xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “พระที่นั่งอนันตสมาคม” กับภาพประวัติศาสตร์ที่กลับมาอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระที่นั่งอนันตสมาคม โดดเด่นด้วยศิลปะแบบเรเนอซองส์ผสมนีโอคลาสสิค
5 ธันวาคม ปีนี้ เป็นอีกหนึ่งวันแห่งความปลื้มปีติของปวงชนชาวไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 5 ธันวาคม 2555

การเสด็จออกมหาสมาคม เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกที่ประชุมใหญ่เพื่อการสำคัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคม ทั้งเป็นพระราชพิธีประจำปีและพระราชพิธีในโอกาสพิเศษ

การเสด็จออกมหาสมาคม แต่ละครั้งมีขึ้นในสถานที่ต่างๆ อาทิ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณมหินทรพิมาน สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งองค์พิเศษ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และที่ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคมในปีนี้
ระเบียงตรงกลางคือที่ที่ในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม
สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2450 หลังจากที่มีพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยแล้ว ทรงเห็นว่าพระที่นั่งต่างๆ ที่สร้างไว้นั้นยังไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ จึงทรงมีพระราชดำริสร้างพระที่นั่งอนันตฯ ขึ้นอีกหลังหนึ่งเพื่อเป็นท้องพระโรงสำหรับต้อนรับแขกเมือง หรือประชุมราชการแผ่นดิน

ในการก่อสร้าง พระองค์ได้ทรงจ้างช่างจากอิตาลี คือ มิสเตอร์ เอ็ม.ตามานโย (M.Tamango) เป็นผู้ออกแบบ นาย ซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงสองปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงรับช่วงการก่อสร้างต่อจนสำเร็จลงในอีก 6 ปีต่อมา หรือใน พ.ศ.2458 รวมเวลาการสร้างทั้งหมดก็ 8 ปีพอดี
ประตูสู่ความงามในพระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารแบบโดมคลาสสิกของโรมัน เป็นศิลปะแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ผสมกับศิลปะแบบนีโอคลาสสิก ซึ่งรูปทรงของพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นแบบเดียวกับวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่งโรม และโบสถ์เซนต์ปอล กรุงลอนดอนอีกด้วย และหากมองลงมาจากบนอากาศ ก็จะเห็นผังของพระที่นั่งเป็นรูปไม้กางเขนแบบลาติน

ลักษณะเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคมก็อยู่ที่ช่วงบนของอาคารซึ่งเป็นรูปโดมซึ่งทำจากทองแดง มีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และโดมเล็กๆ อยู่รายรอบอีก 6 โดมด้วยกัน

นอกจากนั้น สิ่งที่ช่วยเพิ่มความสง่างามของโดมเหล่านี้ก็คือหินอ่อนสีขาว มีริ้วลายสีน้ำตาลแก่แกมหม่น สั่งเข้ามาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องหินอ่อนที่มีคุณภาพ ซึ่งนำมาทำเป็นตัวอาคาร และบางส่วนยังแกะสลักเป็นรูปพันธุ์พฤกษา และรูปคนเพื่อประดับอาคารอีกด้วย
ความงดงามภายในพระที่นั่ง (ภาพ : หนังสือของดีกรุงเทพ)
ส่วนภายในมีบันไดขึ้นสู่ชั้นบนเป็นบันไดหินอ่อนโค้งสวยงาม ชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นเป็นห้องโถงยาว เพดานสูง นอกจากนี้ ยังมีลวดลายอันงดงามตั้งแต่เพดานซึ่งทำเป็นรูปโค้งเชื่อมหัวเสาทั้งสองด้าน ส่วนตัวเสาก็สร้างด้วยหินอ่อนทั้งต้น มีลวดลายการแกะสลักอย่างงดงาม โดยเฉพาะเสาที่เรียกว่าเป็นแบบ “โครินเธียน” ที่หัวเสาสลักด้วยลวดลายใบไม้อันสวยงาม เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นอกจากนั้น เหนือพระทวาร หรือประตูทุกประตู ก็ยังมีตุ๊กตาแบบโรมันแกะสลักจากหินอ่อนมีพวงมาลัยหินอ่อนคล้องคอประดับไว้อย่างน่าชม

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมงดงามเป็นอย่างมากก็คือภาพเขียนแบบเฟรสโก (ภาพเขียนสีบนปูนเปียก) บนเพดานโดม โดยฝีมือของจิตรกรชาวอิตาเลียน คือนายซี. รีโกลี และศาสตราจารย์กาลิเลโอ กินี โดยรูปเหล่านั้นจะเป็นรูปที่แสดงถึงเหตุการณ์เด่นๆ ในแต่ละรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6

เริ่มตั้งแต่เพดานโดมทางทิศเหนือ เป็นภาพเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังเสด็จกลับจากทัพที่ไปเมืองเขมร และมีพสกนิกรไปกราบบังคมทูลอัญเชิญ ให้ทรงรับราชสมบัติปกครองแผ่นดินอันนับเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี
ทางเดินไปสู่สีหบัญชร ด้านบนมีภาพเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพ : www.vimanmek.com)
หันมามองอีกด้านของเพดานโดมด้านทิศตะวันออก หรือตรงบันไดทางขึ้นนั้น เป็นรูปเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำลังเสด็จในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และด้านหลังมีรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ และใต้โดมเดียวกันนั้น อีกด้านหนึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 3 กำลังเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคเช่นกัน แต่ด้านหลังเป็นภาพพระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพน และปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และป้อมเผด็จดัสกร ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณะขึ้น

ส่วนเพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพในสมัยรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ รายล้อมไปด้วยพระภิกษุและนักบวชในศาสนาอื่นๆ แสดงถึงความเป็นองค์เอกอัครศาสนูปภัมภกของทุกศาสนา โดยไม่มีการกีดกัน ส่วนเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพที่ฉันคุ้นตามากที่สุด ซึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานอภัยทาน และทรงยกเลิกประเพณีทาสในประเทศไทยโดยสิ้นเชิงอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

และเพดานโดมทางด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง แสดงภาพเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลา ที่มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อพุทธศักราช 2454

นอกจากนั้น ใต้โดมกลางซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด ก็มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และบนเพดานตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางก็จะมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” พระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระที่นั่งแห่งนี้จนแล้วเสร็จสมบูรณ์

และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจอันโดดเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคมในวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้ ซึ่งจะเต็มไปด้วยคลื่นมหาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีเหลืองมาเฝ้ารอรับเสด็จ นับเป็นอีกหนึ่งภาพแห่งความ ประทับใจของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ หลายคนๆถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความปลื้มปีติ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์
*****************************************

หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจากบทความ รำลึกภาพประทับใจที่ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ในคอลัมน์ลุยกรุง&รอบกรุง โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น