึ้น รัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรด พระราชทานนามวัด และพระราชทานพระแซกคำ ไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร : เดิมชื่อ “วัดสมอราย” เป็นวัดฝ่ายวังหน้าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาส”
วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร : เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ “วัดสมอแครง” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชการที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ยกเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร”
วัดยานนาวา : สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดคอกควาย” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงบูรณสังขรณ์ และทรงสร้างสำเภาจีนซึ่งมีพระเจดีย์ 2 องค์ อยู่บนเรือ และพระราชทานนามว่า “วัดยานนาวา”
หากใครกำลังมองหากิจกรรมเสริมมงคลให้กับชีวิต และต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจในการไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อส่งเสริมแรงกาย และแรงใจให้กับตนเองในวาระขึ้นปีใหม่ ทั้ง 3 เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง “ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล 9 พระอารามหลวง” หรือ “ไหว้พระวัด 9 รัชกาล” และ “ไหว้พระ 9 วัดล่องแม่น้ำเจ้าพระยา” ก็เป็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว