xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ.ชี้แจงเตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ย้ำ รักษาทันทีโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ ไม่หนักใจดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ย้ำ มีสายด่วน 1669 และ 1330 ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

วันนี้ (29 มี.ค.)นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมชี้แจงเพื่อเตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ว่า วันที่ 1 เม.ย.นั้น มีความพร้อมในหลายด้าน ส่วนของหน้างานอย่างศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง จะต้องมีการชี้แจงให้เข้าใจอย่างละเอียด โดยเบื้องต้นอยากฝาก ว่า ในระยะแรกอาจต้องมีการทำความวามเข้าใจกับประชาชน โดยหากมีกรณีที่ไม่แน่ใจ ให้ประสานมาที่สายด่วน 1669 ได้ แต่ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ให้ยึดหลักการ คือ ให้รักษาไปก่อน โดยไม่ต้องถามสิทธิ์ เพราะคนที่มาผิด เช่น ผู้ป่วยไม่วิกฤตมาก ระบบค่าใช้จ่ายอาจไม่มากอยู่แล้ว

“อยากให้ทุกโรงพยาบาลจัดทำป้ายชี้แจงว่าผู้ป่วยวิกฤติ ผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอาการอะไรบ่งชี้ได้บ้าง และในวันนี้จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ตนไม่เป็นห่วง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่อาจมีข้อกังวลบ้างในเขตกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เนื่องจากมีโรงพยาบาลสังกัดในหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ได้ทำความเข้าใจและมีแนวทางการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันแล้ว” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวหวังว่า จะทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด และหากเรื่องผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านไปด้วยดี ก็คงจะมีการพัฒนาในเรื่องสุขภาพด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิ โรคไต ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีความก้าวหน้าและเท่าเทียมในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน

ส่วนข้อกังวลในเรื่องระบบการส่งต่อที่อาจมีปัญหาใน 3 กองทุนนั้น นพ.ไพจิตร กล่าวว่า เรื่องนี้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว อาทิ สายด่วน 1669 จะเป็นหน้างานด่านแรกที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ต่อมา คือ สายด่วน 1330 ที่จะดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ และ Clearing House ส่วนระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยรักษาจนพ้นระยะฉุกเฉินแล้ว กระทรวงสาธารณสุข จะรับหน้าที่ดูแลต่อไปรักษาตามสิทธิ์ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็เช่นกัน ไม่หนักใจ และคิดว่าคงไม่กระทบต่อค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน เพราะในเรื่องวิชาชีพทางการแพทย์ชีวิตผู้ป่วยถือว่าสำคัญที่สุด

ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินนสำหรับคำนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินจะยึดเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการที่อาจคุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ที่จำเป็นต้องดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ มิเช่นนั้น อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที อาทิ หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัดเฉียบพลัน ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการฉุกเฉินนอกเหนือจากนี้ หรือไม่แน่ใจ สามารถโทร.แจ้งที่สายด่วน 1669 เพื่อขอคำปรึกษาและรับการช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน บริการฟรีทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง

“นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นอย่างทันท่วงที รวมถึงทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่าย หรือมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ แต่ถือเอาความจำเป็นของอาการการเจ็บป่วยที่รุนแรงและจะเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นสำคัญ จึงถือว่าเป็นประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น