xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้ม จนท.สาธารณสุขทั่วพิจิตรรับมือผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - แพทย์พิจิตรระดมบุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งจังหวัดติวเข้มแนวทางแก้ปัญหาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง-เบาหวาน หลังพบคนเมืองชาละวันป่วยกว่า 1 แสนคน เสี่ยงพิการ-อัมพาตในอนาคต

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตรแจ้งว่า โรงพยาบาลพิจิตรภายใต้การนำของ นพ.ประจวบ มงคลศิริ ผอ.รพ.พิจิตร ได้อนุมัติงบและจัดทำโครงการ “คัดกรองผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน” ขึ้น โดยได้จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรสาธารณสุข (รพ.สต. 85 แห่ง) และโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่งตามอำเภอต่างๆ ให้รู้ถึงวิธีการคัดกรองผู้ป่วยด้วยเพียงแค่ใช้เครื่องวัดความดันอันเดียวบวกกับความรู้ที่ได้รับ คำแนะนำที่ถูกต้องในการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการสังเกตจากอาการป่วยข้างเคียง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

ซึ่งหลังจากใช้เวลาอบรมรุ่นละ 2 วันเสร็จสิ้นแล้ว จำนวนผู้ที่เข้าอบรมกว่า 300 คนเหล่านี้ก็จะลงพื้นที่นำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อประชาชน และตรวจสุขภาพให้ชาวพิจิตรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนนับแสนคนให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมจนสามารถมีสุขภาพแข็งแรงเป็นบุคลากรที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ด้าน นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล หัวหน้าแผนกศัลยกรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดโรงพยาบาลพิจิตร เปิดเผยว่า จากสถิติผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานของจังหวัดพิจิตร เฉพาะปี 2554 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 75,501 ราย และผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 37,599 ราย รวม 113,100 ราย (ประชากรจังหวัดพิจิตรมีประมาณ 570,000 คน) จากการป่วยข้างต้นส่งผลถึงภาวะแทรกซ้อนให้เกิดโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน (ปลายเท้า-ปลายมือ) ซึ่งปัจจัยการป่วยเกิดจากการสูบบุหรี่ที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น
 
อีกทั้งพออายุ 40 ปีขึ้นไปก็จะเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งล้วนมีผลให้เกิดภาวะการตกตะกอนของแคลเซียมและไขมันลงสู่ชั้นในของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน เลือดไม่ไปเลี้ยงที่ปลายประสาทเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ยาวที่สุดของร่างกายจึงทำให้ป่วยเป็นอันพฤกษ์ อัมพาต ( แขน ขาอ่อนแรง หรือขยับตัวไม่ได้, พูดไม่ชัดลิ้นแข็งปากเบี้ยว) และถ้าเป็นเบาหวานด้วยแล้วเมื่อเกิดแผลก็จะรักษาหายได้ยากจนเป็นที่มาของการตัดขา บางรายอาการรุนแรงก็ส่งผลไปยังเส้นโลหิตที่ปลายประสาทเกิดอุดตันจนเป็นเหตุให้เกิดเส้นโลหิตฝอยแตกและกลายเป็นอันพฤกษ์ อัมพาต ส่งผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลและบำบัดรักษา ในด้านครอบครัวก็จะเกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องขาดแรงงานในการประกอบสัมมาชีพ อีกทั้งต้องเอาเวลาของคนในครอบครัวมาช่วยดูแลผู้ป่วย

ซึ่งปัญหาจากหลอดเลือดแดงแข็งตัวและหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบแท้ที่จริงแล้วสามารถป้องกันได้โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพียงแค่เพิ่มความรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น