xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 5 ปัจจัยเสี่ยง อัมพฤกษ์ อัมพาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เป็นสาเหตุหลักในการคร่าชีวิตคนทั่วโลก โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกระดับทั้งจนและรวย ไม่เลือกหญิงหรือชาย โดยความเสี่ยงของเพศหญิงจะเพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน

• อัมพฤกษ์ อัมพาต คืออะไร

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอาการของแขน ขา หรือหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ชา อ่อนแรง หรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใด
เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดอาหารและออกซิเจน เนื้อสมองเสียหาย

ถ้าไม่รีบรักษาเนื้อสมองจะตาย เกิดความเสียหายถาวรในที่สุด และเนื่องจากสมองเป็นศูนย์รวมของการสั่งการ การทำงานจองอวัยวะภายในร่างกาย เมื่อเนื้อสมองส่วนใดเสียหายหรือตาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของอวัยวะภายใต้การควบคุมของสมองส่วนนั้น ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ อัมพฤกษ์ อัมพาต

• สาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต
และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ


การเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต มีสาเหตุสำคัญมาจาก 3 ประการ คือ
1. หลอดเลือดแดงสมองเสื่อม หรือหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังชั้นในหลอดเลือดแดง ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ แข็ง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงเสื่อม เกิดจากการมีสิ่งแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันสูง การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือจากโรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือดแดงที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

2. หลอดเลือดแดงสมองอุดตันจากลิ่มเลือด หรือชิ้นส่วนของไขมันที่หลุดลอยมา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะที่หัวใจห้องบนบีบตัวไม่เป็นจังหวะ (Atrial Fibrillation) โรคของลิ้นหัวใจ หรือภาวะหัวใจโต เป็นต้น

3. หลอดเลือดแดงสมองแตก เมื่อเลือดออกมาก ก้อนเลือดจะกดเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองขาดออกซิเจน ขาดอาหาร ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน เนื้อสมองจะตายในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิด คือภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้หรือไม่ดี

• อัมพาตเกิดได้จาก
หลายๆปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

1. การมีภาวะความดันโลหิตสูง
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพราะสามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอัมพาตได้ 3 เท่า เนื่องจากไปทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ จึงเกิดการแตกได้

ระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูงนั้น ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 140 ซิสโตลิก และ/หรือ 90 ไดแอสโตลิก บางครั้งจะพบว่า ความดันโลหิตตัวบนสูงเพียงตัวเดียวเท่านั้น ก็คือว่าเป็นความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับปกติทั้งตัวบนและตัวล่าง

ความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการให้เห็น คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ ทุกคนจึงควรรู้จักระดับความดันโลหิตของตนเอง และรักษาให้อยู่ในระดับที่ปกติอยู่เสมอ

2. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตได้ถึง 2 เท่า บุหรี่มีผลทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ และหลอดเลือด โดยลดปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือด เพิ่มความหนืดของเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี ไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสมอง ทำให้เกิดอัมพาตได้

3. การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพาตได้

ระดับน้ำตาลในเลือดปกติเมื่ออดอาหารจะมีค่าอยู่ในช่วง 100-120 มก./ดล. ระดับน้ำตาลหลังอาหาร อยู่ในช่วง 80-160 มก./ดล. เราควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. การมีไขมันในเลือดสูง ทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จะทำให้เกิดเป็นก้อนไขมันเกาะติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้ผนักหลอดเลือดหนาตัวแข็งขึ้นและหลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเป็นอัมพาตได้

5. นิสัยการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้อ้วน การรับประทานอาหารที่มีเกลือและไขมันสูง การรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้น้อยเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำจะไปทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตมากขึ้น

• 5 สัญญาณเตือนภัย อัมพฤกษ์ อัมพาต

การค้นพบอาการเริ่มแรกของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และรีบรักษาโดยเร็วมากขึ้นเท่าไร จะทำให้โอกาสเสียชีวิตหรือพิการลดลงมากขึ้นเท่านั้น

อาการสำคัญที่สุดที่ควรให้ความสำคัญ และควรสังเกตอย่างสม่ำเสมอ มีดังนี้

1. ชา หรืออ่อนแรงที่หน้า แขน หรือขา ซีกใดซีกหนึ่ง อย่างทันทีทันใด

2. ความรู้สึกตัวเปลี่ยน (เอะอะ โวยวาย สับสน ซึมลง) หรือพูดลำบาก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูด อย่างทันทีทันใด

3. มีปัญหาการมองเห็น ตามัว หรือเห็นภาพซ้อนของตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อย่างทันทีทันใด

4. มีอาการมึนงง เวียนศีรษะ เดินไม่ได้ เดินลำบาก เดินเซ หรือสูญเสียการทรงตัวในการยืนและเดิน อย่างทันทีทันใด

5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อย่างทันทีทันใด โดยไม่ทราบสาเหตุ

ถ้าพบอาการดังกล่าวข้างต้น ข้อใดข้อหนึ่งอย่างทันทีทันใด ให้สงสัยว่าอาจเป็นอาการเริ่มแรกของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาโดยเร็วภายใน 3 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการครั้งแรก

ถึงแม้อาการดังกล่าวจะหายไป ก็ยังมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นนับเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งเรียกว่า ภาวะ Transient ischemic attack (TIA) ภาวะนี้จะรุนแรงน้อยกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต มีอาการไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วหายเองโดยไม่ต้องรับการรักษา

แต่นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า ถ้าไม่รักษาจะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตในเวลาต่อมา และอาการเตือนนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดล่วงหน้าในผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตทุกคน

(ข้อมูลจากหนังสือคู่มือความรู้เรื่องอัมพาต สำหรับประชาชน โดยกรมควบคุมโรค)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น